เซลส์ฟอร์ซ (Salesforce) บริษัทให้บริการด้านระบบการจัดการลูกค้าสัมพันธ์ (Customer Relationship Management – CRM) ได้เผยผลสำรวจรายงาน Global Digital Skills Index ซึ่งชี้ให้เห็นวิกฤตทางด้านทักษะดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก จากการสำรวจพนักงาน ให้ประเมินตนเองกว่า 23,000 คน จาก 19 ประเทศ โดยมีคนไทยร่วมอยู่ 1,478 คน และไทยประเมินได้คะแนนสูงอันดับ 3 ของโลก

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ทางเซลส์ฟอร์ซได้เปิดเผยผลการสำรวจ Salesforce Digital Skills Index 2022 โดยการสำรวจนี้จัดทำขึ้นเพื่อสำรวจมุมมองและทัศนคติของคนทำงานถึงความพร้อมด้านทักษะดิจิทัลที่สำคัญสำหรับธุรกิจในปัจจุบัน และในอีก 5 ปีข้างหน้า ผู้ตอบแบบสอบถามมีช่วงอายุอยู่ที่ 18 – 65 ปี แบ่งตามแต่ละเจนเนอเรชัน ซึ่งได้สำรวจเสร็จสิ้นไปในช่วงปลายปีที่ผ่านมา จากผลสำรวจพบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจคนไทยมากกว่าครึ่งหรือ 51% รู้สึกว่ามีทักษะด้านดิจิทัลที่เพียงพอสำหรับการทำงานในปัจจุบัน ซึ่งสูงกว่าเปอร์เซ็นเฉลี่ยของผู้ตอบแบบสำรวจทั่วโลก (40%) และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 58% ในอนาคต ในขณะที่ระดับโลกมีแนวโน้มจะลดลงเป็น 34%

อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ตอบแบบสำรวจคนไทยเกินครึ่งรู้สึกว่าตนมีความพร้อมในเชิงทักษะดิจิทัลในที่ทำงาน แต่มีเพียง 42% เท่านั้นที่สามารถเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ทักษะดิจิทัลได้ ซึ่งนอกจากนี้ผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทยจำนวน 43% ได้กำลังวางแผนที่จะเรียนรู้และฝึกอบรมทักษะด้านดิจิทัลอย่างจริงจังในอนาคตข้างหน้าอีกด้วย

ทั้งหมดนี้สามารถคิดคะแนนรวมที่ 48 คะแนนจาก 100 คะแนน ซึ่งสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก รองลงมาจากอินเดีย และบราซิล ซึ่งมีคะแนนอยู่ที่ 63 คะแนน และ 53 คะแนนตามลำดับ ในขณะที่คะแนนเฉลี่ยของทั้งโลกนั้นอยู่ที่ 33 คะแนนเท่านั้น

นายกิตติพงษ์​ อัศวพิชยนต์ รองประธานประจำภูมิภาคและกรรมการผู้จัดการ เซลส์ฟอร์ซ ประเทศไทย กล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะมีคะแนนที่สูงค่อนข้างมากถึง 48 คะแนน แต่จากการพูดคุยกับทางผู้บริหารต่างประเทศแล้วมีความเห็นว่าคะแนนของไทยก็เรียกว่ายังห่างจากคะแนนเต็มอยู่อีกมาก ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่องค์กรธุรกิจ ภาครัฐ และหน่วยงานต่าง ๆ ต้องร่วมมือกันให้เกิดการส่งเสริมทักษะทางดิจิทัลที่จำเป็นให้แก่พนักงานและคนในวัยทำงาน ตลอดจนผู้ที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงานทั่วประเทศอย่างจริงจัง ธุรกิจต้องส่งเสริมพนักงานของตนในการเรียนรู้และใช้ประโยชน์จากทักษะดิจิทัลที่จำเป็น ให้สามารถรับมือกับความต้องการด้านดิจิทัลและเตรียมความพร้อมสำหรับรูปแบบการทำงานในอนาคตที่ทุกกระบวนการต้องนำเอาทักษะทางดิจิทัลเข้ามาใช้เสมอ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ และการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า

นายกิตติพงษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ทักษะด้านดิจิทัลสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน อาทิ โซเชียลมีเดีย หรือการท่องเว็บนั้น นำมาใช้กับการทำงานไม่ได้เสมอไป อาจไม่สามารถนำมาใช้แทนทักษะดิจิทัลสำหรับทำงานได้ เพราะการขับเคลื่อนการฟื้นตัวทางธุรกิจและส่งเสริมการเติบโตอาศัยทักษะดิจิทัลที่เจาะจงมากกว่านั้น

ในขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ในภูมิภาคอเมริกาเหนือ (83%), ภูมิภาคยุโรป (82%) และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (70%) มีทักษะด้านโซเชียลมีเดียในระดับ ‘สูง’ หรือ ‘ปานกลาง’ แต่ก็มีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น (31%, 24% และ 34% ตามลำดับ) ที่รู้สึกมีความพร้อมสำหรับทักษะดิจิทัลเพื่อการทำงานที่สำคัญและจำเป็นในอนาคต 5 ปีข้างหน้า

ซึ่งสำหรับประเทศไทยเอง ไม่ว่าจะคนที่มาจากเจนเนอเรชันใดก็ตาม ต่างมีทักษะด้านดิจิทัลสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน มากกว่าทักษะดิจิทัลสำหรับการทำงาน รวมถึงคนรุ่นใหม่ หรือคนเจน Z ด้วย จากภาพประกอบด้านล่างจะเห็นได้เลยว่า คะแนนทักษะดิจิทัลสำหรับการใช้ในชีวิตประจำวัน และคะแนนทักษะดิจิทัลสำหรับทำงานของคนไทยนั้นมีความต่างของความชำนาญอยู่ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีความชำนาญที่ยังไม่มากนัก (คลิกที่ภาพเพื่อดูภาพเต็มได้)

โดยนายกิตติพงษ์ได้พูดถึงเรื่องทักษะที่สำคัญที่สุดสำหรับคนไทยในอนาคต จากรายงาน Salesforce Index 63% ของผู้ตอบแบบสำรวจทั่วโลก มองว่าทักษะด้านเทคโนโลยีในการทำงานร่วมกันอย่าง Slack เป็นทักษะที่สำคัญที่สุดที่ธุรกิจกำลังต้องการในปัจจุบันและในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยขณะเดียวกันผู้ตอบแบบสำรวจคนไทยมองว่า การเข้ารหัสและความปลอดภัยทางไซเบอร์ จัดเป็นทักษะดิจิทัลสำหรับการทำงานที่สำคัญที่สุดในอนาคตข้างหน้า ตามมาด้วยทักษะด้านอีคอมเมิร์ซและการค้าทางดิจิทัล, การบริหารด้านดิจิทัล, การตลาดรูปแบบดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง และเทคโนโลยีการทำงานร่วมกัน

ซึ่งทางเซลส์ฟอร์ซ ได้มีความพยายามที่จะผลักดันการพัฒนาความสามารถของบุคลากรทั่วโลก ผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้แบบไม่เสียค่าใช้จ่ายอย่าง Trailhead โดยในปัจจุบันมีผู้ใช้งานแพลตฟอร์มดังกล่าวกว่า 3.9 ล้านคน เพื่อเรียนรู้ทักษะดิจิทัลสำหรับการทำงานในอนาคต และยังมี Trailblazer Community ซึ่งเป็นพื้นที่ให้ผู้ใช้งานสามารถเรียนรู้ร่วมกับเพื่อนร่วมงานและผู้เชี่ยวชาญมากมายทั่วโลก  นอกจากนี้สำหรับประเทศไทย เซลส์ฟอร์ซได้ร่วมงานกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ในโปรแกรม ‘Salesforce depa Career Kickstarter‘ ในประเทศไทยโดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนและเสริมสร้างทักษะทางดิจิทัลเพื่อรองรับการทำงานในอนาคตให้แก่นักศึกษาไทย

นายกิตติพงษ์ได้พูดทิ้งท้ายเกี่ยวกับการเผยผลสำรวจนี้ไว้ว่าทางเซลส์ฟอร์ซพร้อมที่จะเปิดรับคำแนะนำ และอยากให้มีความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน หรือกระทั่งประชาชนเองด้วย เพื่อให้ทักษะดิจิทัลในการทำงานของเราสูงขึ้นได้ และเห็นผลจริง ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ตัวเลขคะแนนจากผลสำรวจเท่านั้น

อ้างอิงและข้อมูลเพิ่มเติม
Saleforce

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส