Airbus มีแผนที่จะติดตั้งเซนเซอร์รูปร่างเหมือนแมงกะพรุนโดยทำหน้าที่เป็นจมูกอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เซลล์ชีวภาพเพื่อเลียนแบบความสามารถของสุนัขดมกลิ่นตรวจหาวัตถุระเบิด ซึ่งพัฒนาโดยบริษัทเกิดใหม่ใน Silicon Valley ที่ชื่อว่า Koniku และจะติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับกลิ่นนี้ไว้ในอุโมงค์คัดกรองที่สนามบินในปลายปีนี้

เทคโนโลยีนี้ได้สร้างหน่วยประมวลผลจากซิลิกอนที่เสริมด้วยเซลล์ที่มีชีวิตและสามารถตรวจจับกลิ่นได้ เหมือนกับการสูดดมอากาศหายใจและบอกคุณได้ว่ามีกลิ่นอะไร โดยการดัดแปลงพันธุกรรมเซลล์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Hek cell เซลล์ตัวอ่อนในไตปกติของมนุษย์ หรือ Astrocytes เซลล์ช่วยควบคุมปริมาณสารเคมีต่างๆ ที่อยู่รอบเซลล์ประสาทและ Brain cells เซลล์สมอง เพื่อสร้างเป็นตัวรับกลิ่นสารประกอบโมเลกุล และสามารถตอบสนองอย่างรวดเร็วภายใน 10 วินาที (ในสภาวะที่ดีที่สุด)

ในแง่การแพร่ระบาดของ COVID-19 บริษัทยังอยู่ในการสำรวจความสามารถของเซนเซอร์ในการตรวจจับอันตรายทางชีวภาพเพื่อตรวจหาผู้ติดเชื้อไวรัส นอกจากนี้บริษัท Koniku ยังมีผลิตภัณฑ์ด้านความปลอดภัย เช่น แอปพลิเคชันทางการแพทย์ด้วยตัวดมกลิ่นที่สามารถตรวจจับสัญญาณของโรคมะเร็ง ซึ่งมีวิธีการเดียวกับการฝึกฝนสุนัขให้สามารถตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมากในตัวอย่างปัสสาวะของผู้ป่วยที่ไม่ได้แสดงอาการได้อย่างแม่นยำ ดังนั้นเมื่อคุณตื่นเช้ามาแล้วหายใจรดบนอุปกรณ์ตัวนี้ มันก็จะทำการวิเคราะห์ข้อมูลจากการอัปโหลดอย่างต่อเนื่องและสามารถแสดงผลสภาวะสุขภาพของคุณให้ทราบ

หลังจากเกิดเหตุการโจมตีด้วยเครื่องบินเมื่อ 11 กันยายน 2001 ในสหรัฐฯ จึงได้มีการใช้อุปกรณ์ตรวจจับอย่างแพร่หลายโดยใช้ Puffer machines เมื่อผู้เดินทางผ่านประตูที่มีลมเป่าก็จะนำเอาอนุภาคจากเสื้อผ้าและร่างกายมาตรวจหาร่องรอยของวัตถุระเบิด แต่ในปี 2010 กลับมองว่าไม่น่าเชื่อถือและมีค่าบำรุงรักษาที่สูง

ดังนั้นไม่แปลกที่คุณจะสงสัยว่าเทคโนโลยีใหม่ ๆ จะทำการตรวจจับกลิ่นได้จริงหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม การประกาศติดตั้งทดสอบอุปกรณ์ของ Airbus เป็นสัญญาณที่ดีสำหรับ Koniku ซึ่งเป็นบริษัทขนาดเล็กที่มีพนักงานเพียง 20 คน แต่ด้วยความมั่นใจจาก Airbus ที่ได้ทำงานร่วมกับ Koniku มาตั้งแต่ปี 2017 ทั้งสองจึงมีแผนร่วมกันว่าจะสร้างเทคโนโลยีที่เปลี่ยนยุคสมัย (Game-changing) และโซลูชันด้านความปลอดภัยแบบครบวงจร

ที่มา : engadget

 

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส