หลังจากมีข่าวความคืบหน้าของระบบปฏิบัติการใหม่จาก Huawei ที่ชื่อ Hongmeng OS เตรียมเปิดตัว 9 สิงหานี้ ซึ่งคาดว่าจะพร้อมใช้กับว่าที่เรือธง Huawei Mate 30 และเป็นระบบปฏิบัติการที่ทาง Huawei เคลมว่าเร็วกว่า Android เสียอีกนั้น ล่าสุดมีความคืบหน้าของ Hongmeng OS จาก Liang Hua ประธานและผู้บริหารระดับสูงของ Huawei ซึ่งให้สัมภาษณ์ที่สำนักงานใหญ่ในเชินเจิ้น กลายเป็นประเด็นสั่นคลอนสาวก Huawei อยู่พอสมควร

แท้จริงแล้ว Hongmeng OS ไม่ใช่ Plan B ของ Huawei

“จริง ๆ เรายังไม่ได้วาง Hongmeng OS เป็นระบบปฏิบัติการสำหรับสมาร์ตโฟนในอนาคต”

Liang ระบุว่า Hongmeng OS นั้นออกแบบมาโฟกัสไปที่เทคโนโลยีอนาคตอย่าง Internet of Things (IoT) มากกว่า และบริษัทยังคงให้ความสำคัญกับการใช้งานระบบปฏิบัติการ Android ในสมาร์ตโฟนก่อนเป็นอันดับแรก

คำสัมภาษณ์ครั้งนี้สอดคล้องกับการให้สัมภาษณ์ของ ซีอีโอใหญ่ Ren Zhengfei กับสื่อฝรั่งเศสอย่าง Le Point ว่า Hongmeng ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อใช้งานสำหรับสมาร์ตโฟนโดยเฉพาะอย่างที่ใครหลายคนคิด เราไม่ได้ตั้งใจพัฒนา OS มาแทนที่ Google แต่มันใช้งานได้กับทั้งสมาร์ตโฟน, คอมพิวเตอร์, แท็บเล็ต, ทีวี, รถยนต์ และอุปกรณ์สวมใส่ ซึ่งหาก Google แบนการเข้าถึง Android กับเราจริง เราจะต้องเริ่มสร้าง ecosystem ของเราขึ้นมา แต่ในเวลานี้แผนการในเรื่องนั้นยังไม่ชัดเจน” รวมทั้งกรณีที่มีรายงานว่าระบบปฏิบัติการของ Huawei จะเร็วกว่า Android 60% นั้นก็กลับมาเป็นเครื่องหมายคำถามอีกครั้ง เนื่องจาก Ren Zhengfei ก็ระบุว่า “ยังไม่ได้มีการทดสอบเปรียบเทียบประสิทธิภาพจริง” แต่ใช้คำว่า “เป็นไปได้” (likely) 

แล้วคำว่าระบบปฏิบัติการ Huawei เร็วกว่า Android 60% มาจากไหน?

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนพฤษภาคม Richard Yu ซีอีโอฝั่ง Consumer Business ของ Huawei ได้ให้สัมภาษณ์ว่า OS ใหม่ของพวกเขาจะเปิดตัวในช่วงกันยายน-พฤศจิกายน หรืออย่างช้าคือไม่เกินพฤษภาคมปีหน้า โดยระบุว่ามันสามารถรองรับการทำงานร่วมกับแอปฯ Android และมีประสิทธิภาพการทำงานเร็วกว่า Android ถึง 60%  ขณะที่ Ren Zhengfei เคยยอมรับว่า Huawei มีจุดอ่อนในการแข่งขันบางอย่างคือเรื่องของการไม่มี ecosystem อย่าง Android หรือ iOS ซึ่งยังถือเป็นเรื่องเสี่ยงมากหากบริษัทจะพยายามสร้างการรับรู้ใหม่ให้ผู้ใช้ออกจาก “ความเป็นแบรนด์สมาร์ตโฟนแอนดรอยด์”

สำหรับ Hongmeng OS นั้นทางบรรณาธิการของนิตยสาร Forbes มองว่าแรกเริ่มเดิมมีมีคอนเซปต์ไอเดียคล้ายกับ FuchSia OS ของทาง Google ที่เป็นการสร้างพื้นที่ทดลองใหม่ ๆ ในการปรับใช้เข้ากับยุค IoT ที่จะเต็มไปด้วยอุปกรณ์ที่จะสามารถเชื่อมต่อถึงกันได้อีกเป็นจำนวนมาก

อ้างอิง

อ้างอิง2

อ้างอิง3

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส