ภาครัฐ-ภาคอุตสาหกรรม เปิดมหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ “Bangkok International Digital Content Festival 2018” หรือ BIDC 2018 ภายใต้แนวคิด “Digital Carnival” ครั้งที่ 5 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 – 13 มิถุนายน 2561 ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ  เพื่อชูศักยภาพผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย และ กลุ่มดิจิทัล สตาร์ทอัพ เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศและต่อยอดเชิงธุรกิจ  ภาครัฐเดินเครื่องสนับสนุนและส่งเสริมพร้อมเปิดเวทีการเจรจาการค้าคาดเงินสะพัด 900 ล้านบาท พร้อมพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมไทยกับญี่ปุ่นและเกาหลี คาดกระตุ้นการสร้างมูลค่าให้กับประเทศในอนาคต

นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือ DITP กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า “การจัดงาน Bangkok International Digital Content Festival หรือ BIDC 2018 เป็นการร่วมมือระหว่างภาครัฐ และ ภาคอุตสาหกรรม โดยมี กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กับ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) รวมถึงหน่วยงานเอกชน 5 สมาคม ประกอบด้วย 1.สมาคมอีเลิร์นนิงแห่งประเทศไทย 2.สมาคมดิจิทัลคอนเทนท์ไทย 3.สมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย 4.สมาคม Bangkok ACM SIGGRAPH และ 5.สมาคมอุตสาหกรรมซอฟแวร์เกมไทย รวมทั้ง บริษัทด้านดิจิทัลคอนเทนต์กว่า 100 บริษัท เพื่อแสดงศักยภาพความพร้อมของประเทศไทยและพัฒนาให้ดิจิทัลคอนเทนต์ไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งสอดรับกับแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ Creative Economy ของรัฐบาลที่เน้นสร้างมูลค่าสินค้าหรือบริการที่เกิดจากการใช้องค์ความรู้ การใช้ความคิดสร้างสรรค์ การใช้ทรัพย์สินทางปัญญาตลอดจนภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยที่เชื่อมโยงกับนวัตกรรมสมัยใหม่ โดยอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์เป็น 1 ใน 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) และเป็นสาขาหนึ่งของ Creative Economy ที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย เพื่อก้าวไปสู่ Thailand 4.0

“ภายในงานจัดกิจกรรมเจรจาการค้าระหว่างผู้ประกอบการด้านดิจิทัลคอนเทนต์ของไทยและต่างชาติจาก ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย ฮ่องกง ไต้หวัน และใน CLMV รวม 38 ราย ที่จะเข้าร่วมเจรจาการค้าในงาน อาทิ CCTV ANIMATION เป็นสถานีโทรทัศน์รายใหญ่ที่มีผู้รับชมมากที่สุดในจีน , GRAVITY เกมสตูดิโอชั้นนำ ผู้พัฒนาและผลิตเกม Ragnarok จากเกาหลีใต้ และ ASTRO MALAYSIA สถานีโทรทัศน์จากประเทศมาเลเซีย คาดว่าจะเกิดมูลค่าการค้าประมาณ 900 ล้านบาท”

นอกจากนี้ทาง สมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย (TACGA) ยังได้ลงนามข้อตกลงการร่วม ลงทุนระหว่าง บริษัท TETERU (เทเทรุ) จากเกาหลีใต้ กับบริษัท EEZ Production Studios (อีซ โปรดักชั่น สตูดิโอ) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการของภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย เพื่อผลิตการ์ตูน 3D แอนิเมชั่น เรื่อง TETERU Secret of  Teddy Bear Village จำนวน 26 Episodes ภายใต้งบประมาณการผลิตรวมกว่า 2.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือมากกว่า 80 ล้านบาท และยังมีอีกหนึ่งความร่วมมือในการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่าง ภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย กับ Fukuoka creative content association (FCCA) เป็นสมาคมดิจิทัลจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นจังหวัดหนึ่งของญี่ปุ่นที่เป็นศูนย์รวมสตูและ creative ที่มีศักยภาพชั้นนำกว่า 100 สตูโอที่ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากรัฐบาลญี่ปุ่น นับเป็นการผนึกความร่วมมือที่จะนำไปสู่การพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทยสู่เวทีโลก

นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa และผู้แทนรัฐมนตรีว่ากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม  กล่าวว่า “Bangkok International Digital Content Festival หรือ BIDC 2018 เป็นกิจกรรมที่ขานรับนโยบาย Thailand 4.0 ที่มุ่งเน้นการนำนวัตกรรม เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในการพัฒนาและผลิตสินค้า หรือบริการใหม่ๆ จากธุรกิจเดิมให้มีมูลค่ามากขึ้น ซึ่งอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ เป็นหนึ่งในภารกิจของดีป้าในการส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มและเพิ่มโอกาสให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ  คาดว่าในปีนี้จะมีเม็ดเงินสะพัดประมาณ 26,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมของประเทศไทยที่สามารถเติบโตและส่งออกสร้างรายได้เข้าประเทศได้มหาศาล ทั้งนี้การจัดงาน BIDC 2018 เป็นการรวมผู้ประกอบการดิจิทัลคอนเทนต์ของประเทศไทย ที่เกี่ยวข้องกับภาพรวมใหญ่ของประเทศและเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ  อีกทั้งยังเป็นเวทีที่แสดงศักยภาพของอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทยสู่ตลาดโลกอีกด้วย”

นางเขมนรินทร์ รัตนาอัมพวัลย์ รักษาการแทนนายกสมาคมอีเลิร์นนิงแห่งประเทศไทย และในฐานะผู้แทนภาคอุตสาหกรรม และผู้แทนสมาคมผู้จัดงานฯ กล่าวว่า “งาน “Bangkok International Digital Content Festival 2018” ที่เกิดจากการผนึกกำลังของภาครัฐและภาคธุรกิจ เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวสู่ศูนย์กลางด้านดิจิทัลในภูมิภาคเอเซียและมี เป้าหมายขยายสู่ระดับโลก รวมถึงแนวโน้มของอุตสาหกรรมดิจิทัลมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งบทบาทของกลุ่มสมาคมได้ ดำเนินการสนับสนุน ช่วยเหลือด้านธุรกิจการค้าและการพัฒนาสินค้าแก่สมาชิก รวมถึงสร้างเครือข่ายทางธุรกิจทั้งในและ ต่างประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นตัวกลางระหว่างภาครัฐและผู้ประกอบการในการเชื่อมโยงทั้งสองส่วน เพื่อให้การขับเคลื่อน อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทยเติบโต  สอดรับกับนโยบายประเทศที่จะผลักดันให้อุตสาหกรรมดิจิทัลเป็นหนึ่งในการกระตุ้น เศรษฐกิจประเทศ เช่น การผสมผสานเทคโนโลยีแห่งอนาคต AI ปัญญาประดิษฐ์ AR-VR ความเป็นจริงเสมือน สภาพแวดล้อมเสมือน ตลอดจน Block chain ที่จะมาเป็นนวัตกรรมใหม่ในหลาย ๆ กลุ่มอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมกรรมด้านการเงิน เกมและการศึกษา Block chain เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการบริหารจัดการระบบ และมีข้อมูลที่เชื่อถือได้ เช่น การบริหารหลักสูตร ตั้งแต่เนื้อหา ผู้เรียน การประเมินผล เป็นต้น”