เมื่อวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่าน ทาง เอไอเอส ได้เปิดเผยผลสำรวจเกี่ยวกับเทรนด์ของ IoT ในประเทศไทย โดยพบว่า 3 เทรนด์หลักคือ Smart Living, Smart City และ Smart Industry

นายนวชัย เกียรติก่อเกื้อ หัวหน้าแผนกงานการตลาดกลุ่มลูกค้าองค์กร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส เปิดเผยว่า ในปี 2019 ประเทศไทยมีการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ IoT ราว 1.1 ล้านการเชื่อมต่อ โดยมีการเชื่อมต่อผ่าน เอไอเอส มากที่สุดคือ 662,000 การเชื่อมต่อ และเครือข่ายอื่น ๆ รวม 441,000 การเชื่อมต่อ

นวชัย เกียรติก่อเกื้อ หัวหน้าแผนกงานการตลาดกลุ่มลูกค้าองค์กร เอไอเอส

ผลสำรวจของ AIAP ภาคีความร่วมมือในการพัฒนาและออกแบบโซลูชัน IoT ของเอไอเอส ที่ทำการสำรวจในกลุ่มนักพัฒนาพบว่า บุคคลและองค์กรมีความสนใจที่จะพัฒนาและสร้างผลิตภัณฑ์ IoT ในกลุ่มของ Smart Living มากที่สุดคือ 14% รองลงมาคือ Smart City 13%, Smart Industry 13% และ Smart Health 13% ซึ่งนายนวชัยสรุปเอาไว้สั้น ๆ ว่า สาเหตุที่กลุ่ม Smart Living เติบโต ส่วนหนึ่งมาจากอุปกรณ์ IoT ที่สวมใส่ได้ (Wearable device) นั่นเอง

สอดคล้องกับผลสำรวจจาก Frost & Sullivan แสดงให้เห็นว่า การยอมรับอุปกรณ์ IoT ในประเทศไทยนั้นมีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เฉพาะในปี 2018 เพียงปีเดียว ประเทศไทยมีการใช้จ่ายในเทคโนโลยี IoT มากถึง 1.128 ล้านเหรียญสหรัฐ จึงมีการคาดการณ์ว่าในปี 2020 ประเทศไทยจะมีการใช้จ่ายในเทคโนโลยี IoT มากถึง 1.38 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยกลุ่มผู้บริโภคมีการใช้จ่ายมากที่สุด 43% รองลงมาคือ การขนส่ง 19%, การผลิต 14% และโลจิสติกส์ 10%

ผลสำรวจจาก Frost & Sullivan

จากผลการสำรวจนี้ทั้งสองนี้แสดงให้เห็นว่าตลาด IoT ในประเทศไทยนั้นยังสามารถเติบโตได้อีกมาก แต่จะติดปัญหาแต่เพียงที่ประเทศไทยมีบุลคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญทางด้าน IoT ไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด หลายฝ่ายได้เล็งเห็นถึงปัญหานี้ จึงพยายามร่วมมือกันแก้ไขในการเพิ่มกำลังการผลิตบุคลากรเหล่านี้ โดยหนึ่งในนั้นคือ สมาคมไทยไอโอที และ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ที่ร่วมกับ เอไอเอส จัดงาน Thai IoT International Conference (TIIC) งานประชุมวิชาการด้าน IoT ครั้งแรกของประเทศไทย

Thai IoT International Conference (TIIC)

งาน Thai IoT International Conference (TIIC) คือการผสมผสานระหว่างการจัดการประชุมเชิงวิชาการ (Academic conference) และการหาผู้ร่วมลงทุนทางการค้า (Pitching) ซึ่งนักวิจัยที่มีผลงานทางด้าน IoT สามารถนำเสนองานเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางด้านวิชาการ และสามารถนำผลงานไปเสนอเพื่อหาผู้ร่วมลงทุนในธุรกิจได้ โดยผลงานที่จะนำมาเสนอในงานนี้ จะต้องมีงานวิจัยรองรับ พร้อมต่อยอดเป็นธุรกิจ หรือนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ได้

สำหรับหัวข้องานวิจัยด้าน IoT จากสถานศึกษา หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จะครอบคลุม 8 หัวข้อ ได้แก่ ด้านการเกษตร การท่องเที่ยว สุขภาพ อุตสาหกรรม พลังงาน โลจิสติกส์ ด้านการจัดการและสังคมศาสตร์ และด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ IoT โดยงานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-3 ธันวาคม 2562 ณ ห้องออดิทอเรียม 2 อาคาร 11 มหาวิทยาลัยศรีปทุม

ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมงานได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส