ชารัด เมห์โรทรา (Sharad Mehrotra) เข้ามารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของดีแทคได้ประมาณ 5 เดือน ซึ่งก็เป็นช่วงที่ทั้งโลกได้เจอกับมรสุม Covid-19 พอดี คุณชารัดเลยมีเรื่องมาเล่าให้พวกเราสื่อมวลชนได้ฟังว่า dtac เจออะไรมาบ้าง และสิ่งที่ลูกค้าของดีแทคต้องการจากผู้ให้บริการมากที่สุดคืออะไร

ภาพรวมเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย

dtac ชารัด เมห์โรทรา

หลังจาก Covid-19 ก็เกิดปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ซึ่งคาดการณ์ว่า GDP ของประเทศไทยปี 2563 นี้จะลดลง 8% ซึ่งลดลงมากกว่าที่การคาดการณ์ก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ยังส่งผลให้นักท่องเที่ยวลดลง 80% อัตราการจ้างงานลดลงก็ลดลง แรงงาน 8.3 ล้านคนเสี่ยงตกงาน ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงต่ำที่สุด ซึ่งความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงจากภาวะเศรษฐกิจ ก็ทำให้ผู้ใช้จะเปลี่ยนมือถือช้าลงเป็นเฉลี่ย 36 เดือนด้วย

และจากการเก็บข้อมูลของ dtac พบว่า เมื่อคนเดินทางออกนอกกรุงเทพมากขึ้นในช่วง Lock Down ก็ทำให้การใช้งานของลูกค้าในต่างจังหวัดโตขึ้นกว่าเดิม 5 เท่า ส่วนการใช้งานในกรุงเทพก็โตขึ้นจากการใช้งานที่บ้านมากขึ้น จากเดิมที่จะกระจุกอยู่ในตัวเมือง หรือย่านธุรกิจ

การตอบรับของ dtac ในสถานการณ์นี้

เมื่อผู้ใช้ของ dtac กำลังมีปัญหาทั้งเรื่องความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และพฤติกรรมการใช้งานที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งดีแทคพบว่าปริมาณการใช้งานดาต้าเฉลี่ยต่อเดือนของผู้ใช้สูงขึ้น 44% จากเดือนมกราคมถึงมิถุนายน จากการทำงานจากที่บ้าน

แล้ว dtac ตอบรับความเปลี่ยนแปลงของลูกค้าอย่างไร เริ่มต้นจากเรื่องเทคโนโลยีก่อนครับ ดีแทคขยายการให้บริการด้วยเทคโนโลยี Massive MIMO บน 4G เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สายขึ้น 3 เท่าในบริเวณที่มีการใช้บริการหนาแน่นทั่วประเทศ พร้อมเพิ่มเสาสัญญาณระบบ TDD อีก 20,000 เสา (ที่พาร์ตเนอร์กับ TOT ในคลื่น 2300 MHz) ซึ่งเป็นระบบที่สมาร์ตโฟนส่วนใหญ่ใช้งานได้อยู่แล้ว ทำให้เห็นผลด้านความเร็วที่เพิ่มขึ้น และประสิทธิภาพในการรองรับจำนวนผู้ใช้เพิ่มมากขึ้นทันที โดยผู้ใช้ไม่ต้องอัปเกรดมือถือใหม่

ส่วนในด้านบริการ ดีแทคพบว่าในช่วงที่มีการหยุด Covid-19 ที่ผ่านมา มีลูกค้าเข้ามาใช้งานเว็บมากขึ้น 68% และลูกค้าก็ใช้แอปมากขึ้นด้วย มีการใช้ dtac reward สูงขึ้น 5.6 เท่า จำนวนผู้ใช้แอป dtac ที่เป็น prepaid ก็โตขึ้นเกือบ 2 เท่า ทำให้เห็นภาพว่าตอนนี้ลูกค้าเป็น multi channel ชัดเจน ใช้ช่องทางออนไลน์-ออฟไลน์สลับกันไปเรื่อยๆ ไม่ได้ใช้ช่องทางใดช่องทางหนึ่งอย่างเดียว

ทำให้ dtac ปรับตัว มีการออกแพ็กเกจใหม่ๆ ออกโปรเหมาะสำหรับการทำงานจากบ้าน ทั้งสำหรับลูกค้าทั่วไปและองค์กร เช่นแพ็กเกจที่ประชุมออนไลน์ไม่คิดค่าเน็ต และเป็นเจ้าแรกๆ ที่ลูกค้าซื้อ Data Pack แล้ว dtac ออกประกัน Covid ให้

dtac กับ 5G

dtac 5G

ในช่วง 2 ไตรมาสที่ผ่านมาจะเห็นว่าจำนวนผู้ใช้ของ dtac ลดลงมาก ส่วนหนึ่งดีแทคบอกว่า เพราะว่านักท่องเที่ยวลดลง ซึ่ง dtac มีลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวมากที่สุด นอกจากนี้แรงงานต่างด้าวส่วนหนึ่งก็กลับประเทศ ทำให้ผู้ใช้น้อยลงไป

ในส่วนของ 5G นั้น แม้ดีแทคจะไม่มีคลื่น 2600 MHz แต่ก็เตรียมทดสอบ 5G คลื่น mmWave 26 GHz ที่ EEC ในไตรมาสที่ 3 นี้ ซึ่งจะทำให้มีตัวอย่างการใช้กับกล้องวงจรปิดอัจฉริยะ และให้บริการเน็ตไร้สายความเร็วสูงแบบ Fixed Broadband นอกจากนี้ก็เตรียมทดลอง 5G ในคลื่น 700 MHz ภายในไตรมาส 4 ของปี 2563 ด้วย

ซึ่งเมื่อนักข่าวสอบถามว่าการทดสอบนี้เลื่อนจากกำหนดเดิมที่เคยวางไว้หรือไม่ ก็ได้คำตอบว่ามาเลื่อนมาจริง ๆ จากเดิมที่จะทดสอบในไตรมาส 2 ก็เลื่อนมาทดสอบ mmWave ในไตรมาส 3 เพราะติด Covid-19 ที่ทำให้การขนส่งและการทำงานล่าช้า ซึ่งคลื่น mmWave นี้จะใช้กับภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก เพราะฝั่งผู้ใช้ยังไม่มีอุปกรณ์ที่รองรับ ซึ่งถ้าเป็นการใช้งานที่ใกล้ผู้ใช้หน่อย อาจจะเป็นการใช้แบบ Fixed Broadband

จะใช้คลื่น 2300 MHz และ 2100 MHz มาทำ 5G ได้ไหม

dtac ชารัด เมห์โรทรา

ดีแทคตอบว่าคลื่น 2300 MHz เป็นของ TOT ซึ่ง TOT ต้องอัปเกรดจาก 4G เป็น 5G ก่อน ถ้า TOT เริ่มแล้ว ก็ใช้เวลาไม่นาน ส่วนคลื่น 2100 MHz กำลังขอกสทช. เพื่อจะแบ่งมา 5 GHz เพื่อทดสอบ 5G ต่อไป

dtac มองว่าตอนนี้คนอาจจะต้องการความเร็ว แต่ยังไม่มีงบอัปเกรดเครื่อง ซึ่งทำให้ 5G ไม่เหมาะในตอนนี้ เราจึงเน้นพัฒนาเรื่อง 4G ให้มีประสิทธิภาพก่อนไปเน้นเรื่อง 5G ที่มีไม่กี่คนได้ใช้ และไม่ใช่ทุกพื้นที่ในไทย ซึ่ง OpenSignal ก็บอกว่า dtac เป็นค่ายที่มีความเร็วในการดาวน์โหลดสูงที่สุด

หลักการทำงานแบบ Tight-Loose-Tight

dtac ชารัด เมห์โรทรา

หรือการทำงานแบบ ชัดเจน-ยืดหยุ่น-ชัดเจน ที่ดีแทคนำมาใช้ตอนนี้คือการทำงานแบบ

  1. ทำเป้าหมายและความคาดหวังให้ชัดเจน (Tight)
  2. ยืดหยุ่นเรื่องวิธีการทำงาน เช่น ทำงานที่ไหนก็ได้ (Loose)
  3. ชัดเจนในเรื่องความรับผิดชอบในการทำงาน (Tight)

ซึ่งการทำงานแบบนี้ก็ทำให้เหมาะสำหรับสถานการณ์ปัจจุบันที่อาจจะไม่ได้ทำงานที่ออฟฟิศทุกวัน และยังทำให้พนักงานไม่กดดันจนเกินไป แต่ก็ยังได้ผลงานที่ดีออกมา

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส