สภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมแห่งประเทศไทย ได้จัดเสวนาพิเศษเรื่อง “ฝุ่น PM 2.5 จะผ่านไป แล้วไงต่อ?” โดยได้พูดถึงแนวทางการออกแบบเมือง อาคาร บ้านพักอาศัย เพื่อรับมือวิกฤตฝุ่นละออง PM 2.5 จากมุมมองด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบ

  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อันธิการ สวัสดิ์ศรี ประธานสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย และคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เปิดเผยว่า ทำไมสถาปัตยกรรมและการออกแบบถึงมาพูดเรื่องฝุ่น PM 2.5 ที่กำลังเป็นกระแสบนโลกโซเชียลมีเดีย โดยให้เหตุผลว่า เพราะวิกฤตฝุ่นนั้นเกี่ยวข้องกับบุคคลในทุกภาคส่วน ไม่เพียงแค่สถาปัตย์เท่านั้น และมีโอกาสที่จะซึมซับเข้าสู่ร่างกาย ดังนั้นการออกแบบด้านสถาปัตยกรรมจึงนำมาช่วยในการป้องกันและปกป้องคนในครอบครัวจากละอองฝุ่นได้

(ผู้หญิง) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อันธิการ สวัสดิ์ศรี ประธานสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย และคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

ประเด็นที่น่าสนใจในการออกแบบ คือการออกแบบบ้านซึ่งเป็นหน่วยที่อยู่อาศัยที่ใกล้เรามากที่สุดและเล็กที่สุด เราสามารถทำอะไรกับบ้านของเราได้บ้าง เครื่องกรองอากาศ การออกแบบอาคารโดยดูทิศทางของแดดและลม การเอาต้นไม้มาช่วยในการกรองอากาศ โดยกล่าวเสริมในประเด็นเรื่องฝุ่นเพิ่มเติมว่า ไม่ใช่เพียงแค่รถยนต์ที่สร้างฝุ่นดังกล่าวอย่างเดียว สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็สร้างฝุ่นด้วยเช่นกัน เช่น บ้านที่ไม่ได้ทำความสะอาดเป็นเวลานาน หรือช่องเล็ก ๆ ระหว่างเฟอร์นิเจอร์ ดังนั้นต้องวางให้มีช่องเปิดรับลม เช่น ห้องนอนผู้สูงอายุ ตอนแรกตั้งไว้ในทางทิศตะวันออก หรือเหนือ เพื่อรับลมและอากาศที่ถ่ายเท ช่วยในการหายใจ อาจต้องเปลี่ยนมาตั้งไว้ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้แทน และเอาต้นไม้มาช่วยในการกันลมพัดพาฝุ่นมา โดยหาต้นไม้ที่ไม่ต้องการแดดจัดและสามารถดักจับฝุ่นได้

จากงานวิจัยการนำต้นไม้มาช่วยกรองอากาศ ช่วยสร้างความขื้น โดยต้องดูว่าต้นไม้ประเภทไหนช่วยกรองฝุ่น 2.5 ได้ โดยดูที่ใบ ใบที่ดีต้องมีสักษณะคล้ายใบสน ใบเล็กแหลม และแน่น แต่บ้านเรามีต้นไม้ประเภทนี้ไม่เยอะ จึงแนะนำให้ปลูกต้นเข็มเล็ก ช่วยในการดักจับฝุ่นได้ โดยเฉพาะในเมืองที่มีการชุมนุมของฝุ่นเป็นจำนวนมาก ควรตกแต่งด้วยต้นไม้ โดยอาจจะนำมาประดับตกแต่งผนัง แทนการใช้กระเบื้อง และยังเป็นอีกหนทางที่ช่วยให้เมืองร่มรื่นและเพิ่มความชื้นในอากาศมากขึ้นอีกด้วย

(กลาง) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พลเดช เชาวรัตน์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อาสาฬห์ สุวรรณฤทธิ์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และภูมิสถาปนิก กล่าวเสริมด้านภูมิสถาปัตย์ว่า เมืองมีความหนาแน่นค่อนข้างสูง และมีพื้นที่สีเขียวน้อยต่อพื้นที่ทั้งหมด เช่น ในกรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวเพียง 10% ต่อพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งหากเปรียบเทียบกับ สิงคโปร์มีพื้นที่สีเขียว 47% ต่อพื้นที่ทั้งหมด การวางเมืองในพื้นที่ว่างให้มีพื้นที่สีเขียวเพื่อกรองฝุ่นที่ลอยอยู่ในอากาศมีความจำเป็น โดยกรุงเทพฯ มีความหนาแน่นสูงแต่ช่องว่างน้อยมาก ทำให้ช่วงที่มีปัญหาด้านมลภาวะ จึงสร้างปัญหา และส่งผลกระทบต่อเราอย่างมาก ซึ่งภูมิสถาปนิกจึงมาช่วยในเรื่องดังกล่าว ในการจัดการพื้นที่สีเขียว เช่น การสร้างเมืองอยู่ในสวน ซึ่งพื้นที่สีเขียวควรมี 9 ตร.ม./คน และควรกระจายและแทรกในตัวเมืองให้ช่วยเป็นฟิลเตอร์กรองอากาศ ซึ่งในยุทธศาสตร์ 20 ปี ก็มีพูดถึงพื้นที่สีเขียว แต่อยู่ในช่วงเริ่มต้น อาจจะต้องเริ่มปรับปรุงยุทธศาสตร์ให้เร็วขึ้นต่อไป
  • ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พลเดช เชาวรัตน์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวเพิ่มเติมว่า ในประเทศเยอรมนีนั้นมีปัญหาฝุ่นมาก่อนเราหลายปี โดยเยอรมนีเป็นประเทศอุตสาหกรรม จึงเป็นสาเหตุสำคัญในการเกิดวิกฤตการณ์ดังกล่าว การปรับที่ผังเมือง การพัฒนาระดับย่านจึงมีความสำคัญและต้องรีบเร่งแก้ไข เช่น การปรับให้แหล่งอำนวยความสะดวกเดินไปถึงได้ โดยไม่ต้องใช้รถ การใช้แนวคิดเมืองต้องเติบโตพร้อมพื้นที่สีเขียว คนเดินไม่เกิน 500 เมตรต้องเจอต้นไม้ เจอสวน เพราะสัตว์และแมลงทำหน้าที่สำคัญในระบบนิเวศน์ การเพิ่มและลดอุณหภูมิในเมืองนอกเมือง และระบบการขนส่ง มีการจำกัดการใช้รถยนต์ ห้ามรถยนต์ที่ไม่มีมาตรฐานเข้าเมืองในโซนที่กำหนด และใช้จักรยานในการเดินทางมากขึ้นหากมีการปรับผังเมือง

(ขวาสุด) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อาสาฬห์ สุวรรณฤทธิ์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และภูมิสถาปนิก

นี่เป็นโอกาศในการปรับเปลี่ยนคุณภาพชีวิตของคนในสังคม หากไม่มีปัญหาก็จะไม่มีทางแก้ไข เราสามารถนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาช่วย เช่น การกรองอากาศจากข้างนอกสู่ข้างใน เช่น การใช้ ภูมิทัศน์ข้างนอกเพื่อกรองอากาศ และนำเข้าสู่ภายในบ้าน

งานนี้ไม่ใช่เพียงเราคนเดียว ทุกคนมีส่วนรวมกันหมด เรามามองตัวเองว่าเราทำให้สิ่งแวดล้อมกระทบอะไรบ้าง หันมาดูแลบ้านตัวเอง ทำความสะอาดรถยนต์นำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาช่วยส่งคม ทำหน้าที่ต่อตัวเองและสังคม

สรุปเสวนาครั้งนี้ได้ความว่า…เมื่อเกิดวิกฤตที่เกี่ยวข้องกับทุกคน เราควรมาดูตัวเอง ทำอะไรได้บ้าง เพราะทุกคนมีบทบาทและหน้าที่ในตนเองต่อสังคม สื่อทุกท่านมีส่วนช่วยในการให้ข้อมูล เพราะเป็นกระบอกเสียง ให้คนตระหนักไม่ใช่ตระหนก ค่อย ๆ ทำไปทีละก้าว ประชาชนกับรัฐช่วยกัน รัฐก็มีงานน้อยลง โดยในวันนี้ เริ่มจากตัวเองก่อน ทำความสะอาดบ้านของตนให้สะอาด เริ่มจากจุดเล็ก ๆ ที่ทุกท่านสามารถทำเองได้ที่บ้านของตน