เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2566 นายศุภชัย เจียรวนนท์ในฐานะประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (DCT) องค์กรกลางตามกฎหมายที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อนำพาประเทศไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัล พร้อมด้วยที่ปรึกษาทรงคุณวุฒิ รองประธาน คณะกรรมการ สมาคมสมาชิก และองค์กรพันธมิตร ได้เสนอ 7 ข้อเสนอนโยบายกับรัฐบาลใหม่ที่จะรับช่วงต่อหลังจากการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคมนี้ เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ไทยแลนด์ 5.0

7 ข้อเสนอนโยบายทรานส์ฟอร์มประเทศไทยถึงรัฐบาลชุดใหม่

7 ข้อเสนอนโยบายทรานส์ฟอร์มประเทศไทยถึงรัฐบาลชุดใหม่
  1. ทำให้ภาษาคอมพิวเตอร์ และ Computer Science เป็นวิชาหลัก เรียนกันตั้งแต่ประถม
    • เด็กทุกคนต้องมีคอมพิวเตอร์ พร้อมซอฟต์แวร์คัดกรองเนื้อหาที่ดี และคุณธรรมการใช้เทคโนโลยี
    • โน้ตบุ๊กควรจะเชื่อมได้ทุกระบบ ทั้งเชื่อม Wi-Fi และ 5G ได้ เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลได้ทุกที่
    • คุณศุภชัยมองว่าต้องใช้ 7 ล้านเครื่องเพื่อหมุนเวียนยืมในระบบการศึกษา
    • คำนวนราคาต่อเครื่องที่ได้คุณสมบัติที่เหมาะสม น่าจะราว 200 เหรียญ หรือไม่เกิน 7,000 บาท
  2. สร้างสื่อและเนื้อหา ที่ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมที่ดี ในช่วง Prime Time
    • เพราะมองว่าคนไทยอีกจำนวนมากที่ยังดูเนื้อหาในช่วง Prime Time ของทีวี
    • ซึ่งถ้าเนื้อหาในช่วงนี้มีการสนับสนุนคุณธรรม ค่านิยมที่เหมาะสมกับยุคสมัย จะช่วยปรับทิศทางของสังคมไปในทางที่ดีได้
    • ซึ่งควรมี Incentive หรือเงินสนับสนุนการพัฒนาเนื้อหา (คำนวนแล้วลงทุนปีละ 1,200 ล้าน)
  3. สร้าง Tech Startup อย่างน้อย 20,000 บริษัท
    • เพื่อช่วย Digital Transformation ให้ประเทศไทยเป็นประเทศดิจิทัลเร็วขึ้น
    • และการมี Tech Startup 20,000 บริษัท ถ้าแต่ละบริษัทจ้างคนได้ 50 คนก็หมายถึงเรามีที่ทำงานสำหรับ Digital & Tech Workforce 1 ล้านคนแล้ว ซึ่งจะช่วยดึงคนเก่ง และพัฒนาประเทศได้
  4. ยกระดับการเกษตร Agro Industry Transformation / Smart Farming / Food Tech & Brand
    • ต่างประเทศทำสำเร็จแล้วผ่านการสร้างสหกรณ์ที่เข้มแข็ง รวมกลุ่มคนในชุมชนเพื่อสร้างองค์กรที่สมบูรณ์ มีฝ่ายวิจัยผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ฝ่ายขาย ฝ่ายการตลาด ฯลฯ เพื่อให้สร้างสรรค์ ผลิต จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภาคการเกษตรของตัวเองได้จบในตัว
    • สร้าง 3,000 – 5,000 องค์กร สหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชน 5.0
    • เพราะภาคการเกษตรของไทยสำคัญไม่แพ้ภาคการท่องเที่ยว แต่ที่ผ่านมายังติดหล่ม ไม่สามารถพัฒนาก้าวสู่เกษตร 2.0 ที่เป็นอุตสาหกรรมได้
  5. ดึงดูดคนเก่งและดี เข้าสู่ราชการระดับบริหารด้วยการปรับเงินเดือนเทียบเท่าหรือสูงกว่าเอกชน ปรับรัฐบาลเป็นรัฐบาลดิจิทัล (E-Government)
    • ซึ่งคำนวนแล้วต้องการข้าราชการชั้นบริหารที่เก่งและดีไม่เกิน 800 คนเพื่อขับเคลื่อนโครงการภาครัฐต่าง ๆ ให้ต่อเนื่อง
    • เพราะไม่ว่าภาคการเมืองจะเปลี่ยนบ่อยแค่ไหน แต่คนที่ต้องทำงานต่อเนื่องจริง ๆ คือข้าราชการ
    • แล้วก็ต้องการข้าราชการที่มีทักษะดิจิทัลอย่างน้อย 20% ของทั้งหมด
  6. สร้าง 5 Innovation Center ระดับโลกในไทย
    • ประกอบด้วย 1. Bio 2. Nano & Energy 3. Robotic & Digital 4. Space 5. Preventive Health Care / Health Tech
    • เพื่อเป็นแหล่งสร้างสรรค์นวัตกรรม โดยให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ เป็น
  7. สนับสนุนการต่อยอดผู้ประกอบการไทย
    • พัฒนาโครงสร้างการขับเคลื่อนผู้ประกอบการ

ถ้าต้องเลือกผลักดันนโยบายให้เกิด ผมจะดันคอมพิวเตอร์ 7 ล้านเครื่องให้เกิด และเรื่องสื่อน้ำดี

ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย

ไทยแลนด์ 5.0 คืออะไร

ประเทศไทยในฝันที่อยากให้เป็นคือไทยแลนด์ 5.0 แล้ว 5.0 คืออะไร คุณศุภชัยอธิบายผ่านวิวัฒนาการของอุตสาหกรรมที่แบ่งออกเป็น 5 ยุค

อุตสาหกรรม 5.0
  • 1.0 ยุคเกษตรกรรม ผู้คนต้องการเข้าถึงอาหาร
  • 2.0 ยุคอุตสาหกรรม ผู้คนต้องการเข้าถึงสินค้า
  • 3.0 ยุคตลาดทุน ผู้คนต้องการเข้าถึงเงินทุน
  • 4.0 ยุคปัจจุบัน ผู้คนต้องการเข้าถึงข้อมูล เพื่อเชื่อมโยงกัน
  • 5.0 ยุคอนาคต ผู้คนต้องการเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่
    • ซึ่ง AI หรือปัญญาประดิษฐ์เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ต้องมุ่งไป
    • คือ คน + เอไอ + เทคโนโลยีใหม่

ความท้าทายของโลกและของไทยในปี 2022 – 2030

แล้วทำไมประเทศไทยต้องปรับเข้าสู่ยุค Thailand 5.0 คุณศุภชัยสรุปภาพรวมความท้าทายของโลกในยุคต่อไปไปจนถึงปี 2030 ออกมาเป็น 6 ด้านคือ

  1. ทุนที่ลดความเหลื่อมล้ำ รวมถึง Food Security
    • โดยเทคโนโลยีเป็นได้ทั้งตัวที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำกว้างขึ้น หรือลดความเหลื่อมล้ำก็ได้
    • เช่น AI ทำให้คนที่ใช้ AI เป็น ก็ยิ่งก้าวกระโดดห่างจากคนอื่น ๆ หรือในมุมลดความเหลื่อมล้ำ AI ก็ทำให้คนทั่วไปสามารถเสริมทักษะจนเก่งแบบมือโปรได้เช่นกัน
    • AI ต้องเป็นผู้ช่วยของมนุษยชาติ
    • ส่วนประเด็น Food Security หมายถึงความมั่นคงทางอาหาร ที่ไทยเราได้เปรียบในเรื่องนี้ เพราะเป็นศูนย์กลางการผลิต แต่ก็ต้องต่อยอดออกไปขายในต่างประเทศมากขึ้น
    • เช่นสามารถสร้างผลิตภัณฑ์อาหารจากแต่ละตำบลออกไปขายได้ทั่วโลก ก็จะทำให้มั่นคงขึ้น
  2. เปลี่ยนองค์กรสู่ดิจิทัล Digital Transformation
  3. การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ที่แล้งก็จะแล้งสุด ท่วมก็ท่วมสุด
    • ปี 2022 อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 1.2 องศาจากปลายยุค 2.0
    • นักวิทยาศาสตร์เตือนว่าอย่าให้เกิน 1.5 องศา เพราะมันจะส่งผลกระทบเยอะ
  4. ความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี AI, IoT การสร้างนวัตกรรมอย่างก้าวกระโดด
  5. พฤติกรรมความเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค เปลี่ยนผ่านสู่ e-Commence, Metaverse
    • E-commerce เหมือนกระดานเปลี่ยนแรงโน้มถ่วงที่ไม่มีวันเปลี่ยนข้างกลับแล้ว
    • E-commerce นับวันยิ่งจะสูงขึ้น อย่างจีนคิดเป็น 26% ของระบบเศรษฐกิจแล้ว
    • ต่อไปจะเห็นระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนบนดิจิทัลมากกว่า 50%
    • แต่สุดท้ายจะไม่ถึง 100% เพราะเรายังต้องการจับจ่ายออฟไลน์
    • Telemedicine และ Streaming ก็เติบโตขึ้น ไม่มีลด
  6. สังคมสูงวัย ทำให้ต้องใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ที่ผ่านมายังมีปัจจัยอื่น ๆ อย่างโควิดที่ทำให้คนจนเพิ่มเป็น 909 ล้านคนในปี 2030 ซึ่งความอดอยาก ความเหลื่อมล้ำ จะทำให้เกิดสงครามขึ้น

ซึ่งประเด็นความเหลื่อมล้ำ ก็มีข้อมูลว่า GDP/Capita ไทยโตแค่ 4.9% คือปี 2022 ขนาดของเศรษฐกิจไทยหรือ GDP เป็นอันดับที่ 26 ของโลกมีมูลค่า 505,900 ล้านเหรียญ ถ้าหารออกมาเป็น GDP/Capita (GDP ต่อ 1 ประชากร) คิดเป็น 7,749 เหรียญ/คน/ปี ก็จะอยู่อันดับ 84 ของโลก อันดับ 4 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์, บรูไน, มาเลเซีย ซึ่งคือความเหลื่อมล้ำ เพราะจริง ๆ GDP ของไทยอยู่ในอันดับดี แต่รายได้ต่อประชากรน้อย

ส่วนในด้านการแข่งกันกับประเทศอื่น ๆ ในโลก สถาบัน IMD จากสวิตเซอร์แลนด์ จัดความสามารถในการแข่งขันของไทยอยู่อันดับที่ 33 แต่ด้านดิจิทัลอยู่อันดับ 40 จาก 63 ประเทศ ซึ่งลดลง 2 ตำแหน่ง เพราะมีคนที่มีทักษะดิจิทัลน้อยกว่าประเทศอื่น กฎระเบียบไม่รองรับ ภาครัฐและธุรกิจขนาดเล็กยังไม่พร้อมปรับตัว นอกจากนี้ทักษะด้านภาษาอังกฤษของไทยยังอยู่แค่อันดับที่ 97 จาก 113 ประเทศอีกด้วย

ไทยกำลังขาดคนที่มีทักษะด้านดิจิทัลและภาษาอังกฤษ

สู่การกำหนดยุทธศาสตร์ของ DCT 2023

เมื่อรู้ถึงถึงปัญหาและเทรนด์ของโลกที่กำลังจะมาถึงแล้ว จึงมีการกำหนดยุทธศาสตร์ของสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทยออกมาโดยแบ่งเป็น 5 แกนคือ

  1. โฟกัสเรื่องมาตรวัด ยุทธศาสตร์
  2. การจับมือระหว่างรัฐกับเอกชน
  3. การพัฒนา Digital Workforce
  4. Digital Economy
  5. การเป็นศูนย์กลางทางด้านเทคโนโลยี ต้องเสิร์ฟมากกว่าในประเทศ สามารถเสิร์ฟไปยังภูมิภาคได้

วิทยาการที่เกิดขึ้นจากความเมตตา ก็จะเป็นวิทยาการที่มีความสุข เช่น AI ที่เกิดจากความเมตตาก็จะเป็น AI ที่ดีด้วย แต่ถ้าเป็น AI ที่เกิดจากความเกลียดชัง ก็จะเป็น AI ที่ไม่ดี

ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย

และยังต้องใส่ใจเรื่องสังคม วัฒนธรรม คุณธรรมด้วย จึงออกมาเป็น 5 ข้อเสนอจาก DCT

ข้อเสนอที่ 1 ความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชนและประชาสังคม (PPP)

การขับเคลื่อนเชิงยุทธศาสตร์ที่ข้ามระหว่างภาครัฐกับเอกชน ต้องดึงคนเก่งเข้าสู่ราชการ ผลตอบแทนข้าราชการระดับสูงต้องไม่ต่ำกว่าเอกชน โดยการสร้างความโปร่งใส มีรายงานผลการดำเนินงานและงบประมาณ โดยมองว่าฝ่ายบริหารของราชการเป็นส่วนที่จะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ไม่เปลี่ยนบ่อยเหมือนฝ่ายการเมือง

ข้อเสนอที่ 2 สร้างคนที่มีทักษะดิจิทัล

DCT ตั้งเป้า 6% ของคนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไป จะต้องมีทักษะดิจิทัลระดับสูงในปี 2027 ซึ่งในปัจจุบันมีแค่ 7 แสนคนหรือ 1% โดยให้เทคโนโลยีเป็นวิชาพื้นฐาน เช่นเรียนโปรแกรมมิ่งตั้งแต่ ป.1 – ม.ปลาย

พร้อมสนับสนุนคอมพิวเตอร์ 7 ล้านเครื่องและซอฟต์แวร์สำหรับเยาวชน โดยไม่ลืมสอนเรื่องคุณธรรม และมีซอฟต์แวร์ที่คัดกรองของเสียสำหรับเด็ก ซึ่งคุณศุภชัยมองว่าคิดว่าการทำงานแบบ Long form หรือทำงานยาว ๆ ที่ต้องใช้สมาธิสูง ๆ จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ ไม่เหมาะกับการทำบนสมาร์ตโฟน

ให้เด็กเห็นว่าสิ่งที่เรียนมาตลอด สามารถเอาไปใช้ในชีวิตได้ยังไง เพื่อสร้างเด็กรุ่นใหม่ให้เป็นนักค้นคว้า เป็นนักสำรวจ เปลี่ยนจากเด็กที่ท่องจำ เป็นเด็กที่ค้นคว้าได้ด้วยตัวเอง สร้างคนให้เป็น Life-Long Learner หรือคนที่สามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ตลอดชีวิต เพื่อสร้าง Explorer/Extra Curriculum แล้วก็เสริมทักษะภาษาอังกฤษหรือจีนตั้งแต่เด็ก

การสร้างเด็กผ่านการบ้าน ส่งงานแล้วก็เรียนจบ เราไม่ได้สอนให้เด็กเป็นนักสำรวจ ที่เห็นว่าสิ่งที่เรียน เอาไปแก้ปัญหาในโลกจริงได้ยังไงบ้าง เรากำลังสร้างเด็กแบบ 2.0 อยู่ ซึ่งผมก็เป็นผลผลิตจากการศึกษา 2.0 ที่สอนโดยบอกว่าเด็กต้องทำอะไร ซึ่งมันไม่ใช่พื้นฐานสำหรับการเป็น Life-Long Learner

ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย

โดยให้โรงเรียนเป็นแหล่งสร้างประสบการณ์ , มหาวิทยาลัย = ศูนย์นวัตกรรม, เมือง = คลัสเตอร์แห่งเทคโนโลยี เพื่อให้เด็กที่เรียนมาแก้ไขปัญหาของโลกได้มีเมืองที่คอยสนับสนุน แล้วกรุงเทพจะเป็นคลัสเตอร์นวัตกรรมระดับโลกได้ไหม?

ข้อเสนอที่ 3 สร้างเศรษฐกิจดิจิทัล

คุณศุภชัยมองว่าเศรษฐกิจเกษตรกรรมนั้นสำคัญพอ ๆ กับการท่องเที่ยว แต่ไทยไม่สามารถสร้างอุตสาหกรรมเกษตรได้สำเร็จ ยังอยู่ในระดับ 1.5 ไปไม่ถึงเกษตร 2.0 ซึ่งในต่างประเทศทำได้ผ่านการก่อร่างความรู้ผ่านสหกรณ์ สร้างองค์กรที่สร้างความรู้อย่างยั่งยืน มีฝ่ายการตลาด การขาย การวิจัย

ข้อเสนอที่ 4 ศูนย์นวัตกรรมแห่งภูมิภาค

ตั้งเป้าสร้าง Start-Up 20,000 บริษัทในไทย เพื่อดึงคนดิจิทัลรวมถึง Digital Nomad (กลุ่มคนทำงานภาคดิจิทัลที่ทำงานจากที่ไหนก็ได้ในโลก ซึ่งในไทยก็มีชาวต่างชาติมาอาศัยอยู่และทำงานแบบ Digital Nomad ผ่านอินเทอร์เน็ตไปต่างประเทศมากมาย) สมมุติจ้างบริษัทละ 50 คน ก็เป็น 1 ล้านคนแล้ว

คนมากมายอยากมาทำงานที่ไทย เพราะมาทำงานและท่องเที่ยวได้ในตัว ไทยเรามีสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลายและแตกต่าง

ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย

ข้อเสนอที่ 5 การสร้างสังคมดิจิทัลควบคู่กับการส่งเสริมคุณธรรมและวัฒนธรรม

ส่งเสริมกลุ่มเปราะบาง 1 ล้านคนเข้าถึงบริการดิจิทัล และสร้างภูมิคุ้มกันด้านดิจิทัล (Digital Vaccine) ไปพร้อม ๆ กับการสร้าง Green Economy เพราะไทยเราสร้างคาร์บอนเยอะ (373 ล้านตันต่อปี) เมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจที่ก็ไม่ได้ใหญ่มาก

นอกจากนี้สร้างส่งเสริม Soft Power ก็เป็นเรื่องจำเป็น เราต้องมี Incentive (ทุนหรือรางวัล) กับสื่อและเนื้อหาที่มีคุณธรรมที่เหมาะสมยุคสมัย ซึ่งถ้าไม่มี Incentive หรือ Seed Fund เราจะเปลี่ยนพฤติกรรมตลาดไม่ได้

ช่วงถาม-ตอบสื่อมวลชน

ในช่วงถาม-ตอบสื่อมวลชน หนุ่ย พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ พิธีกรจากแบไต๋ได้ขึ้นเวทีร่วมการสนทนากับคุณศุภชัย และตอบคำถามจากสื่อมวลชน เริ่มจากคำถามว่า

“DCT มีความคาดหวัง และข้อเสนอแนะแก่พรรคการเมืองที่จะได้เข้ามารับตำแหน่งพัฒนาประเทศในด้านใดบ้าง อะไรคือสิ่งที่ต้องการมากที่สุด เพราะอะไร?”

คุณศุภชัยให้คำตอบว่า มันจะสามารถขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องมีหน่วยงานกลาง หรือ National Board คณะทำงานที่สามารถเชื่อมการทำงานข้ามกระทรวง และข้ามไปที่ประชาชนได้

อะไรก็ตามที่เกิดความเปลี่ยนแปลง จะมาจากผู้นำ ทำให้บทบาทของนายกคนต่อไปต้องเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ใช่ทำเองหมด ทำด้วยมุมมองจากผู้นำ กำหนดยุทธศาสตร์ และมี National Board เพื่อให้ขับเคลื่อนได้จริง ๆ

ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย

ถ้ามี National Board ที่ช่วยกลั่นกรองให้นายกและคณะรัฐมนตรี ก็ทำให้ตัดสินใจใช้งานได้เร็วขึ้น แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ต้องแก้กฎหมาย ก็ต้องใช้เวลาผ่านสภา

คำถามต่อมา “ความต้องการของตลาดแรงงานที่ต้องการทักษะสูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่หลักสูตรยังตามไม่ทัน แก้ยังไงดี?”

คุณศุภชัยตอบว่าเรื่องนี้ให้ข้อมูลไปแล้วในแผนของ DCT เรื่องการสร้างคนที่มีทักษะดิจิทัล และให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตอนนี้ทุน VC ในอเมริกามองไปถึงเด็ก High-School แล้ว เพราะมองว่าเด็กยังไม่มีกรอบเท่าเด็กมหาลัย ก็มีโอกาสที่จะมีไอเดียแหวกโลกได้มาก

ส่วนสำหรับคนที่เรียนจบมาแล้วการ Upskill, Reskill ให้เหมาะสมกับตลาดแรงงานก็ยังมีอยู่ แต่คิดว่าจะเปลี่ยนไปได้ไม่เกิน 2% เพราะผ่านการทำงานมาแล้ว มีกรอบแล้ว ซึ่งก็ต้องให้ Incentive ตลาดถึงจะเปลี่ยนไปได้

และยังให้ข้อมูลอีกว่า ทักษะด้านดิจิทัลนั้นสำคัญมาก เมื่อปี 2015 มีทุนจากต่างประเทศลงอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยราว 14% แต่ปี 2022 ทุนลงมาแค่ 2% เท่านั้น เพราะทักษะดิจิทัลของแรงงานไทยยังขาด

เรื่องที่พรรคการเมืองละเลยที่ผ่านมาคือ ทรัพยากรมนุษย์ นโยบายเรื่องนี้ไม่ชัด ทำให้การพัฒนามีปัญหา

ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย

คำถามต่อมาเป็นเรื่อง “การหลอกลวงทางไซเบอร์กำลังทำให้ประชาชนสิ้นเนื้อประดาตัว ในฐานะภาคการเมือง จะมีการป้องกันหรือปราบปรามเรื่องนี้อย่างไร การแก้ไข พ.ร.ก.ปราบอาชญากรรมไซเบอร์ (บัญชีม้า) ที่ผ่านมา มีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่ หรือต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมอย่างไร?”

เรื่องนี้คุณศุภชัยให้ความเห็นว่า มันเป็นงานที่หลายหน่วยงานต้องทำร่วมกัน ตำรวจ, กสทช., แบงก์ชาติ, กระทรวง DE และค่ายโทรศัพท์มือถือต้องทำงานร่วมกันได้ เช่น การจัดการการโทรจากต่างประเทศแล้วทำเสมือนว่าเป็นการโทรในประเทศ ก็ต้องมีแนวปฏิบัติร่วมกัน พร้อมเสนอแนะว่า การแฮกจะยากขึ้นถ้าใช้ blockchain เพื่อบันทึกข้อมูลเชื่อมโยงต่างๆ เช่น IMEI ของตัวเครื่องกับซิมโทรศัพท์ เพื่ออ้างอิงหาตัวเจ้าของ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส