ช่วงนี้พบว่ามีการขายอุปกรณ์ที่เรียกว่า “ตัวกรองจมูก (Nasal Filter)” สำหรับใส่จมูกเพื่อกรองฝุ่นละอองในอากาศ ซึ่งกำลังได้รับความนิยมพอสมควรนอกจากหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากชนิด N95 แต่ล่าสุดมีการพบว่า “ไม่สามารถแทนหน้ากากได้”

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ สาขาวิชาอายุรศาสตร์โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤติ ได้ให้ข้อมูลว่า

“ตัวกรองจมูก (Nasal Filterมีคุณสมบัติในการช่วยลดฝุ่น ควันก่อนเข้าสู่ช่องจมูก ซึ่งมีจุดประสงค์หลักในการผลิต ลดการหายใจเอาสารที่ทำให้เกิดภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกาย ซึ่งลดปริมาณของฝุ่นหรือสารภูมิแพ้ซึ่งเข้ามาทางจมูกได้ แต่ก็มีสิ่งที่เป็นผลตามมาคือ เมื่อใช้แล้วจะหายใจนำลมเข้าจมูกได้น้อยลง ส่งผลให้หายใจทางปากมากขึ้น”

รศ.นพ.ฉันชาย กล่าวว่ามีคนจำนวนมากเข้าใจผิดคิดว่าอุปกรณ์นี้จะกรองฝุ่น PM 2.5 ได้ดี แต่จริงๆ นั้นอุปกรณ์ประเภทนี้กรองได้เฉพาะทางจมูกเท่านั้น ทำให้เวลาอ้าปาก หรือต้องหายใจทางปาก ก็จะมีฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเป็นฝุ่นขนาดจิ๋วเข้าสู่ร่างกายได้อยู่ดี

ดังนั้นการใช้หน้ากากยังถือว่าเหมาะสมกว่า และควรตระหนักว่าเราอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ เช่นเป็นโรคถุงลมโป่งพอง หรือโรคหอบหืด ก็ควรที่จะลดกิจกรรมกลางแจ้ง แม้ว่าจะเป็นในช่วงที่ค่าฝุ่นละอองอยู่ในระดับมาตรฐานก็ตาม และอีกกลุ่มเสี่ยงก็คือเด็กเล็กนั่นเอง

สำหรับคนที่ไม่ได้มีความเสี่ยง ฝุ่น PM 2.5 สามารถป้องกันได้โดยการทำให้รับเข้าสู่ร่างกายให้น้อยที่สุด ซึ่งการใช้หน้ากากยังป้องกันได้ดีกว่า หรือว่าวางแผนการใช้ชีวิตให้ได้รับฝุ่นประเภทนี้น้อยที่สุด รวมถึงทุกภาคส่วนทั่วประเทศต้องให้ความร่วมมือในการจัดการปัญหาอย่างถูกวิธี เช่นการปลูกต้นไม้ใหญ่ที่มีใบเยอะ จะช่วยดูดซึมสารพิษโมเลกุลเล็กได้

ที่มา: Facebook Pages อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์