งานวันแรกของ WWDC 2022 ผ่านไป ก็เป็นไปตามที่หลายคนคาดหวังคือการมาของชิป Apple M2 รุ่นใหม่ ชิป Apple Silicon รุ่นที่ 2 หลังจาก M1 มีรุ่นแยกออกมามากมายถึง 3 รุ่น แต่ที่น่าตื่นเต้นไปมากกว่านั้นก็คงจะหนีไม่พ้นการมาของ MacBook Air ใหม่ ที่มีดีไซน์คล้ายคลึงกับ MacBook Pro 14 นิ้วที่ออกมาเมื่อปีก่อนมาก

Apple M2 นั้นยังคงใช้สถาปัตยกรรมขนาด 5nm ซึ่งก็แน่นอนว่าสูตรการผลิตระดับ 3nm ของ TSMC ยังไม่พร้อมใช้งานในปีนี้ แต่ชิป Apple M2 ก็ไม่เชิงเป็นสถาปัตยกรรมเก่าเลยทีเดียวแต่เป็นการปรับปรุงโหนดใหม่ เลยถูกเรียกเป็นสถาปัตยกรรม 5nm รุ่นที่ 2

แต่ที่ทางสื่อต่างประเทศอย่าง tomshardware.com ตั้งข้อสังเกตนั้นก็คือ เอาจริง ๆ แล้ว Apple ก็ไม่ได้ทำอะไรมากกับชิป M2 เลย ถึงคราวนี้จะมีจำนวนทรานซิสเตอร์เพิ่มขึ้นเป็น 20,000 ล้านตัว ก็เป็นเพียงเพราะว่าชิป M2 Apple นั้นออกแบบชิป M2 ให้มีขนาดใหญ่กว่าเดิมเพื่อที่จะยัดทรานซิสเตอร์เพิ่มจาก 16,000 ล้านตัวใน M1 เพียงเท่านั้น

และด้วยจำนวนทรานซิสเตอร์ที่เยอะมากขึ้น จึงทำให้ประสิทธิภาพ CPU มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเป็น 18% จากเดิม และประสิทธิภาพ GPU หรือด้านกราฟิกก็เพิ่มขึ้นจากเดิม 35% แต่อย่าลืมว่าในขณะเดียวกัน Apple พูดจำนวนตัวเลขสองตัวนี้โดยที่ไม่ได้คำนึงถึง Apple M1 Pro, M1 Max และ M1 Ultra นะ โดยแน่นอนว่าชิป M1 รุ่นอัปเกรดเหล่านั้นยังมีประสิทธิภาพ GPU ที่เหนือกว่า

โดยทาง Tom’s hardware ก็บอกว่า GPU ของ Apple M2 นั้นก็แรงขึ้นจริงในแง่ของการเป็นกราฟิกแบบ Integrated (หรือการ์ดจอออนบอร์ด) แต่ถ้าหากเทียบกับกราฟิกการ์ดจริง ๆ แล้วอาจจะไม่ได้น่าตื่นเต้นอะไรเลย และ Tom’s hardware ยกตัวอย่างการหยิบเอาตัวเลขประสิทธิภาพมาเทียบ ซึ่งในเมื่อ ณ ตอนนี้เราไม่มีเครื่องที่ใช้ Apple M2 มาทดสอบจริง ๆ การวัดผลด้วย raw performance ก็เป็นสิ่งเดียวที่พอจะทำได้ในตอนนี้

เรามาลองพูดถึงการ์ดจอรุ่นเริ่มต้นของ NVIDIA อย่าง GeForce RTX 3050 นั้นมีประสิทธิภาพแบบ single precision 9.0 Teraflops และขณะเดียวกันการ์ดจอรุ่นระดับต้นถึงกลางอย่าง RX6600 ก็มีประสิทธิภาพ 8.9 Teraflops

และถ้าหากเทียบกันด้วยสเปกกระดาษ การ์ดจอทั้งสองตัวบนที่กล่าวมานั้นมีประสิทธิภาพเท่า ๆ กันเลย แม้แต่ memory bandwidth ก็เร็วเท่ากันที่ 224GB/s และเป็นหน่วยความจำแบบ 128-bit เหมือนกัน แต่พอเอาเข้าจริงแล้ว RX6600 นั้นเร็วกว่าในการเล่นเกมความละเอียด 1080p ถึง 30% และเร็วกว่า 22% ในความละเอียด 1440p

ซึ่ง Apple นั้นมีพื้นฐานสถาปัตยกรรมค่อนข้างคล้ายคลึงกับ AMD เป็นอย่างมาก โดยหากมองกลับมาที่ Apple M1 ที่มีประสิทธิภาพความเร็ว 2.6 teraflops และมี bandwidth 68 GB/s และนำไปเทียบกับการ์ดจออย่าง RX 5500 XT ที่มีประสิทธิภาพ teraflops มากกว่าถึงเท่าตัว และ bandwidth เยอะกว่าเกือบ 3 เท่า แต่เมื่อนำมาวัดผล benchmark แล้ว Apple M1 เร็วกว่าประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้น

และ Apple M2 ก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในด้านสถาปัตยกรรมมากมากนัก ซึ่งสุดท้ายแล้วประสิทธิภาพที่ออกมาก็คงจะไม่ต่างจาก RDNA2 ของ Radeon RX 6000 series มากนัก

ที่มา Tom’s Hardware

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส