NFT หรือ Non-Fungible Token เป็นอีกหนึ่งลูกเล่นในโลกบล็อกเชน ที่นักลงทุน และนักเก็งกำไรในสายคริปโทต่างให้ความสนกับผลิตภัณฑ์นี้ไม่น้อยไปกว่าคริปโทเคอร์เรนซีเลย ด้วยความที่ NFT ถูกออกแบบให้ต่างจากคริปโทเคอร์เรนซี โดยแต่ละชิ้นจะมีลักษณะไม่ซ้ำ และไม่สามารถทดแทนกันได้เหมือนกับสกุลเงินดิจิทัล จึงเป็นที่นิยมใช้ในงานศิลปะอย่างภาพวาดงานต้นฉบับ ที่มักจะทำแค่ชิ้นเดียวและไม่ทำเพิ่ม หากมีการทำเพิ่มด้วยการคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต ก็สามารถตรวจสอบว่าชิ้นไหนเป็นต้นฉบับของจริงได้อย่างง่ายดาย

ปัจจุบันมูลค่าของ NFT มีบันทึกมูลค่าการซื้อขายบน Marketplace อย่าง Opensea สูงสุดถึง $2.6b ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นผลมาจากความสำเร็จของหลายโปรเจกต์ ไม่ว่าจะเป็น Bored Ape Yacht Club (BAYC), CryptoPunk รวมไปถึง Axie ทำให้ ณ ปัจจุบันผลงาน NFT กลายเป็นอีกหนึ่งสินทรัพย์ที่มีมูลค่าไม่ด้อยไปกว่าสินทรัพย์อื่น ๆ บนโลกดิจิทัล และมีการผลิตภัณฑ์ผลงานออกมามากมายนับไม่ถ้วน แต่เราจะรู้ได้อย่างไร ว่าผลงานไหนมีคุณค่า หรือน่าจะมีมูลค่าสูง ที่เทียบเคียงได้กับความสำเร็จแบบ BAYC กันล่ะ ? 

ในบทความนี้เราจะมีเล่าถึงวิธีในงานการประเมินมูลค่าของ NFT ในแบบฉบับของนักลงทุน VI โดยมีวิธีการดังต่อไปนี้

  1. โปรเจกต์ NFT ทำอะไรได้บ้าง (Utility) : แน่นอนว่า NFT ส่วนใหญ่จะจัดอยู่ในหมวดของงานศิลปะ ซึ่งมีจุดประสงค์หลักเดียวที่คล้ายกัน คือ เป็นของสะสม คล้ายกับโมเดล แต่อยู่ในรูปแบบของข้อมูลบนโลกบล็อกเชนแทน แต่สิ่งที่ทำให้ NFT ที่ประสบความสำเร็จในปัจจุบัน โดดเด่นกว่าโปรเจกต์อื่น ๆ ได้ คือ NFT ตัวนั้นต้องทำได้มากกว่าเป็นของสะสม หรือรูปตั้งโปรไฟล์บนโซเชียล เช่น BAYC ที่โปรเจกต์เปิดให้เจ้าของ NFT เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาของ NFT นั้นได้แบบไม่มีเงื่อนไข พูดง่าย ๆ คือ คุณสามารถขายสินค้า หรือสร้างแบรนด์จาก NFT ที่คุณถืออยู่ได้ โดยเงินทั้งหมดเข้ากระเป๋าของเจ้าของ NFT โดยไม่มีการหักค่านายหน้าแต่อย่างใด หรือสามารถใช้เป็นตัวละครในเกม เพื่อใช้ในการเล่นในระบบนิเวศน์อย่าง Axie ที่ต้องพึ่งตัวละครเป็นมอนสเตอร์ 3 ตัว จึงจะมีสิทธิ์เล่น (ปัจจุบันมีโหมดให้เล่นฟรี) เป็นต้น ซึ่งอรรถประโยชน์เหล่านั้นจะเป็นตัวบ่งบอกถึงมูลค่าที่แท้จริงของโปรเจกต์ได้อีกด้วย
  1. ความหายาก (Rarity) : แน่นอนว่า NFT ลูกเล่นที่แต่ละโทเคนจะไม่สามารถทดแทนกันได้ แต่มันจะไม่มีประโยชน์เลย หากเราไม่รู้ว่า NFT ที่เรากำลังจะเข้าไปลงทุน มีลักษณะไหนที่ทำให้มันโดดเด่น ไม่เหมือนใคร และหายากกว่าชิ้นอื่น ๆ ในกรณีที่ NFT นั้นถูกออกแบบมาในรูปแบบของ Collection ไม่ใช่ผลงานชิ้นเดียวแล้วจบแบบงานศิลปะ ยกตัวอย่างจาก BAYC ที่หน้าตาก็เหมือนลิงทั่วไป แถมยังหน้าตาคล้ายกันมากจนแทบแยกไม่ออก แต่ในตัวของสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) จะระบุข้อมูลแสดงคุณลักษณะของแต่ละชิ้นไว้อย่างชัดเจน ว่า BAYC ตัวนี้ ประกอบด้วย หู ตา จมูก ปาก หมวก หรือพื้นหลักพิเศษ แบบไหน เพื่อใช้ในการบอกว่าคุณลักษณะดังกล่าวเมื่อเทียบกับทั้ง Collection คุณสมบัตินี้มีจำนวนคิดเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ จากทั้งหมด ซึ่งบางคุณลักษณะของ BAYC อย่างมงกุฎ เป็นชิ้นที่มีอันเดียวเท่านั้น เป็นต้น
  1. ผู้สร้างเป็นใคร (Creators) : เป็นอีกสิ่งสำคัญนอกเหนือจากผลงานที่มีคุณภาพ ว่าใครเป็นผู้สร้างผลงานที่มีคุณภาพนี้ เขาเป็นใคร มีประวัติความเป็นมาในด้านดีแค่ไหน รวมถึงมีด้านเสียในวงการไหม เพื่อประเมินว่าเราสามารถลงทุนถือ และรับสิทธิประโยชน์ของ NFT นั้นได้อย่างยั่งยืนในระยะยาวหรือไม่
  1. ชุมชนของนักสะสม (Community) : NFT เป็นผลงานที่เฉพาะกลุ่ม ดังนั้นขนาดกลุ่มคนที่สนใจในงานจะเป็นอีกปัจจัยที่บ่งบอกว่าคนสนใจในผลงานนี้มากน้อยขนาดไหน และไม่มีอะไรจะมีประสิทธิภาพไปมากกว่าการที่คนในชุมชนเป็นผู้นำเสนอข้อมูลเหล่านี้ให้คนรอบตัวได้รับรู้แบบปากต่อปาก อีกทั้งหากชุมชนมีขนาดใหญ่ และมีศักยภาพมากพอที่จะเติบโตได้ในอนาคต จะช่วยทำให้มีอำนาจในการต่อรอง เพื่อรับการสนับสนุนจากองค์กรในอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ อื่นได้ไม่ยากด้วย
  1. แผนการดำเนินงานที่วางไว้ (Roadmap) : ปัจจัยที่จะช่วยส่งเสริมให้นักสะสมยังคงอยู่ และผู้สนใจอื่นๆ อยากเข้ามาร่วม คือ โปรเจกต์ได้ดำเนินงานตามแผนการณ์แบบไหนมาบ้าง แล้วอนาคตจะทำอะไรบ้าง ซึ่งในเฟสเเรกเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะใช้ปัจจัยนี้ในการตัดสินว่าโปรเจกต์ NFT นั้นมีศักยภาพในการลงทุนในระยะยาว แต่ก็เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่สามารถใช้ในการประเมินถึงวิธีการของทีมงานในปัจจุบันว่าพยายามบรรลุถึงแผนการที่วางไว้มากน้อยขนาดไหน หรือแค่พยายามขายผลงานให้ออกแล้วหนีไปเพียงอย่างเดียว ซึ่งเราสามารถประเมินควบคู่ไปกับชุมชนของโปรเจกต์ได้ว่าข้อมูลต่าง ๆ ที่ทางชุมชนพยายามนำเสนอ เป็นข้อมูลเชิงล่อให้มาซื้อ หรือพยายามสร้างโปรเจกต์ให้เกิดการใช้งานในโลกความจริง

อย่างไรก็ตาม 5 ปัจจัยที่ทาง Forward Labs ได้รวบรวมและนำมาเสนอให้กับผู้อ่านในบทความนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัจจัยในการประเมินมูลค่าของ NFT ว่ามีศักยภาพมากพอจะเป็น NFT ที่มีมูลค่าสูงในอนาคตได้หรือไม่ แต่เนื่องด้วยเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว วิธีการในทางทีมได้นำมาเสนอ อาจจะถูกเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงนั้นด้วย ถึงอย่างนั้นหลักการลงทุนแบบ VI ก็ยังสามารถใช้กับสินทรัพย์นี้ได้ต่อ เพราะเราไม่ได้มองหา NFT ที่คนจะกรูเข้ามาซื้ออย่างไร้เหตุผลในช่วงแรก และจบสิ้นด้วยการเทขายจนไร้มูลค่าในตอนท้าย แต่เป็นการมองหามูลค่าที่แท้จริงผ่านปัจจัยข้างต้น เพื่อให้สามารถประเมินออกว่าเรากำลังจะเล่นกับอะไร มีโอกาสที่โปรเจกต์นี้จะไปต่อในระยะยาวได้มากไหม ยิ่งหากใช้ร่วมกับมาตรวัด (metrics) อื่นๆ อย่างราคาพื้น (floor price) รวมถึงปริมาณการซื้อขาย (trading volume) ก็จะช่วยสร้างโอกาสในการลงทุนกับ NFT เหล่านั้นได้ไม่ยาก

บทความโดย Forward Labs Start Up ด้าน เทคโนโลยี โดยการนำเทคโนโลยี บล็อคเชนมาใช้ เพื่อมุ่งหวังให้มีการพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชน เศรฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส