หลังจากมีข่าวออกมาว่าเคสมือถือที่มีของเหลวอยู่ด้านในพร้อมกลิตเตอร์ที่กำลังได้ความนิยมสามารถทำอันตรายกับผิวหนังจนผิวไหม้ได้เมื่อถูกของเหลวด้านใน ล่าสุดรศ. วีรชัย พุทธวงศ์ อ.ประจำสาขาเคมีอินทรีย์ ม.เกษตรศาสตร์ได้ออกมาระบุแล้วว่าสารตัวนี้คือ Decane (เด็คเคน)

สารเคมีที่อยู่ในเคสมือถือ ที่กำลังเป็นข่าว ทำให้ผิวหนังของผู้บริโภคไหม้ เป็นรอยแดงนั้น ตอนนี้ทราบแล้วนะครับว่าคือสารอะไร…

Posted by Weerachai Phutdhawong on Friday, March 4, 2016

การทดลองของอ.วีรชัย เริ่มต้นจากการนำเคสตัวอย่างมาเปิดออกเพื่อนำของเหลวมาทดสอบโดยนำน้ำกลั่นเข้าไปผสมเพื่อทดสอบว่าเป็นกรด/เบสหรือไม่ ซึ่งปรากฏว่าน้ำกับของเหลวในเคสแยกชั้นกันชัดเจน ไม่ทำละลายกัน จึงสรุปในขั้นแรกว่าไม่ใช่ไม่ใช่น้ำกรดหรือน้ำเบส

สมมุติฐานต่อมาคือสารตัวนี้น่าจะเป็นตัวทำละลายอินทรีย์ (Organic solvent) อ. จึงนำสารละลายอินทรีย์อีกตัวหนึ่งมาผสม ผลปรากฎว่าสารทั้งสองละลายเป็นเนื้อเดียวกัน ก็จึงสรุปว่าเป็นตัวทำละลายอินทรีย์ที่ไม่ละลายพลาสติกสักตัวหนึ่ง

อ. จึงนำสารตัวนี้ไปวิเคราะห์ด้วยเทคนิค Infrared Spectroscopy เพื่อดูหมู่ฟังก์ชั่นของโมเลกุลที่ได้ผลออกมาว่าเป็นสารละลายอินทรีย์ไฮโดรคาร์บอนสายยาว จึงพิสูจน์ต่อด้วยเทคนิค Nuclear Magnetic Resonance Spectroscopy และหาจุดเดือนของสารออกมาได้ที่ 174 องศาเซลเซียส

จึงสรุปว่าสารเคมีในเคสฟรุ้งฟริ้งคือ n-Decane สูตรโมเลกุล C10H22 ที่มีคุณสมบัติใส มีกลิ่นฉุน และไม่ทำปฏิกิริยากับสารอื่นง่ายๆ ปกติสารตัวนี้เป็นสารชะล้างในโรงงานอุตสาหกรรม เช่นทำความละอาดแผงวงจร รวมถึงเป็นตัวทำละลายในปิโตรเคมีด้วย แต่หากถูกผิวหนังจะทำให้เกิดการระคายเคือง กรณีสัมผัสให้ล้างออกด้วยน้ำสะอาดพร้อมฟอกสบู่มากมากๆ

สรุปแล้วใครใช้เคสแบบนี้อยู่ก็ระวังให้ดีนะครับ ถึงผู้ผลิตจะซีลเคสมาเป็นอย่างดี แต่ถ้าเกิดอุบัติเหตุจนเคสแตก สาร Decane ภายในรั่วไหลออกมาก็อาจเป็นอันตรายได้ ทางที่ดีก็ควรเปลี่ยนไปใช้เคสแบบอื่นจะสบายใจกว่าครับ

ชมข่าวนี้จาก PPTV

ที่มา: Weerachai Phutdhawong