นี่เป็นงานวิจัยชิ้นแรกที่เปิดเผยข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับไขมันตัวร้ายที่อยู่ในร่างกายของเรา นอกจากมันจะสามารถสะสมในตับ และส่งผลเสียต่อระบบไหลเวียนโลหิตแล้ว ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์เผยว่า มันสามารถเข้าสะสมที่ผนังทางเดินหายใจของคุณ และทำให้ปอดของคุณทำงานได้ไม่เต็มที่อีกด้วย

เป็นที่รู้กันมานานว่ากลุ่มคนที่มีภาวะ obese (น้ำหนักเกิน) จะมีอัตราการเป็นโรคหอบหืดมากกว่าคนที่มีน้ำหนักปกติ แต่เป็นเวลาหลายปีที่ความเชื่อมโยงระหว่างโรคหอบ และความอ้วนยังไม่เป็นที่แน่ชัด บ้างก็ว่า เพราะน้ำหนักมากเกินไปส่งผลโดยตรงต่อแรงดันในปอดทำให้หายใจลำบาก บ้างก็ว่าโรคอ้วนทำให้เกิดการอักเสบทั่วร่างกายจึงก่อให้เกิดโรคหอบหืดได้ง่ายขึ้น

เนื้อเยื่อไขมัน

แต่เมื่อวันที่ 17 ตค. ที่ผ่านมาวารสาร European Respiratory ได้ตีพิมพ์เรื่องราวการค้นพบใหม่ที่ค้นคว้าร่วมกับ Peter Noble ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย Western Australia ใน Perth เขาได้กล่าวในงานแถลงไว้ว่า การสะสมของไขมันสามารถเปลี่ยนโครงสร้างของผนังทางเดินหายใจในลักษณะของการเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหอบได้ง่ายมากขึ้น แต่นี่เป็นการค้นพบเบื้องต้นงานยังคงต้องศึกษาหาความสัมพันธ์ในเรื่องของการลดน้ำหนักเพื่อลดอาการหอบ และการเกิดโรคหอบจากเนื้อเยื่อไขมันให้แน่ชัดอีกที

แต่ไม่ใช่ว่าข้อมูลที่นักวิจัยกล่าวมาเขาจะยกกันมามั่ว ๆ เพราะก่อนหน้านี้ John Elliot นักวิจัยอาวุโสจากโรงพยาบาล Gairdner ได้ทำการตั้งสมมุติฐานและพิสูจน์ในเบื้องต้นมาแล้ว

Noble,Elliot และทีมได้ทำการศึกษาเนื้อเยื่อในศพของผู้เสียชีวิต 52 คน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม

  1. คือคนที่เสียชีวิตจากโรคหอบ จำนวน 16 ราย
  2. ผู้ที่เป็นโรคหอบแต่เสียชีวิตจากสาเหตุอื่น จำนวน 21 ราย
  3. ผู้ที่ไม่เป็นโรคหอบก่อนเสียชีวิต จำนวน 15 ราย

เมื่อเค้าได้ทำการผ่าพิสูจน์ และนำเนื้อเยื่อมาส่องกล้องเขาพบว่าทุกๆ คนล้วนมีไขมันสะสมในเนื้อเยื่อ แต่ปริมาณมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับ BMI ของผู้ตาย ยิ่งมี BMI มาก ก็ยิ่งมีไขมันสะสมที่มากขึ้นซึ่งนำไปสู่การเพิ่มชั้นไขมันในระบบทางเดินหายใจได้มากขึ้นเช่นกัน นี่อาจเป็นสาเหตุว่าทำไมคนอ้วนถึงต้องหายใจหอบถี่ขึ้นเมื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ เพราะไขมันสะสมในทางเดินหายใจพวกเขาจึงต้องพยายามหายใจมากกว่าคนปกติเพื่อเอาอากาศเข้าไปนั่นเอง

การค้นพบนี้ยังคงต้องหาข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนยิ่งขึ้นแต่ในเบื้องต้น เรารู้แล้วว่าโรคอ้วนมีความสัมพันธ์กับโรคหอบหืดอย่างไร และมันอาจเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะช่วยบรรเทาอาการหอบหืดที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยได้ในอนาคต

อ้างอิง Livescience

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส