เอกสารภายในที่ปล่อยออกมาเมื่อวันอังคารเผยรายละเอียดเกี่ยวกับ 3 บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ได้แก่ Amazon, Google และ Meta (Facebook) ที่อาจทำให้บริษัทของตนเองได้เปรียบเพื่อเอาชนะคู่แข่งทางการค้า ซึ่งเอกสารดังกล่าวถูกปล่อยออกมาเนื่องจากฝ่ายกฎหมายต้องการผลักดันให้มีการอนุมัติกฎหมายต่อต้านการผูกขาดที่เข้มงวดมากขึ้นภายในสิ้นปีนี้

เอกสารดังกล่าวมาจากคณะกรรมการตุลาการสภาผู้แทนราษฎร (House Judiciary Committee) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสืบสวนพฤติกรรมที่กีดกั้นการแข่งขันจาก Amazon, Apple, Google และ Meta บริษัทแม่ของ Facebook ซึ่งการสืบสวนได้รับบทสรุปตั้งแต่ปี 2020

ทั้งนี้ล่าสุดได้มีการเผยแพร่อีเมล, เมโม, รายงาน ที่เป็นหลักฐานที่จะสนับสนุนให้คณะกรรมการสามารถอนุมัติกฎหมายต่อต้านการผูกขาดที่มีความเข้มงวดมากขึ้นในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี

รายละเอียดของเอกสารเปิดเผยวิธีการที่ Amazon, Google และ Meta (Facebook) กดดันคู่แข่งที่เป็นอิสระและผู้ผลิตสมาร์ตโฟนเพื่อทำให้สินค้าและแพลตฟอร์มของตนเองได้เปรียบมากกว่าคู่แข่ง จากอีเมลที่ส่งในเดือนมกราคม 2014 หนึ่งในผู้บริหารของ Google ได้แสดงข้อกังวลเกี่ยวกับบริการใหม่จาก Samsung ที่อาจเข้ามาแข่งขันกับประสบการณ์การค้นหาหลักของ Google อีกทั้งอีเมลที่เชื่อมโยงย้อนไปถึงปี 2009 ก็เผยว่า ผู้บริหารของ Amazon นั้นมีการถกเถียงว่าควรจะจำกัดความสามารถของบริษัทคู่แข่งในการโฆษณาภายในเว็บไซต์ของ Amazon หรือไม่ ซึ่งในภายหลัง Amazon ก็ได้เข้าซื้อบริษัทคู่แข่งอย่าง Diapers.com เป็นการช่วยให้ Amazon สามารถครอบครองส่วนแบ่งการตลาดได้มั่นคงมากขึ้น

ไม่เพียงเท่านั้นยังมีเมโมที่พูดถึงจุดเปลี่ยนเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ผู้ใช้จะเริ่มใช้แอปอื่น ๆ ของ Meta เช่น Instagram และ WhatsApp มากกว่าแพลตฟอร์มหลักอย่าง Facebook ทั้งยังมีเมโมจากปี 2018 ส่งไปถึง มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) อธิบายวิธีการที่บริษัทจะสามารถชะลอการเติบโตของ Instagram และ WhatsApp เพื่อที่จะไม่แซงหน้า Facebook

ทั้งนี้สาเหตุที่ทางฝ่ายนิติบัญญัติต้องการลดการผูกขาดและทำให้มีการแข่งขันมากขึ้นเป็นเพราะ การผูกขาดที่รุนแรงอาจเป็นอันตรายที่ทำให้สหรัฐฯ เสียเปรียบทั่วโลก และส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวอเมริกันที่แย่ลง นอกจากสิ่งที่เกิดขึ้นจะกระทบต่อตลาดดิจิทัล แล้วยังอาจลามไปสู่ธุรกิจรายย่อยทั้งหมดในทุกอุตสาหกรรม ในทุกรัฐของอเมริกา

ที่มา: TheVerge

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส