สถานการณ์ PM 2.5 ในกรุงเทพ​ ณ​ ตอนนี้ยังคงแย่อย่างต่อเนื่อง และยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น (คงได้แต่ขอฝน) จนเชื่อว่าหลาย ๆ คนคงเริ่มเล็งเครื่องกรองฝุ่นมาใช้งานบ้างแล้ว นิตยสาร “ฉลาดซื้อ” ฉบับออนไลน์ก็ได้เผยแพร่ผลทดสอบเครื่องฟอกอากาศที่จำหน่ายในประเทศ ซึ่งก็มีบางรุ่นที่สอบตก

ทางนิตยสารออนไลน์ ฉลาดซื้อ ได้เปรียบเทียบผลทดสอบเครื่องกรองฝุ่น PM2.5 ทั้งหมด 10 รุ่น ได้แก่

  • Hatari HT-AP12 ราคา 4,888 บาท
  • Philips AC1215/20 ราคา 7,990 บาท
  • Mi AirPurifier 2S ราคา 4,098 บาท
  • Mitsuta MAP450 ราคา 3,990 บาท
  • Hitachi EP-A3000 ราคา 4,900 บาท
  • Bwell CF-8400 ราคา 9,900 บาท
  • Blueair Joy S ราคา 9,900 บาท
  • Claire C2BU-1933 ราคา 6,990 บาท
  • Sharp FP-J30TA-B ราคา 3,990 บาท
  • Fanslink Air D. Cube ราคา 1,990 บาท

นิตยสารฉลาดซื้อทำการทดสอบเครื่องฟอกอากาศโดยการปรับปรุงมาตรฐาน Standards of The Japan Electrical Manufacturers’ Association (JEM Standards), JEM1467-Air Cleaner for Household Use (Air cleaners of household and similar use) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ใช้ในการทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องฟอกอากาศครัวเรือน

โดยการทดสอบจะใช้เครื่องสร้างฝุ่น TOPAS Aerosol Generator ATM 226 ที่สร้างฝุ่นขนาดประมาณ 0.2 ไมครอน และใช้ Dusttrak DRX Aerosol Monitor 8533 หรือเครื่องมือสำหรับวัดค่าฝุ่น PM 2.5 แบบ Real-Time ส่วนห้องที่ใช้ทดสอบคือห้องที่มีขนาด 26.46 m3  (กว้าง x ยาว x สูง: 3.6 x 3 x 2.45 m3)

วิธีการทดสอบ

  1. เปิดเครื่องสร้างฝุ่นจนได้ค่าความเข้มข้นของฝุ่น PM 2.5 ให้อยู่ในช่วง 1.0 – 5.0 mg/m3
  2. ทำการเปิดเครื่องฟอกอากาศโดยจะวัดความเข้มข้นของ PM 2.5 เป็นเวลา 90 นาที หรือจนกว่าความเข้มข้นของ PM 2.5 จะเหลือความเข้มข้นน้อยกว่า0.020 mg/m3 หรือ 20 µg/mโดยแต่ละเครื่องจะผ่านการทดสอบ 2 ครั้งเพื่อความแม่นยำ
  3. นำผลทดสอบที่ได้ไปคำนวณค่าประสิทธิภาพของเครื่องฟอกอากาศในแง่ของ อัตราการไหลของอากาศบริสุทธิ์ (Clean Air Delivery Rate; CADR) เพื่อให้ทราบถึงอัตราการสร้างอากาศสะอาดของเครื่องฟอกอากาศ

(รายละเอียดการทดสอบอ่านได้ในแหล่งที่มา คลิก)

ผลการทดสอบ

โดยผลการทดสอบถูกแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่

  1. เครื่องฟอกอากาศที่ฟอกอากาศได้น้อยมากจนผู้ทดสอบพบว่าไม่สามารถลดปริมาณฝุ่นได้คือยี่ห้อ Clair
  2. เครื่องฟอกอากาศที่สามารถใช้ในห้องที่มีขนาด 13 – 16 ตารางเมตร และเป็นไปตามโฆษณาหรือคู่มือการใช้งาน ได้แก่ ยี่ห้อ Blueair*
  3. เครื่องฟอกอากาศที่สามารถใช้ในห้องที่มีขนาด มากกว่า 20 ตารางเมตร ไม่เกิน 30 ตารางเมตร และเป็นไปตามโฆษณาหรือคู่มือการใช้งาน ได้แก่ ยี่ห้อ Hitachi, Bwell, Fanslink Air D และ Sharp
  4. เครื่องฟอกอากาศที่สามารถใช้ได้กับห้องที่มีขนาดมากกว่า 20 ตารางเมตร ไม่เกิน 30 ตารางเมตร แต่ไม่เป็นไปตามโฆษณาหรือคู่มือการใช้งาน ได้แก่ Hatari และ Mitsuta
  5. เครื่องฟอกอากาศที่สามารถใช้ในห้องที่มีขนาด มากกว่า 30 ตารางเมตร และเป็นไปตามโฆษณาหรือคู่มือการใช้งาน ได้แก่ Philips และ Mi
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเครื่องฟอกอากาศ Blue Air
เนื่องด้วยทีมบริหารของผลิตภัณฑ์ Blueair ได้นำเอกสารยืนยันจาก AHAM (Association of Home Appliance Manufacturers) ซึ่งระบุว่า ผลิตภัณฑ์ Blueair สามารถใช้กับห้องในขนาด 16 ตารางเมตร ได้ ตามที่ระบุในคู่มือการใช้งาน

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตจากทีมทดสอบของนิตยสารฉลาดซื้อว่า การทดสอบผลิตภัณฑ์ของบลูแอร์ เป็นการทดสอบที่ค่า CADR ขึ้นอยู่กับขนาดของฝุ่นที่ใช้ทดสอบด้วย โดยดูจากผลการทดสอบของ Blueair (ขนาดฝุ่น tobacco smoke 0.1- 1 micron CADR 119 ขนาดฝุ่น Dust 0.5- 3 micron CADR 121 ขนาดฝุ่นละอองเกสร ดอกไม้ CADR 131) การที่ค่า CADR มีความแตกต่างกัน การระบุปริมาตรหรือขนาดห้องที่เหมาะสมจึงแตกต่างตามไปด้วย

ดังนั้นทางบลูแอร์ควรทำความเข้าใจกับผู้บริโภคว่าขนาดห้องที่เหมาะสมกับเครื่องฟอกอากาศควรเป็นเท่าไร และควรต้องแจ้งเรื่อง การทดสอบแบบไม่มี prefilter ซึ่งเป็นการทดสอบที่แตกต่างจากทางนิตยสารฉลาดซื้อ ที่ทดสอบแบบมี prefilter ซึ่งเป็นสภาพจริงที่ผู้บริโภคใช้งาน นอกจากนี้ การทดสอบความสามารถในการดักจับฝุ่น ตามมาตรฐานของ JEMA มีข้อกำหนดเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับ ฝุ่นละอองไมโครขนาดเล็ก ( PM 2.5) ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในการทดสอบประสิทธิภาพเครื่องฟอกอากาศของนิตยสารฉลาดซื้อ

สรุป แบรนด์ข้างต้นที่สามารถซื้อไปใช้ได้ตามสเปกที่ระบุได้จริงคือ Hitachi, Fanshlink Air D, Sharp, Philips, Bwell และ Mi ครับ ซึ่งอ่านผลการทดสอบเต็ม ๆ ได้จากที่มาครับ จะมีรายละเอียดว่าเหมาะสำหรับห้องขนาดเท่าไหร่ด้วย

อ้างอิง ฉลาดซื้อ

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส