15 กรกฎาคม เจสสิกา โรเซนวอร์เซล (Jessica Rosenworcel) ประธาน กสทช. สหรัฐฯ (FCC) ได้ร่อนจดหมายถึง มาเรีย แคนท์เวลล์ (Maria Cantwell) ส.ว. ผู้เป็นหัวหน้าคณะกรรมการการค้า วิทยาศาสตร์และการขนส่ง ซึ่งมีเนื้อหาว่าทางหน่วยงานต้องการงบประมาณสำหรับถอดอุปกรณ์ของจีนคือ Huawei และ ZTE ออกจากเครือข่ายการสื่อสารในสหรัฐฯ เพิ่มอีก 3,000 ล้านเหรียญ (109,836 ล้านบาท) จึงรวมงบประมาณทั้งหมดเป็น 4,900 ล้านเหรียญ (179,398 ล้านบาท)

ก่อนหน้านี้รัฐสภาสหรัฐฯ ได้ผ่านงบประมาณสำหรับใช้ในการถอดอุปกรณ์ของ Huawei และ ZTE ไว้ที่ 1,900 ล้านเหรียญ (69,562 ล้านบาท) ซึ่งคิดเป็น 40% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ 4,900 ล้านเหรียญ จึงไม่เพียงพอสำหรับการคืนเงินให้แก่บริษัทเครือข่ายโทรคมนาคมที่ทำการถอดอุปกรณ์

ปี 2019 รัฐสภาสหรัฐฯ ได้ผ่านร่างกฎหมายเครือข่ายการสื่อสารที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้ปี 2019 และถูกเซ็นอนุมัติออกเป็นกฎหมายเมื่อมีนาคม 2020 โดยประธานาธิบดีทรัมป์ เพื่อให้บริษัทเครือข่ายโทรคมนาคมของสหรัฐฯ ถอดอุปกรณ์ที่มีช่องโหว่ออกและแทนที่ด้วยทางเลือกที่ปลอดภัย (มาตรการ Rip and Replace) ซึ่งจะมีผลต่ออุปกรณ์ที่อยู่ในบัญชีดำ และบริษัทเครือข่ายจะได้รับเงินชดเชยที่จัดสรรมาจากรัฐบาลกลาง

พฤศจิกายน 2019 กสทช. สหรัฐฯ ได้ลงมติกำหนดให้ Huawei และ ZTE ของจีนอยู่ในรายชื่ออุปกรณ์ที่มีความเสี่ยงด้านความมั่นคงของชาติโดยห้ามผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมในชนบทของสหรัฐฯ ใช้เงินในกองทุน Universal Service Fund มูลค่า 8,500 ล้านเหรียญ (279,191 ล้านบาท) เพื่อซื้ออุปกรณ์หรือบริการของบริษัทที่อยู่ในบัญชีรายชื่อดังกล่าว สรุปง่าย ๆ ว่า Huawei และ ZTE ได้ถูกขึ้นชื่ออยู่ในบัญชีดำ ซึ่งนอกจากไม่ได้รับการสนับสนุนให้ถูกซื้อเพิ่มแล้วยังถูกสั่งถอดออกจากเครือข่ายอีกด้วย

ก่อนหน้านี้ กสทช. สหรัฐฯ ได้จัดตั้งงบประมาณสำหรับการถอดและเปลี่ยนอุปกรณ์ดังกล่าวไว้ที่ 1,800 ล้านเหรียญ (59,256 ล้านบาท) ต่อมาได้ปรับเพิ่มเป็น 1,900 ล้านเหรียญ (62,567 ล้านบาท) และเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ได้ยื่นของบประมาณเพิ่มจากเดิมเป็น 5,600 ล้านเหรียญ (ราวๆ 185,000 ล้านบาท) สรุปง่าย ๆ ว่าผ่านมา 5 เดือน ยังไม่ได้รับคำตอบใด ๆ และดูเหมือนว่างบใหม่ที่ขอล่าสุดจะลดลงมาเล็กน้อย

ทั้งนี้ในจดหมายยังระบุว่าหากไม่มีการจัดสรรงบเพิ่มเติม กสทช. สหรัฐฯ จะเดินหน้าตามแผนการจัดลำดับความสำคัญที่รัฐสภากำหนดไว้ ซึ่งในอีกไม่กี่วันข้างหน้าก็จะเริ่มมีการจ่ายเงินชดเชยให้แก่บริษัทเครือข่ายแล้ว สรุปง่าย ๆ ว่าบริษัทฯ ไม่จำเป็นต้องถอดเปลี่ยนอุปกรณ์ให้เสร็จทั้งหมดจนกว่าจะได้รับเงินชดเชย (เงินไม่มางานก็ไม่จบ)

ที่มา : reuters

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส