หนทางของ E-Sports ให้ได้รับการยอมรับนั้นไม่เคยราบรื่น ล่าสุดตัวแทนจากมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ได้เข้ายื่นจดหมายคัดค้านการผลักดันเกมอิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นกีฬา ที่การกีฬาแห่งประเทศไทยกำลังพิจารณาอยู่

วันนี้ (10 มีนาคม 2560) ตัวแทนจากมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทยนำโดย ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช และกลุ่มเยาวชนจากเครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน เครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย เครือข่ายผู้ปกครอง และเครือข่ายครอบครัวกว่า 20 คน ยื่นจดหมายต่อนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อขอให้ชะลอการส่งเสริม e-Sports ให้เป็นกีฬาออกไปก่อน เพื่อเปิดรับความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างมาตรการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ

E-Sports กำลังถูกผลักดันให้เป็นกีฬาชนิดหนึ่ง โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาของการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) จากประสบการณ์การทำงานกับเด็กและเยาวชน ในโรงเรียนและองค์เครือข่ายภาคีมากกว่า 50 แห่ง พบว่าไทยยังมีปัญหาการใช้สื่ออิเล็กทรอนิคส์ค่อนข้างมาก ทั้งเรื่องการเสพติดเกม เสพติดอินเทอร์เน็ต การล่อลวง การเข้าถึงเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย และเป็นอันตราย เช่น สื่อลามกอนาจารและความรุนแรง ฯลฯ

แต่เด็กและเยาวชนยังขาดทักษะในการรู้เท่าทันสื่อและไม่เท่าทันโฆษณาทางธุรกิจ พ่อแม่ยังขาดความตระหนักและทักษะทักษะในการดูแลลูกยุคดิจิทัล โรงเรียนยังไม่มีหลักสูตรรู้เท่าทันสื่อที่จะช่วยส่งเสริมทักษะและความฉลาดในการใช้ชีวิตบนโลกดิจิทัลได้อย่างเหมาะสม ดังนั้นจึงเห็นว่ายังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมที่จะให้ E-Sports เป็นกีฬาเพราะอาจเป็นการซ้ำเติมปัญหาได้ ซึ่งภาครัฐควรทบทวนและเปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างมาตรการความร่วมมือในการจัดการดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ

ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช
กรรมการผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย

โดย ดร. ศรีดาเสนอให้ภาครัฐเร่งดำเนินการดังนี้

  1. เสริมความรู้ให้พ่อแม่ผู้ปกครอง มีทักษะในการดูแลลูกหลานยุคดิจิทัล ให้ครอบครัวมีส่วนร่วมไม่ให้เด็กติดเกม
  2. มีหน่วยงานดูแลให้คำแนะนำ ช่วยเหลือบำบัดอาการเด็กติดเกมทั่วประเทศ
  3. โรงเรียนต้องมีหลักฐานรู้เท่าทันสื่อ
  4. เพิ่มพื้นที่การแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ เป็นทางเลือกให้ห่างไกลจากปัญหาติดเกม ติดอินเทอร์เน็ต การล่อลวง
  5. กำหนดมาตรการกำกับดูแล E-Sport ให้สร้างสรรค์ เช่น ตั้งกฎการเลือกเกม การเลือกนักกีฬา การฝึกซ้อม สร้าง idol ที่เป็นต้นแบบการเล่นเกมไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการเรียน การดำเนินชีวิต

ด้านนายวัลลภ กล่าวว่าวันพุธที่ 15 มี.ค. นี้คณะกรรมาธิการฯจะมีการเชิญผู้เกี่ยวข้องมาหารือในเรื่องนี้ เพื่อหาแนวทางป้องกันปัญหาเด็กติดเกมให้มากขึ้น

ซึ่งเรื่องประเด็นเกี่ยวกับเด็กเล่นเกม และการติดเกม เว็บแบไต๋ได้เคยแสดงทัศนะไปในบทความ “ทำไมคุณและลูกถึงควรเล่นเกม (อย่างเข้าใจ)” ซึ่งเราก็ขอให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ผู้ปกครองที่สามารถรับมือปัญหาเด็กติดเกมได้ ก็คือผู้ปกครองที่เข้าใจเด็กและเข้าใจเกม เข้าไปมีส่วนร่วมกับกิจกรรมของเด็กๆ ได้ (พูดง่ายๆ คือพ่อแม่ที่เคยเล่นเกมมาก่อน จะจูนกับลูกง่ายกว่าคนที่ไม่เคยเล่นเกมมาเลย) แต่เด็กๆ และคนในวงการ E-Sport จะรู้สึกต่อต้านทันทีที่มีคนมาขีดเส้น ตีกรอบ สร้างกฎเกณฑ์ในเรื่องพวกเขาคิดว่าคนเหล่านี้ไม่เข้าใจดีพอ (อารมณ์ว่าเป็นเรื่องของเด็กๆ และคนรุ่นใหม่ แต่คนตัดสินใจมีแต่คนที่ไม่อยู่ในยุค และไม่เข้าใจเรื่องเหล่านี้) ซึ่งก็ต้องหาจุดกึ่งกลางมาคุยกันครับ

อ้างอิง: วัลลภ ครูหยุย ตังคณานุรักษ์