ช่วงนี้แอป “Clubhouse” แม้จะต้องใช้ Invite และยังรองรับเฉพาะบน iOS แต่ก็เป็นที่นิยม และเติบโตอย่างรวดเร็วจนติดเทรนด์ Twitter ของประเทศไทยเลยทีเดียว ทำให้นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ DES ออกมาเตือนว่า มีกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง และกลุ่มที่อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายอยู่บนแพลตฟอร์มนี้ ทั้งนี้ใช้ในการสื่อสารเรื่องดี ๆ ก็ถือว่าเป็นเรื่องดี

จึงเตือนว่า เจ้าหน้าที่รัฐได้ติดตามแพลตฟอร์มนี้ตั้งแต่แรก และสามารถดำเนินคดีผู้ใช้ที่กระทำผิดได้ตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ 2550 เช่นเดียวกับแพลตฟอร์มอื่น ๆ

แบไต๋วิเคราะห์

ตามหลักแล้ว Clubhouse นั้นเป็นการสื่อสารด้วยเสียงเท่านั้น คล้ายกับตั้งกลุ่ม Call ในแอปชื่อดังอย่าง Zoom, Discord, Google Meet, LINE, Microsoft Teams ฯลฯ โดยไม่เปิดกล้องแต่สามารถเปิดให้ใครก็ได้ที่มีบัญชี Clubhouse มาเข้าฟังได้ทันที และไม่สามารถฟังย้อนหลังได้ ในมุมนักเขียนเองก็มองได้ว่าคือเว็บบอร์ดแบบใช้เสียงคุยกันและไม่สามารถฟังย้อนหลังได้

เซนเซอร์ได้ไหม?

ทางเทคนิคแล้วหากจะมีการเซนเซอร์เนื้อหา ค่อนข้างยากกว่าแพลตฟอร์มอื่น ๆ โดยเฉพาะเว็บไซต์ทั่ว ๆ ไป เพราะระบบเก็บ Log ไม่สามารถดักฟังเสียงได้

Update: มีข้อมูลเพิ่มเติมว่า Clubhouse ไม่มีการเข้ารหัสเสียงที่รับส่งกัน ดังนั้นจึงจะสามารถที่จะ ดักฟังได้ [อ้างอิง] แต่ว่าอาจไม่ใช่ผ่านระบบเก็บ Log

และไม่สามารถแจ้งปิดหัวข้อบางหัว ขอไม่ให้เห็นในบางพื้นที่ได้ (แต่อนาคตเรื่องนี้อาจทำได้) แต่ถ้าจะบล็อกทั้งแพลตฟอร์ม สามารถทำได้ เพราะที่จีนทำไปแล้ว ตรงนี้ก็มีโอกาสเหมือนกันว่าสักวันนึง อาจจะถูกบล็อกทั้งแพลตฟอร์มในไทย เพราะก็มีแนวโน้มเอามาใช้ในทางการเมืองมากขึ้นเช่นกัน

ดังนั้นปัจจุบันนี้ หากรัฐบาลหรือหน่วยงานไหนจะเข้ามาสอดส่องจริง ๆ คงต้องใช้วิธีเห็นหัวข้อไหนที่มันดูสุ่มเสี่ยง ก็กดเข้าไปฟังกันตรง ๆ เลย และเจ้าหน้าที่ก็จะเห็นรายชื่อ Speaker และผู้ฟังทั้งหมด และทุกคนก็จะเห็นเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาฟังเช่นกัน ยกเว้นจะไม่ได้ใช้ชื่อจริงภาพจริงในการแสดงตัวตน

Clubhouse คล้ายจัดรายการวิทยุไหม?

Clubhouse ดูจากหลักการแล้วคล้ายรายการวิทยุในรูปแบบที่เปิดโอกาสให้ผู้ฟังทางบ้านโทรเข้ามาคุยกับทางรายการสด ๆ ได้ และมีแนวโน้มที่รายการวิทยุสดจะมาคู่ขนานรายการบน Clubhouse หรือจัดรายการเสริมบน Clubhouse ที่ตอนนี้บางรายการบางคลื่นเริ่มมาทำแล้ว

Clubhouse มันจะมาทดแทน Podcast ไหม?

เราวิเคราะห์ว่าไม่น่าจะได้ เพราะแม้เป็นการฟังเหมือนกัน แต่มันคนละรูปแบบกัน Podcast เป็นรายการที่อัดไว้ (แม้บางรายการมีให้ฟังสดระหว่างอัด) ก็ยังควบคุมเนื้อหาในอยู่ในประเด็นของหัวข้อได้ แต่ Clubhouse แม้จะมีหัวข้อ แต่ด้วยความที่เปิดโอกาสให้คนเข้ามาคุยได้เรื่อย ๆ อาจจะทำให้มีความออกทะเล หรือยืดเยื้อเกินเวลาที่คาดไว้ได้ และไม่ฅีความ “ตกผลึก” หรือคัดกรองความถูกต้องแบบกับที่ Podcast ทำ บางเรื่องอาจไม่ได้เนื้อหาที่แท้จริงได้ หากห้องนั้นไม่ได้มี Speaker ตัวเทพ ๆ ที่คุมประเด็นและความถูกต้องได้

คู่แข่ง Clubhouse ผุด

มีข่าวว่า ทั้ง Facebook และ Twitter ก็ซุ่มทำฟีเจอร์แบบเดียวกับ Clubhouse แต่ก็มีผู้เล่นหน้าใหม่มาเปิดให้บริการแล้วคือ DogeHouse โดยไม่ต้อง Invite และรองรับทั้ง PC, iOS, Android โดยเข้าผ่านหน้าเว็บได้เลยที่ https://dogehouse.tv/

ติดตามเรื่อง Clubhouse เพิ่มเติมได้ที่ “Future Is NEWS ประจำวัน พุธ ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564”

อ้างอิงเนื้อหาข่าวจาก: มติชนออนไลน์, Stanford Internet Observatory

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส