ลองคิดเล่นๆ ว่าคงจะดีไม่น้อย ถ้าเรามี “Power bank” หรือ “แบตเตอรี่สำรอง” สำหรับโลก เหมือนที่เรามีแบตสำรองไว้ใช้งานในช่วงที่แบตเตอรี่มือถือเราหมด
ความจริงใช่ว่าแนวคิดนี้ จะไม่มีใครนึกถึง หรือเป็นเรื่องที่ไกลเกินฝัน เพราะขณะนี้บริษัทพลังงานทั่วโลก ได้ริเริ่มคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานในรูปแบบแบตเตอรี่ หรือ Storage โดยเฉพาะการกักเก็บพลังงานไฟฟ้าสำหรับใช้ในอาคารและภาคครัวเรือน

เช่นเดียวกับ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. ที่ได้มุ่งมั่นพัฒนาด้านนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการร่วมทุนกับ บริษัท 24M Technologies ซึ่งเป็นสตาร์ทอัปด้านการวิจัยของสหรัฐอเมริกา พร้อมนำงานวิจัยเกี่ยวกับ “เซลล์แบตเตอรี่” มาพัฒนาต่อ เพื่อประกอบเป็น “อุปกรณ์กักเก็บพลังงาน” ทำให้เริ่มเห็นว่าเทคโนโลยีนี้ สามารถนำมาใช้ได้จริง

GPSC จึงได้ร่วมกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ในโครงการวิจัยและพัฒนาโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบ หรือ Pilot Plant ด้วยเทคโนโลยี Semi-Solid เพื่อพิสูจน์ความเป็นไปได้ของเทคโนโลยี ทั้งในด้านเทคนิค ต้นทุน รวมถึงความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์ในที่สุด

ชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ GPSC

ชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ GPSC

คุณชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ GPSC บอกถึงความมุ่งมั่นของ GPSC เรื่องการพัฒนานวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้าแบตเตอรี่ต้นแบบนี้ว่า มาจากความต้องการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งพลังงานหมุนเวียนที่ตอบโจทย์มากที่สุด คือ พลังงานแสงอาทิตย์ เพราะมีต้นทุนถูกกว่าพลังงานที่มาจาก fossil อีกทั้งยังเป็นพลังงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยที่สุด

แต่พลังงานแสงอาทิตย์ มีข้อจำกัดและความท้าทายอยู่หลายเรื่อง อย่างแรก คือ โลกเราไม่สามารถจะมีพลังงานแสงอาทิตย์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เช่นเดียวกันพลังงานไฟฟ้าในปัจจุบัน ยังเป็นพลังงานที่ “ไม่สามารถกักเก็บได้” อีกทั้งยังมีต้นทุนการใช้ที่ค่อนข้างสูงผ่านระบบสายส่งไฟฟ้า เพื่อนำส่งไฟฟ้าจากโรงงานไฟฟ้าไปสู่ครัวเรือน

สิ่งเหล่านี้ นับเป็นความท้าทายของ GPSC รวมถึงอุตสาหกรรมพลังงาน ที่จะต้องคิดค้น และพัฒนานวัตกรรมที่สามารถเข้ามาแก้ไข Pain Point ด้านพลังงานเหล่านี้ให้ได้ ซึ่ง GPSC เล็งเห็นแล้วว่า การพัฒนา Energy Storage เป็นคำตอบของเรื่องนี้

บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC

สำหรับโรงงานต้นแบบนั้น เป็นการวิจัยต่อยอดการผลิตแบตเตอรี่ด้วยเทคโนโลยี Semi-Solid ซึ่งเป็นนวัตกรรมกระบวนการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแบบใหม่ของ 24M Technologies ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าว จะช่วยลดขั้นตอนการผลิตลงได้กว่า 50% อีกทั้งยังได้รับการออกแบบเซลล์แบตเตอรี่ให้มีความปลอดภัยสูง ช่วยให้มีประสิทธิภาพที่จะแข่งขันได้ในธุรกิจแบตเตอรี่และเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงาน (ESS) ในระยะยาว

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GPSC บอกต่ออีกว่า โครงการนี้ นับเป็นโครงการที่จะช่วยสร้างฐานความรู้ และเพิ่มความเชี่ยวชาญเพื่อนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพบุคลากรของ GPSC และ PTT ด้านเทคโนโลยีแบตเตอรี่ เพราะการพัฒนาแบตเตอรี่ เป็นหนึ่งใน New S-Curves Business ของบริษัทฯ และเป็น 1 ใน 3 เป้าหมายสำคัญในการขยายธุรกิจของ GPSC

การมุ่งไปสู่ New S-Curves เป็นการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการพัฒนาธุรกิจ ต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมาก มีทั้งโอกาสและความเสี่ยงควบคู่กันไป แต่ว่าถ้าเราไม่ตัดสินใจพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็น New S-Curves ประเทศไทยและ GPSC ก็อาจจะตกรถไฟก็ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องเดินหน้าไปอย่างระมัดระวัง และเป็นขั้นตอน หาก Pilot plant ประสบความสำเร็จ เราเตรียมการพัฒนาธุรกิจต่อไปพร้อมกับพันธมิตรอย่างแน่นอน

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส