สำนักงานงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดพิธีมอบรางวัลนวัตกรรมประจำปี 2564 เนื่องใน “วันนวัตกรรมแห่งชาติ” ซึ่งตรงกับวันที่ 5 ตุลาคมของทุกปี เพื่อเชิดชูเกียรติคนไทยที่สร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมอันโดดเด่น และก่อให้เกิดคุณค่าต่อประเทศชาติในหลากหลายมิติ

อีกทั้งยังเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในฐานะ “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” โดยในวันนี้ได้รับเกียรติจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวแสดงความยินดีและปาถกฐาพิเศษ

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัลนวัตกรรมประจำปี 2564 ซึ่งถือเป็น “นวัตกร” และ “องค์กรนวัตกรรม” ที่เป็นแบบอย่างและเหมาะสมในการเชิดชูเกียรติในฐานะที่ประสบความสำเร็จด้านนวัตกรรม และเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับบุคคลอื่น

“ประเทศไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อเศรษฐกิจ สังคม และความเป็นอยู่ของประชาชน ประกอบกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นทั่วโลก สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่กำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสังคมไทยและอนาคตของประเทศ ทำให้ “นวัตกรรม” กลายเป็นสิ่งสำคัญในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ รัฐบาลจึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งและถือเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องนำพาประเทศไปสู่ “ประเทศฐานนวัตกรรม” พร้อมทั้งได้กำหนดไว้ในเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ 20 ปี คือ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

ดังนั้น การสร้างและเพิ่มจำนวน “นวัตกร” และ “องค์กรนวัตกรรม” จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น และถือเป็นภารกิจสำคัญของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการพัฒนาบุคลากร ทรัพยากร และองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมที่สามารถขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวกระโดด ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าประเทศไทยเรามีบุคลากรและองค์กรที่มีศักยภาพอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งการจัดประกวดรางวัลนวัตกรรมครั้งนี้ จะเป็นเวทีสำคัญที่ทำให้คนไทยและสังคมไทยได้รับรู้ถึงศักยภาพด้านนวัตกรรมของประเทศไทย และเป็นแรงบันดาลใจให้กับบุคคลและองค์กรอื่นได้คิดสร้างสรรค์และขับเคลื่อนประเทศไทยด้วย “นวัตกรรม” ไปด้วยกัน”

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวถึงการจัดงานในครั้งนี้ว่า “การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้มีเสถียรภาพอย่างยั่งยืนตามแนวทางในยุทธศาสตร์ชาตินั้น จำเป็นต้องอาศัยความรู้และความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรม รวมถึงการพัฒนากำลังคนที่เหมาะสม เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการนำพาประเทศให้หลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง โดยยุทธศาสตร์ชาติได้ระบุวาระการพัฒนาที่เน้นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation-driven Economy) ด้วยเหตุนี้ กระทรวง อว. จึงมุ่งเน้นการบ่มเพาะและพัฒนาขีดความสามารถผู้ประกอบการนวัตกรรม การพัฒนาระบบนิเวศทางนวัตกรรมในด้านต่าง ๆ ให้เอื้อต่อการสร้างและแปลงนวัตกรรมสู่มูลค่าทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางสังคม การใช้องค์ความรู้ ผลงานวิจัย และนวัตกรรม/ เพื่อช่วยประชาชน สังคม และภาคธุรกิจ ขณะเดียวกันจะสร้างกลไกความร่วมมือในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมชั้นแนวหน้าระดับสากล มาพัฒนาและประยุกต์ใช้เสริมศักยภาพการพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรมภายในประเทศ

กระทรวง อว. เชื่อมั่นว่าการจัดงาน “วันนวัตกรรมแห่งชาติ” จะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะสร้างความตระหนัก ผลักดันและกระตุ้นให้เกิดการคิด พัฒนา และต่อยอดนวัตกรรมของคนไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศได้อย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม และถือเป็นเวทีในการสื่อสารและสร้างการรับรู้ถึงศักยภาพของผู้ประกอบการ หน่วยงาน และนวัตกรไทย ให้เห็นว่าประเทศไทยและคนไทยสามารถสร้างและพัฒนานวัตกรรมที่ทัดเทียมกับนานาประเทศชั้นนำด้านนวัตกรรมได้”

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ NIA กล่าวว่า “กิจกรรม “วันนวัตกรรมแห่งชาติ” ถือเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของ NIA ที่จัดขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในฐานะ “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” ซึ่งตรงกับวันที่ 5 ตุลาคมของทุกปี โดยจะมีพิธีมอบ “รางวัลนวัตกรรม” ที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 17 เพื่อเชิดชูเกียรติแก่ผู้ริเริ่มสร้างสรรค์นวัตกรรมในหลากหลายด้าน และกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวด้านนวัตกรรมขึ้นในประเทศ หน่วยงานทุกภาคส่วนเกิดแรงบันดาลใจในการริเริ่มสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ และสร้างให้เกิดความภาคภูมิใจในศักยภาพด้านนวัตกรรมที่สร้างสรรค์โดยคนไทย เพื่อคนไทย และคนทั่วโลก ซึ่งมีผลงานส่งเข้าร่วมประกวดทั้งสิ้น 910 ผลงาน และต้องขอแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัลนวัตกรรมประจำปี 2564 ดังนี้

รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติด้านเศรษฐกิจ

  • รางวัลชนะเลิศประเภทวิสาหกิจขนาดกลาง ได้แก่ ผลงาน: นวัตกรรมอาหารและเครื่องดื่มพร้อมทานที่ทำจากพืชเพื่อสุขภาพ โดย บริษัท วี ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด
  • รางวัลชนะเลิศประเภทวิสาหกิจขนาดย่อมและวิสาหกิจรายย่อย ได้แก่ ผลงาน: ลู่วิ่งในน้ำสำหรับสัตว์เลี้ยง โดย บริษัท เพ็ททาเนียร์ จำกัด

    รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
  • รางวัลชนะเลิศประเภทหน่วยงานภาคเอกชน ได้แก่ ผลงาน: โครงการพัฒนาระบบการจัดการข้อมูลสำหรับผู้พิการ โดย บริษัท วัลแคน โคอะลิชั่น จำกัด
  • รางวัลชนะเลิศประเภทหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ ผลงาน: เอนอีซ-เอนไซม์อัจฉริยะเพื่อกระบวนการผลิตสิ่งทอที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • รางวัลชนะเลิศประเภทองค์กรเพื่อสังคมและชุมชน ได้แก่ ผลงาน: ระบบติดตามการเกิดไฟจากดาวเทียมผ่านสมาร์ทโมบาย โดย หจก. เติมเต็มวิสาหกิจเพื่อสังคม

    รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ
  • รางวัลชนะเลิศประเภทการออกแบบผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ผลงาน: ระบบนิเวศอัจฉริยะ โดย บริษัท ฉลาด อินโนเวชั่น จำกัด
  • รางวัลชนะเลิศประเภทการออกแบบบริการ ได้แก่ ผลงาน: แพลตฟอร์ม เวิร์คเพลสพลัส โดย บริษัท เอ็กซ์ซี จำกัด

    รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติด้านสื่อและการสื่อสาร
  • รางวัลชนะเลิศประเภทผลงานนวัตกรรมสื่อและการสื่อสาร ได้แก่ ผลงาน: โพธิ เธียเตอร์ โดย บริษัท วาย น็อต โซเชี่ยล เอ็นเตอร์ไพร์ส จำกัด
  • รางวัลเชิดชูเกียรติประเภทผู้สื่อสารนวัตกรรม ระดับบุคคลธรรมดา ได้แก่ ดร.ปานระพี รพิพันธุ์
  • รางวัลเชิดชูเกียรติประเภทผู้สื่อสารนวัตกรรม ระดับนิติบุคคล ได้แก่ บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด

    รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติด้านองค์กรนวัตกรรมดีเด่น
  • รางวัลดีเด่นประเภทองค์กรภาคเอกชนขนาดใหญ่ ได้แก่ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
  • รางวัลดีเด่นประเภทองค์กรภาคเอกชนขนาดกลาง ได้แก่ บริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ จำกัด
  • รางวัลดีเด่นประเภทองค์กรภาครัฐ ราชการ และประชาสังคม ได้แก่ กรมสรรพากร และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

    รางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย
  • รางวัลชนะเลิศระดับปริญญาตรี หรือ ปวส. ได้แก่ ผลงาน: อุปกรณ์ขยายผนังหัวใจห้องบนจากโลหะผสมจำรูปสำหรับรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว โดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือ ปวช. ได้แก่ ผลงาน: ผ้าอนามัย Greeny โดย โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และ International Community School

    รางวัล NIA Creative Contest 2020
  • รางวัลชนะเลิศ ภาพยนตร์สั้นยอดเยี่ยม ได้แก่ ผลงาน: HUMAN – W022 โดยทีม Early twenties (or younger?)

    รางวัลนวัตกรรมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
  • รางวัลชนะเลิศ ประเภทบุคคลทั่วไป ได้แก่ ผลงาน: โครงการการพัฒนาการตรวจจับข่าวปลอมโดยการเรียนรู้ของเครื่องและการตรวจสอบข้อเท็จจริงของประชาชน (Thai D.I. Machine) โดย คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • รางวัลชนะเลิศ ประเภทเยาวชน ได้แก่ ผลงาน: โครงการการพัฒนาบอร์ดเกมเพื่อเพิ่มทักษะการรู้เท่าทันสื่อ (The Rumor Villages) โดย ผศ.ภณิดา แก้วกูร

จะเห็นได้ว่า การประกวดรางวัลนวัตกรรมที่ NIA ร่วมจัดกับหน่วยงานชั้นนำทั้งภาคเอกชน ภาคสังคม และภาคการศึกษานั้น เปิดกว้างครอบคลุมตั้งแต่ระดับนักเรียนนักศึกษา นักออกแบบ นักวิชาการ ผู้ประกอบการ ชุมชน ไปจนถึงระดับองค์กร ทุกระดับสามารถส่งผลงานเข้าร่วมแข่งขัน ผลงานนวัตกรรมมีความหลากหลาย และสามารถเชื่อมโยงได้กับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศิลปะ ดนตรี รวมไปถึงภาคประชาชนและสังคม” ดร.พันธุ์อาจ กล่าว