ในสภาพไร้น้ำหนักนักบินอวกาศจำเป็นจะต้องปรับพฤติกรรมมากมายเพื่อปรับตัวให้มีชีวิตรอด ตั้งแต่การกิน การนอน ไปจนการขับถ่าย และออกกำลังกาย แต่หากการปฏิบัติภารกิจที่พวกเขาต้องใช้ชีวิตอยู่ในสภาพไร้แรงโน้มถ่วงเป็นเวลานาน ร่างกายจะได้รับผลกระทบจากการขาดแรงโน้มถ่วงแน่ๆ

โดยปกติแล้วแรงโน้มถ่วงมีผลต่อร่างกายเราในหลายทาง แต่หนึ่งสิ่งที่ NASA และ ESA (องค์การอวกาศยุโรป) ให้ความสนใจคือ ระบบหมุนเวียนเลือด และ ระบบกล้ามเนื้อ Spacelab Life Sciences เคยรายงานถึงการตอบสนองของเซลล์เม็ดเลือดขาว และมวลกล้ามเนื้อของนักบินอวกาศชายหญิง พบว่าปริมาณเลือด และมวลกล้ามเนื้อของพวกเขาลดลง และยังส่งผลเรื้อรังแม้กระทั่งพวกเขากลับลงมายังโลกแล้ว

NASA และ ESA จึงทำการทดลองสร้างแรงโน้มถ่วงเทียมขึ้นมาเพื่อศึกษาว่ามันสามารถแก้ปัญหาสุขภาพ จากสภาวะไร้น้ำหนักหากนักบินทำงานบนอวกาศเป็นเวลานานได้หรือไม่ (เอาจริงๆมันไม่ได้เป็นแรงโน้มถ่วงเทียมแบบในหนังที่เราเคยเข้าใจกัน แต่มันเหมือนเครื่องปั่นเหวี่ยงมากกว่า) NASA และ ESA จะให้อาสาสมัครจากศูนย์การบินและอวกาศเยอรมัน นอนบนเครื่องปั่นเหวี่ยงนี้วันละ 1 ครั้ง เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม จนครบ 60 วัน เพื่อดูว่าหลักการสร้างแรงโน้มถ่วงจากการเหวี่ยง จะสามารถส่งเลือดที่ศีรษะของเขา ลงไปยังขา แก้ไขในเรื่องกล้ามเนื้อ และระบบหมุนเวียนเลือดได้หรือไม่ เครื่องสร้างแรงโน้มถ่วงนี้สามารถปรับระดับความเร็วการหมุน ตำแหน่งจุดหมุนได้เพื่อทดสอบหาตำแหน่ง และ ความเร็วที่เหมาะสมที่สุดจากการทดลอง

ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร การทดลองนี้เป็นเพียงการหาแนวโน้มความเป็นไปได้ และผลลัพธ์ที่เกิดกับร่างกายมนุษย์เพื่อเตรียมรองรับภารกิจที่ต้องเดินทางในอวกาศเป็นเวลานาน อย่างเช่นการเดินทางไปยังดาวอังคารเป็นต้น

อ้างอิง