กรมทรัพย์สินทางปัญญา จับมือ บก.ปอศ. (กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ.) และ BSA (กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์) เพื่อรณรงค์ส่งเสริมคุ้มครองลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ เร่งลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ ย้ำผู้บริหารองค์กรมีหน้าที่ต้องกำกับดูแลการใช้งานซอฟต์แวร์ให้เป็นไปอย่างถูกต้อง หวังเห็นอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยลดลงเร็วสุด เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน

ซึ่งเป้าหมายสูงสุดในอีก 20 ปีข้างหน้าคือ อยากให้ประเทศไทยมุ่งเป้าไปในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีด้วยการใช้ปัญญา คิดค้นนวัตกรรมที่ใช้ประโยชน์ได้จริง และให้ความคุ้มครองกับทรัพย์สินทางปัญญา นำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพานิชย์ได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ทาง DIP ได้สร้างศูนย์ให้คำปรึกษาด้านลิขสิทธิ์ในชื่อ IPIDE Center เป็นหน่วยงานให้คำปรึกษาแนะนำด้านนวัตกรรมสิทธิบัตร โดยให้คำปรึกษาว่า ปัจจุบันสิทธิบัตรไหนมีใครทำมาแล้วบ้าง เพื่อให้เราสามารถคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ และจดทะเบียนสิทธิบัตรของตัวเองได้ พร้อมช่วยแก้ไขการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยมีการแบ่งคณะการทำงานออกเป็น 3 ส่วนคือ

  • คณะทำงานปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
  • คณะทำงานปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในสื่อสังคมออนไลน์
  • คณะทำงานทำลายของกลางคดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในกรณีที่คดีสิ้นสุดแล้ว

ซึ่งการละเมิดซอฟต์แวร์นั้นไม่เพียงแค่เกิดความเสียหายกับผู้ผลิตโดยตรงแล้ว แต่ยังมีโอกาสเกิดปัญหากับผู้ดาวน์โหลดของเถื่อนอีกด้วย โดยเฉพาะในเรื่องของ Malware หรือ Virus ที่เกิดจากไฟล์ที่โหลดมา จนอาจทำให้ข้อมูลส่วนตัวรั่วไหลออกไป ซึ่งหมายถึงอันตรายต่อทรัพย์สินของผู้โหลดโปรแกรมเถื่อนอีกด้วย

อันดับการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ของประเทศในสมาชิกอาเซียนประจำปี 2018

  • สิงคโปร์ 27%
  • มาเลเซีย 51%
  • บรูไนและฟิลิปปินส์ 64%
  • ประเทศไทย 66%
  • เวียดนาม 74%
  • อินโดนิเซีย 83%

ผลการดำเนินคดีละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในองค์กรธุรกิจ ปี 2562

พล.ต.ต.ไมตรี ฉิมเฉิด ผู้บังคับการ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก. ปอศ) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

พล.ต.ต.ไมตรี ฉิมเฉิด ผู้บังคับการ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก. ปอศ) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยว่า ในปี 2562 ได้ดำเนินคดีละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์กับองค์กรธุรกิจ จำนวน 469 คดี เพิ่มขึ้นจาก 395 คดี ในปี 2561 โดยมีมูลค่าการละเมิดฯ มากกว่า 464 ล้านบาท ลดลงจาก 661 ล้านบาท ในปี 2561

องค์กรธุรกิจที่ถูกดำเนินคดีละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิต นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจอื่นๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ออกแบบและตกแต่งภายใน เป็นต้น บางรายเป็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียง แต่มีการติดตั้งใช้งานซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ์บนคอมพิวเตอร์ถึง 100 เครื่อง องค์กรธุรกิจส่วนใหญ่ที่ถูกดำเนินคดีฯ มีสถานประกอบการตั้งอยู่ในจังหวัดที่เป็นแหล่งธุรกิจสำคัญ รวมถึงจังหวัดที่มีพื้นที่เขตนิคมอุตสาหกรรม เช่น กรุงเทพฯ ชลบุรี นนทบุรี ระยอง และสมุทรสาคร

ที่ผ่านมา บก.ปอศ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ประชาสัมพันธ์เรื่องการดำเนินคดีละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ผ่านช่องทางต่าง ๆ เชื่อว่าองค์กรธุรกิจต่างตระหนักดีอยู่แล้วว่าการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์นั้นเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมาย แต่กลับพบว่าองค์กรธุรกิจจำนวนมากยังละเลยที่จะปฏิบัติให้ถูกต้อง จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ผู้บริหารองค์กรต้องกำกับดูแลการใช้งานซอฟต์แวร์ให้เป็นไปอย่างถูกต้อง เพื่อลดความเสี่ยงในการทำผิดกฎหมาย ตลอดจนความเสี่ยงอื่น ๆ ที่สร้างความเสียหายให้กับองค์กรได้

โปรแกรมที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์สูงสุด

  • ซอฟต์แวร์ออกแบบเขียนแบบที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิต
  • ซอฟต์แวร์ออกแบบเขียนแบบด้านสถาปัตยกรรม
  • ซอฟต์แวร์ออกแบบเขียนแบบด้านวิศวกรรม
  • โปรแกรมสำนักงานต่าง ๆ

โดยข้อมูลเผยว่ากลุ่มธุรกิจที่ถูกดำเนินคดีในเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์สูงสุดกว่า 84% เป็นองค์กรธุรกิจที่คนไทยถือหุ้น 100% และที่เหลือจะเป็นธุรกิจที่ชาวต่างชาติร่วมถือหุ้นอยู่ด้วย และกว่า 30% เป็นองค์กรที่มีสินทรัพย์มากกว่า 100 ล้านบาท

แผนการดำเนินงานปี 2563

ในปี 2563 นี้ เจ้าหน้าที่ฯ จะเพิ่มการสื่อสารข้อมูลกับองค์กรธุรกิจในเรื่องความเสี่ยงจากการใช้งานซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิให้มากขึ้น ควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายกับองค์กรธุรกิจที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ เพื่อลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยให้ได้เร็วที่สุด

คุณนุสรา กาญจนกูล รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา

กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ค้าและนักลงทุน รวมถึงเพื่อสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจใหม่ที่มุ่งขับเคลื่อนสู่ประเทศไทย 4.0 ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นสำคัญ โดยการส่งเสริมการใช้และปกป้องคุ้มครองลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์อย่างเหมาะสมถือเป็นเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญที่จะช่วยผลักดันนโยบายดังกล่าว และพร้อมที่จะเดินหน้าผลักดันให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นต่อไปคุณนุสรา กาญจนกูล รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส