วันนี้ (21 มีนาคม) เวลา 16:30 น. นั้นถือว่าเป็นเส้นตายที่ทาง JAS จำเป็นจะต้องหาเงินจำนวนกว่า 8,000 ล้านและสัญญาค้ำประกันเงินค่าประมูลมาให้ทาง กสทช. แต่แล้วทาง JAS ก็ไม่ได้มาตามสัญญา จนส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในหลาย ๆ อย่างตามที่หลาย ๆ คนคาดการณ์เอาไว้แล้ว งานนี้ทางทีมงานแบไต๋ขอวิเคราะห์ให้ท่านได้อ่านกันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นหลัง JAS ไม่จ่ายค่าสัญญาสัมปทานนั้นจะมีอะไรบ้าง ?

เชื่อว่าหลาย ๆ คนที่กำลังติดตามอย่างใกล้ชิดกับข่าวการประมูลคลื่นความถี่ 900MHz ที่ผ่านมานั้นก็คงจะเริ่มตะหงิด ๆ กับ JAS พอสมควรว่า เขาจะสามารถจ่ายเงินค่าสัมปทานได้หรือไม่ ? โดยเฉพาะการหาบริษัท / ธนาคารค้ำประกันเงินกู้จำนวนที่สูงกว่ามูลค่าหุ้นของบริษัท JAS ทั้งหมดเสียอีก โดยก่อนหน้านี้ก็มีข่าวแว่ว ๆ ว่าจะมีบริษัททางด้านโทรคมนาคมต่างชาติมาร่วมหุ้น รวมไปถึงการเตรียมเงิน 8 พันล้านบาทนั้นไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่อยู่ดี ๆ ทาง JAS ก็ได้เงียบหายไปเสียเฉย ๆ จนถึงวันนี้ (21 มีนาคม 17:20 น.) ทาง JAS ก็ยังไม่มีแถลงการณ์ใด ๆ ออกมาให้เราได้รับทราบกัน งานนี้ทางแบไต๋จึงขอสรุปสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับ JAS นั้นมีอะไรบ้างหลังจากเบี้ยวค่าประมูลในครั้งนี้

เรื่องที่เกิดขึ้นกับ JAS ทันที

  • เสียเงินประกันจำนวนกว่า 644 ล้านบาทไปแบบฟรี ๆ
  • เสียสิทธิเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่อื่น ๆ ตลอดไป
  • ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการประมูลทั้งหมดแทน กสทช. เป็นเงินมูลค่าประมาณ 170 – 180 ล้านบาท

สรุปค่าเสียหายรวมกันประมาณ 850 – 1,000 ล้านบาทโดยประมาณ

เรื่องที่จะเกิดขึ้นในอนาคตกับ JAS

  • การจัดประมูลสำหรับคลื่นความถี่ 900MHz เริ่มต้นที่ราคาเดิมของ JAS ให้กับทั้ง 3 เจ้าเข้าร่วมประมูลใหม่อีกครั้งในเดือน ก.ค. ที่ราคาเริ่มต้นไม่ต่ำกว่า 75,654 ล้านบาท
  • และหากไม่มีใครประมูลแม้แต่รายเดียวทาง กสทช. ก็จะเก็บคลื่นนี้ไว้อีก 1 ปี แล้วจะนำเอาคลื่น 900MHz นี้มาทำการประมูลแบบถอยหลัง (ค่อย ๆ ลดราคาจนกว่าจะมีคนเคาะ)

ซึ่งจากที่คาดการณ์กันไว้คือ ทาง DTAC และ AIS น่าจะไม่ประมูลอย่างแน่นอนในราคานี้ เพราะเป็นราคาที่สูงเกินไป (มาก ๆ) รวมไปถึงถ้าการประมูลแบบลดราคานั้นลงมาต่ำมากเกินไป เชื่อว่าทาง TRUE จะต้องไม่ยอมอย่างแน่นอน งานนี้ทาง กสทช. และ กทค. จะต้องประชุมพิจารณากันเป็นอย่างมากเพื่อให้ยุติธรรมกับทุกฝ่าย

ผลกระทบกับภาคอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

  • กลับไปเหลือ 3 ก๊กเช่นเดิมสำหรับการแข่งขันทางด้านธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ (AIS, TRUE, DTAC) ทำให้มีการแข่งขันที่ไม่มากนัก
  • คลื่นที่เหลืออยู่ 1 Slot น่าจะเป็นการแข่งขันกันระหว่าง DTAC และ AIS ที่ไม่ได้คลื่น 900MHz ทั้งคู่ ซึ่งแน่นอนว่าคนที่อยากได้คลื่นมากที่สุดไม่พ้นทาง DTAC ที่ไม่สามารถประมูลทั้งคลื่น 1800MHz และ 900MHz ได้อย่างแน่นอน (แต่จะรับราคานี้ได้หรือไม่ ต้องรอชมกันต่อไป)
  • แน่นอนว่าในปี 2562 คลื่นปัจจุบันของทาง dtac ที่ถือครองอยู่จำนวนกว่า 50 MHz (ใช้จริง 25 MHz) จะหมดสัญญาสัมปทานลง ทำให้เกิดผลกระทบกับทาง dtac อย่างแน่นอนหากยังไม่มีคลื่นความถี่สำรอง

ฟันธงผู้ที่จะได้คลื่น 900MHz ในครั้งนี้

เชื่อว่าทาง dtac น่าจะเป็นผู้ต้องการคลื่น 900Mhz นี้มากที่สุด เพราะตอนนี้ dtac เป็นเพียงเจ้าเดียวที่ยังไม่ได้คลื่นความถี่ใดเลยจากการประมูลทั้งสองรอบ … (ในขณะที่ TRUE ได้ทั้ง 1800MHz และ 900MHz ส่วน AIS ได้ 1800MHz) แถมอีกแค่ 3 ปีคลื่นใหญ่ที่สุดที่อยู่ในมือก็จะหมดสัญญาสัมปทานลง ทาง DTAC จึงถือว่าเป็นเจ้าเดียวที่เป็นตัวเต็งการประมูลในครั้งนี้

แต่คาดว่าการประมูลครั้งถัดไปที่จะเริ่มในราคา 75,000 ล้านบาทจะไม่มีผู้เข้าร่วมประมูลเนื่องจากมีราคาที่สูงเกินไป ดังนั้นเราน่าจะได้เห็นศึก AIS VS DTAC อีกครั้งภายในปีหน้าอย่างแน่นอน แต่ก็ไม่แน่ทาง TRUE อาจเป็นม้ามืด (หรือหน้ามืด) จัดเต็มประมูลคลื่น 900MHz ไปอีกก็เป็นได้…

สุดท้ายนี้ทางบอร์ด กทค. จะมีการประชุมหารือในเรื่องนี้อย่างเป็นทางการในวันที่ 23 มีนาคมนี้ และจะประกาศให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง รอติดตามกันอย่างใกล้ชิดได้เลยครับ