สำนักข่าว BBC ติดตามและวิเคราะห์ภาพและวีดิโอการประท้วงในอิหร่านที่ชาวอิหร่านแชร์อยู่บนโซเชียลมีเดียกว่า 1,000 รายการ เพื่อประเมินว่าการประท้วงขยายวงกว้างมากน้อยแค่ไหน และสืบหาข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

การวิเคราะห์นี้นำโดย BBC ภาษาเปอร์เซีย และ BBC Monitoring

BBC ยังได้สัมภาษณ์กับคนที่อยู่ในพื้นที่ เพื่อตามหาว่าภาพเหตุการณ์ที่ได้มานั้นจริงหรือไม่และเกิดขึ้นที่ไหนของประเทศ โดยพิจารณาจากสิ่งปลูกสร้างสำคัญ ๆ ที่ปรากฎในภาพ แล้วนำมาเทียบกับภาพถ่ายจากดาวเทียม รวมถึงข้อมูลที่ Armed Conflict Location and Event Data Project (ACLED) รายงาน

จากการวิเคราะห์พบว่า นับตั้งแต่วันที่ 16 กันยายนจนถึงปัจจุบัน มีการประท้วงเกิดขึ้นมากกว่า 300 แห่งทั่วอิหร่าน และยังพบด้วยว่ายอดผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในอิหร่านลดลง ภายหลังจากที่รัฐบาลยกระดับมาตรการปิดกั้นการสื่อสาร ซึ่งเป็นการประเมินจากจำนวนครั้งแฮชแท็กที่ลดลง

ทีมงาน BBC ยังสามารถทำความเข้าใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อนำเสนอข้อมูลที่สวนทางกับสิ่งที่รัฐบาลอิหร่านพยายามนำเสนอ อย่างกรณีที่รัฐบาลกล่าวหาว่าผู้ประท้วงขวางทางและทุบทำลายรถพยาบาล ซึ่ง BBC แย้งว่าผู้ประท้วงทำไปเพราะรัฐใช้รถพยาบาลในการคุมตัวผู้ประท้วง โดยปรากฎภาพของผู้ประท้วงวิ่งออกมาจากรถพยาบาล และมีการไปจอดหน้าสถานีตำรวจ

สาเหตุที่ BBC ต้องทำเช่นนี้ ก็เพราะรัฐบาลอิหร่านจำกัดความสามารถของสื่อทั้งในและต่างประเทศในการเข้าไปทำข่าวในพื้นที่ อีกทั้งยังพยายามปิดกั้นอินเทอร์เน็ตเพื่อไม่ให้การเผยแพร่ข้อมูลทำได้อย่างอิสระด้วย

สำนักข่าว IRNA สื่อหลักของรัฐบาลอิหร่านพยายามรายงานมาโดยตลอดว่าอิหร่านยังอยู่ในสภาวะสงบสุข ผู้ที่ประท้วงถูกยุยงจาก ‘กลุ่มก่อการร้าย’ ที่ไม่หวังดีต่อประเทศ

จะเห็นได้ว่าข้อมูลที่แชร์บนโซเชียลมีเดียมีความสำคัญต่อการรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงมากเพียงใด บ่อยครั้งเป็นข้อมูลที่ไม่ปรากฎในสื่อหลักหรือการรายงานของรัฐ อย่างไรก็ดี การจะรับทราบความเป็นจริงจากโซเชียลมีเดียก็จำเป็นจะต้องใช้เครื่องมือและแนวคิดที่เหมาะสมด้วย

ที่มา BBC News

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส