ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Monash, Swinburne และ RMIT ในออสเตรเลียอ้างว่าได้ทำสถิติการส่งผ่านข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตที่เร็วที่สุดอยู่ที่ 44.2 Tbps (เทราบิตต่อวินาที) ซึ่งความเร็วขนาดนี้สามารถใช้ดาวน์โหลดภาพยนตร์ที่คมชัดระดับ HD ได้มากกว่า 1,000 เรื่องภายในเวลาไม่ถึง 1 วินาที

speedtest.net ได้แสดงสถิติความเร็วเน็ตบ้าน (ผู้ใช้บริการอยู่กับที่) หรือเรียกว่า Fixed Broadband ประจำเดือนเมษายน 2020 ในทั่วโลก อันดับ 1 คือ สิงคโปร์ ความเร็วที่ 198.46 Mbps, อันดับ 2 ฮ่องกง ความเร็วที่ 176.70 Mbps และอันดับ 3 คือ ไทยแลนด์ ความเร็วที่ 159.87 Mbps ส่วนออสเตรเลียอยู่อันดับที่ 54 ความเร็วที่ 55 Mbps แหล่งข่าว BBC ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่ออสเตรเลียมีความล่าช้าจนถูกร้องเรียนจากผู้ใช้ทั่วไป (ขอสันนิษฐานว่านี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่พวกเขาอยากทำให้มีอินเทอร์เน็ตที่เร็วขึ้น ไม่ใช่ไม่เชื่อว่าพวกเขาจะทำได้)

นักวิจัยได้เปิดเผยถึงเบื้องหลังการทำสถิติอินเทอร์เน็ตความเร็วที่สูงที่สุดว่าพวกเขาใช้อุปกรณ์เพียงชิ้นเดียว ซึ่งเรียกว่า Micro-comb เข้ามาแทนที่อุปกรณ์เลเซอร์ 80 ชิ้นที่พบได้ในฮาร์ดแวร์อุปกรณ์การสื่อสารบางรุ่น โดยได้ติดตั้งและทดสอบ Micro-comb ภายนอกห้องแล็บโดยใช้โครงสร้างพื้นฐานที่คล้ายกับเครือข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติของออสเตรเลีย (NBN) และใช้ออปทิคัลชิปเช่นเดียวกับในระบบบรอดแบนด์ใยแก้วนำแสงที่ทันสมัยทั่วโลกใช้กัน ซึ่งพวกเขาเอาชิปมาใช้ทดลองแค่เพียงชิ้นเดียวจนสามารถส่งผ่านข้อมูลปริมาณสูงสุดได้

อินเทอร์เน็ตที่เร็วที่สุดบน Micro-comb ที่ใช้ออปทิคัลชิปเพียงชิ้นเดียว

Bill Corcoran อาจารย์ผู้สอนเกี่ยวกับระบบไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัย Monash กล่าวว่าในที่สุดงานวิจัยชิ้นนี้จะช่วยแปรเปลี่ยนอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขวางเนื่องจากชีวิตสมัยใหม่ยังคงต้องการโครงสร้างพื้นฐานที่มีแบนด์วิดท์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่สำหรับสตรีมหนัง แต่สามารถใช้กับรถยนต์ขับขี่ด้วยตนเอง การขนส่งในอนาคต ไปจนถึงอุตสาหกรรมการผลิตยา การศึกษา การเงินและอีคอมเมิร์ซ รวมทั้งการติดต่อสื่อสารอ่านหนังสือกับลูกหลานได้จากระยะไกล

ท่ามกลางวิกฤติของ COVID-19 ทำให้โครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตถูกโหมกระหน่ำใช้งาน ตั้งแต่การทำงานและเรียนจากระยะไกล รวมทั้งการสตรีมวิดีโอและเกมที่มากมายอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน งานวิจัยนี้ช่วยให้สามารถนำใยแก้วนำแสงที่มีอยู่แล้วมาใช้เป็นแบ็กโบนของการสื่อสารในปัจจุบันและในอนาคตได้

ศาสตราจารย์ David Moss แห่งมหาวิทยาลัย Swinburne ได้อธิบายว่าเป็นการค้นพบความก้าวหน้าที่ยิ่งใหญ่ ซึ่ง Micro-comb จะช่วยให้เราสามารถตอบสนองความต้องการแบนด์วิดท์ของโลกที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือไม่มีวันเพียงพอได้นั่นเอง

ที่มา : bbc

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส