ของเด็ดใหม่ภาคอีสาน ล่าสุดมหาวิทยาลัยขอนแก่นเปิดตัว AI ตัวใหม่ที่มีชื่อว่า ‘เว้าจา’ สามารถแปลงข้อความเป็นเสียงภาษาอีสานได้ มีจุดประสงค์เพื่อชูอัตลักษณ์ความเป็นอีสาน และอนุรักษ์ภาษาท้องถิ่น

อ.ดร.พงษ์ศธร จันทร์ยอย อาจารย์วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

AI ‘เว้าจา’ มีจุดเริ่มต้นมาจากชายหนุ่มสายเลือดอีสานแท้ที่มีชื่อว่า อ.ดร.พงษ์ศธร จันทร์ยอย อาจารย์วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่เป็นเจ้าของงานวิจัย AI ชิ้นนี้ โดยได้ศึกษา, สืบค้นข้อมูล และวิจัยการประมวลผลภาษาธรรมชาติ และเสียง (Natural Language and Speech Processing : NLSP) ทาง อ.ดร.พงษ์ศธรได้ทำการจัดเก็บฐานข้อมูลเสียงภาษาอีสานตอนกลางจากเจ้าของภาษาโดยตรง (Native Speaker) มากถึง 5,000 ประโยค และมีความยาวเสียงรวมกว่า 6 ชั่วโมง

ในช่วงแรกของการพัฒนา ‘เว้าจา’ มีการนำข้อมูลมาแทนเสียงด้วยแบบจำลองทางสถิติเพื่อวิเคราะห์ออกมาเป็นเสียงที่มีความเป็นธรรมชาติจนเกิดเป็น AI แปลงเสียงเวอร์ชันแรก หลังจากนั้นก็มีการพัฒนาเป็นเวอร์ชันที่สองผสานเทคโนโลยี Deep Learning ตัว AI ก็สามารถแปลงข้อความเป็นเสียงภาษาอีสานได้อย่างสมบูรณ์แบบมากกว่าเดิม

ตัวอย่างเสียง ‘เว้าจา’ ผู้หญิง
ตัวอย่างเสียง ‘เว้าจา’ ผู้ชาย
ผศ.ดร.พุธษดี ศิริแสงตระกูล  รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ผศ.ดร.พุธษดี ศิริแสงตระกูล  รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้บอกว่างานวิจัยนี้ไม่ได้พัฒนา ‘เว้าจา’ เป็น AI แปลงข้อความเป็นเสียงอย่างเดียว แต่จะมีการพัฒนาเป็นเครื่องมือสืบค้นสารสนเทศ, เรียนรู้จดจำเสียง, จดจำตัวอักษร และนำไปใช้ในศาสตร์เรื่องอื่น ๆ

สำหรับวิธีการใช้ AI ‘เว้าจา’ ง่าย ๆ เพียงแค่พิมพ์คำอ่านภาษาอีสานลงไป และ AI จะแปลงเป็นเสียงภาษาอีสานโดยอัตโนมัติ ซึ่ง ‘เว้าจา’ จะถูกนำไปใช้ที่จุดจอดตลอดเส้นทางของรถขอนแก่นซิตี้บัสที่จะเป็นเอกลักษณ์ของการขนส่งสาธารณะถูกใจทั้งนักท่องเที่ยว และผู้ใช้อย่างแน่นอน

อีกทั้งงานวิจัยดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บกพร่องทางการมองเห็นที่สามารถรับรู้ข้อมูลรูปแบบต่าง ๆ จากการฟังที่เป็นเสียงภาษาอีสานที่คุ้นเคย

สำหรับใครที่สนใจ AI ‘เว้าจา’ เพื่อนำไปใช้ในงานรูปแบบต่าง ๆ ก็สามารถติดต่อโดยตรงได้ที่ ฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในอนาคตจะมีการพัฒนาให้ ‘เว้าจา’ สามารถพิมพ์ข้อความภาษาไทยแปลงเสียงภาษาอีสาน หรือแปลงเสียงภาษาอีสานเป็นข้อความ และใช้กับภาษาท้องถิ่นภาคอื่น ๆ ได้

ที่มา : มหาวิทยาลัยขอนแก่น