รัฐสภาเยอรมนีผ่านร่างกฏหมายใหม่ (Network Enforcement Act) ในการจัดระเบียบการแสดงความคิดเห็นบนโซเชียลมีเดียในประเทศด้วยการออกนโยบายโทษปรับที่หนักหน่วง สำหรับโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์มที่ปล่อยให้มี content ที่มีเนื้อหาและคำพูดที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง (hate speech) ยั่วยุ หมิ่นประมาท หลังถูกตรวจพบและรับแจ้งภายใน 24 ชั่วโมง เริ่มต้นทำการปรับที่ 5 ล้านยูโร (193 ล้านบาท) จนไปถึงโทษสูงสุดปรับที่ 50 ล้านยูโร (1,930 ล้านบาท) โดยเตรียมจะประกาศบังคับใช้อย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคมนี้

การผ่านร่างกฏหมายดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อการจัดการสิทธิบนโลกดิจิตอล ที่มองว่าเป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ อย่างไรก็ตาม Heiko Maas รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมด้านคุ้มครองผู้บริโภค ก็ออกมายืนยันว่ากฏหมายดังกล่าวคือสิ่งที่จำเป็นสำหรับการต่อสู้เพื่อขจัดสิ่งยั่วยุที่ก่อให้เกิดความรุนแรง โดยเขาเน้นย้ำว่า ‘เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไม่มีวันเกิดขึ้นในพื้นที่ที่ที่ยังมีปัจจัยให้เกิดความรุนแรงและอาชญากรรมได้’

ขณะเดียวกัน ทางด้านผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรสิทธิมนุษยชน ก็ได้ออกมาเตือนว่ากฏหมายดังกล่าวนั้นส่งผลกระทบต่อกระบวนการเซ็นเซอร์และการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดของคนในสังคม ซึ่งคาดว่าจะไม่เป็นผล เนื่องจากอย่างที่ทราบกันดีว่าเยอรมนีนั้นเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญและเข้มงวดกับการกำจัด hate speech มานานจนกลายเป็นวาระแห่งชาติไปแล้ว

อ้างอิง