ฟูจิรุกตลาดกล้อง hi-end อย่างเป็นทางการด้วยการเปิดตัว GFX 50s กล้องเซนเซอร์ขนาดใหญ่แบบ Medium Format ที่ใช้เลนส์ตระกูลใหม่ในรหัส GF สำหรับกล้องซีรีส์นี้โดยเฉพาะ นอกจากนี้ยังเปิดตัว Fujifilm X-T20 ที่พัฒนาให้ระบบโฟกัสอัตโนมัติรวดเร็วขึ้น สามารถถ่ายวิดีโอในระดับ 4K ได้ และ Fujifilm X100F กล้องคอมแพกระดับพรีเมี่ยมที่ออกมาเป็นรุ่นที่ 4 แล้ว (ตัวนี้ราคา 48,900 บาท)

ถ้าอยากให้กล้องไม่หายไป ก็ต้องสร้างวัฒนธรรมถ่ายภาพที่ดี คนจะได้ไม่หนีไปใช้กล้องมือถือกันหมด

Fujifilm GFX 50s

กล้องระดับโปร ที่ใช้เซนเซอร์ขนาดใหญ่พิเศษที่เรียกว่า Medium Format (ใหญ่กว่า full frame 1.7 เท่า เป็นเซนเซอร์ขนาด 43.8mm x 32.9 mm) เพื่อให้คุณภาพภาพออกมาดีที่สุด สัญญาณรบกวนน้อย มีจุดผิดพลาดน้อย สำหรับใช้ในงานมืออาชีพที่ต้องการภาพละเอียดมาก

สเปกของ GFX 50s

  • ความละเอียด 51.4 ล้านพิกเซล เซนเซอร์ CMOS ขนาด 43.8mm x 32.9 mm รองรับ Dynamic Range 14 stop
  • เลนส์ G-mount
  • View-finder ติดตั้งที่ Hot-shoe ถอดออกได้
  • จอสัมผัสขนาด 3.2 นิ้ว ความละเอียด 2.36 ล้านพิกเซล
  • มีจอที่สองขนาด 1.28 นิ้ว เอาไว้รายงานสถานะของกล้อง
  • โฟกัส 117 จุด โหมดโฟกัส 6 จุด
  • ซัตเตอร์แบบ Focal-Plane ความเร็วสูงสุด 1/4000 s
  • ถ่ายวิดีโอ Full HD
  • บอดี้ Magnesium Alloy
  • น้ำหนัก 825 กรัม

โดยสาเหตุที่ Fujifilm ออกแบบ GFX 50s ให้เป็น mirrorless คือเพื่อให้กล้องระดับ Medium Format สามารถอยู่ในบอดี้ขนาดเดียวกับกล้อง Full Frame ทั่วไปได้ ทำให้น้ำหนักน้อยกว่ากล้อง medium format ทั่วไปในท้องตลาดได้ โดย GFX 50s หนักแค่ 825 กรัม เมื่อรวมเลนส์ 63 mm ก็หนักแค่ 1,230 กรัม ก็เบากว่ากล้อง Medium Format ทั่วไปได้ นอกจากนี้การเป็นกล้องไร้กระจก ยังลดปัญหา Mirror Shock หรือภาพสั่นไหวเพราะกระจกตีกลับได้ สะเทือนน้อยลง

ฟูจิฟิล์มสามารถสร้างกล้องในตระกูลใหม่อย่าง GFX ได้ ก็เพราะว่ามีเทคโนโลยีดิจิทัล และเทคโนโลยีด้านภาพที่พัฒนามานานกว่า 80 ปี จึงสามารถนำเทคโนโลยีหน่วยประมวลผล (X-Processor Pro) เทคโนโลยีโฟกัส (จาก X-T2) เทคโนโลยีการประมวลสีสันที่พัฒนาอย่างยาวนานมาใช้ใน GFX ได้

GFX 50s สามารถให้ไฟล์ RAW ความละเอียด 14 bit ได้ (ภาพ JPEG ทั่วไปจะเก็บ 8 bit ส่วน RAW จากกล้องดีๆ หน่อยจะเก็บ 12 bit) นอกจากนี้ด้วยความรู้ด้านฟิล์ม ทำให้สีสันจาก GFX ดีพอที่จะนำภาพจากกล้องไปใช้งานได้เลย โดยแก้ไขสีสัน แก้โทนผิวน้อยลง แถมยังสามารถเชื่อมต่อถ่ายแบบ Tether กับ Lightroom ได้ด้วย

ซึ่งผู้ใช้กล้องโปรของฟูจิอยู่แล้ว สามารถปรับตัวมาใช้ GFX ได้ทันทีโดยไม่ต้องปรับตัวมากนัก และระดับราคาไม่สูงขนาดที่เป็นกล้องขึ้นหิ้ง เป็นกล้องระดับสูงที่สามารถใช้งานทั่วไปในชีวิตประจำวันได้ (เพราะมันเบากว่ากล้อง medium format ทั่วไปมาก)

เมื่อเปิดตัว Fujifilm GFX 50s จะมีเลนส์ 3 ตัวให้เลือกใช้คือ GF 63mm R WR (เทียบเท่า 50mm), GF120 mm F4 R LM OIS WR Macro (เทียบเท่า 95 mm), GF 32-64 mm F4 R L4 WR (เทียบเท่า 25-51 mm) และจะมีเลนส์อีก 3 ตัวออกตามมาในปีนี้คือ 23mm, 45mm และ 110mm

ราคา Fujifilm GFX 50s

  • Fuji GFX บอดี้อย่างเดียว ราคา 249,990 บาท
  • Fuji GFX และเลนส์ Kit 63mm ราคา 289,990 บาท

Fujifilm X-T20 รุ่นน้องของ X-T2

ที่บอกว่าเป็นรุ่นน้องเพราะใช้เทคโนโลยีภายในเดียวกับ X-T2 คือใช้ X-Trans CMOS III กับ X-Processor Pro แต่อยู่ในระดับราคาถูกกว่า เพื่อให้ผู้ใช้ทั่วไปสามารถหาซื้อมาใช้กันได้ (มีแป้งโกะเป็นพรีเซนเตอร์ด้วยนะ)

สเปกของ X-T20 คือ

  • เซ็นเซอร์ X-Trans CMOS III ความละเอียด 24.3 Megapixel
  • จุดโฟกัส 325 จุด เทคโนโลยี intelligent hybrid phase
  • รองรับการถ่ายวิดีโอ 4K 30 fps 100 Mbps
  • หน้าจอแบบสัมผัส สามารถทิลท์ (ปรับองศา) ไปมาได้
  • ถ่ายภาพต่อเนื่อง 8 เฟรมต่อวินาที และ 14 เฟรมต่อวินาทีสำหรับการถ่ายแบบอิเล็กทรอนิกส์
  • 14 fps release time-lack 0.05 sec

ราคา

  • Fuji X-T20 บอดี้อย่างเดียว ราคา 33,990 บาท
  • Fuji X-T20 พร้อมเลนส์ Kit 16-50 ราคา 37,990 บาท
  • Fuji X-T20 พร้อมเลนส์ Kit 18-55 ราคา 45,990 บาท

Fujifilm Camera Pro Service Lens Rental

คุณสิทธิเวช เศวตรพัชร์ ผู้จัดการอาวุโส ผลิตภัณฑ์กล้องดิจิตอล อิมเมจจิ้ง ฟูจิฟิล์ม ประเทศไทย

ตั้งอยู่ที่ชั้น 1 ตึก IBM โดยมีช่อง Fast Track สำหรับกล้อง GFX โดยเฉพาะ มีช่างดูแลเป็นพิเศษ เพื่อสร้างความน่าเชื่อว่ากล้องระดับโปรจะได้รับบริการอย่างดี และซ่อมได้อย่างรวดเร็วในไทย ซึ่งถ้าซ่อมกล้องไม่ทันก็จะมีกล้องให้ยืมไปใช้แทนก่อน

นอกจากนี้ยังมีบริการเช่าเลนส์ (เฉพาะ GFX เท่านั้น ไม่รวม X-Series) เพื่อให้ช่างภาพสามารถเช่าเลนส์ที่ต้องการใช้ได้ โดยไม่ต้องลงทุนซื้อเลนส์ที่อาจใช้ไม่เยอะได้ โดยจะเริ่มต้นในเดือนพฤษภาคมนี้

ทำไม Fujifilm ต้องผลิตกล้อง Medium Format

คุณไทสุเกะ ทารุมิ กรรมการผู้จัดการ บริษัทฟูจิฟิล์ม (ประเทศไทย) จำกัด

เรื่องนี้ผู้บริหารของฟูจิอธิบายว่าที่ผ่านมาฟูจิมียอดขายกล้องเติบโตขึ้นตลอด แต่มูลค่ายังไม่เพิ่มขึ้นมากนัก แม้ว่าในปี 2016 จะสามารถขาย Mirrorless ได้ 80% และ DSLR ได้ 20% แต่ถ้าเทียบมูลค่ากันแล้วกลับพอๆ กัน เพราะกล้อง DSLR ยังตอบสนองความต้องการของลูกค้ามืออาชีพได้มากกว่า

ฟูจิจึงพัฒนากล้อง GFX สำหรับตลาดที่ต้องการคุณภาพสูงสุด และมีราคาสูงขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในกลุ่มนี้ และเพื่อขยายฐานให้มีมูลค่าตลาดสูงขึ้น