หลายคนคงอินจัดกับซีรีส์ Kingdom 2 ที่ปล่อยมาพอเหมาะพอเจาะกับการระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งพ่ายต่ออุณหภูมิความร้อนเฉกเช่นเดียวกับเชื้อซอมบี้ในเรื่อง ก็ไม่รู้ว่าอุณหภูมิความร้อนในเมืองไทย ณ ขณะนี้จะช่วยทำให้สถานการณ์โควิดดีขึ้นเหมือนซีรีส์หรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ วันที่ 20 มีนาคม 2563 นี้ เราจะได้พบกับช่วงเวลากลางวันยาวนานเท่ากับกลางคืน หรือ “วันวสันตวิษุวัต” กันแน่นอน สำหรับประเทศไทย วันดังกล่าว ดวงอาทิตย์ขึ้นเวลาประมาณ 06.22 น. และจะตกลับขอบฟ้า เวลาประมาณ 18.29 น. (เวลา ณ กรุงเทพมหานคร) นั่นหมายความว่า ช่วงเวลาที่ความร้อนจากดวงอาทิตย์จะสาดส่องมายังผิวโลกยาวนานขึ้นนั่นเอง (มาเถอะ ถ้าจะมาช่วยฆ่าเชื้อได้ก็มาเลยจ้าาา)

“วสันตวิษุวัต” คืออะไร ?

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) อธิบายว่า คำว่า “วิษุวัต” (Equinox) ใน “วสันตวิษุวัต” (อ่านว่า วะ-สัน-ตะ-วิ-สุ-วัด) (Vernal Equinox) เป็นภาษาสันสกฤตหมายถึง จุดที่ดวงอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลกพอดี ภาษาไทยแปลว่า “ราตรีเสมอภาค” เกิดจากแต่ละวันดวงอาทิตย์จะปรากฏในตำแหน่งที่ต่างกัน เปลี่ยนตำแหน่งไปประมาณวันละ 1 องศา เมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนมา ณ ตำแหน่งตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลก ส่งผลให้ดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกและตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกพอดี จึงมีช่วงเวลากลางวันยาวเท่ากับกลางคืน นับเป็นวันเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิของประเทศทางซีกโลกเหนือ เข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงของประเทศในซีกโลกใต้ และหลังจากนี้ ช่วงเวลาในยามกลางวันก็จะยิ่งยาวขึ้นไปเรื่อย ๆ และจะยาวที่สุดในวันครีษมายันในเดือนมิถุนายน

ในหนึ่งปี โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี โลกจึงมีระยะห่างจากดวงอาทิตย์ไม่เท่ากัน ช่วงใกล้ที่สุดประมาณต้นเดือนมกราคม (147 ล้านกิโลเมตร) และช่วงไกลที่สุดประมาณต้นเดือนกรกฎาคม (ระยะห่างเฉลี่ย 152 ล้านกิโลเมตร) หลายคนอาจคิดว่า ระยะที่ต่างกันนี้ส่งผลต่อการเกิดฤดูกาล แต่แท้จริงแล้ว ความแตกต่างของระยะทางใกล้-ไกล ของการโคจรโลกรอบดวงอาทิตย์นี้ ถือเป็นอัตราส่วนที่น้อยมากๆ ไม่มีผลต่อการเกิดฤดูกาลแต่อย่างใด สิ่งที่ทำให้เกิดฤดูกาลคือ การที่แกนโลกเอียงทำมุม 23.5 องศา กับแนวตั้งฉากกับระนาบโคจรของดวงอาทิตย์ ทำให้พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกรับแสงอาทิตย์ได้ในปริมาณไม่เท่ากันส่งผลให้มีอุณภูมิต่างกัน รวมถึงมีระยะเวลากลางวันและกลางคืนที่ต่างกันด้วย เป็นเหตุให้เกิดฤดูกาลขึ้นบนโลก สังเกตได้ว่าในฤดูร้อนเวลากลางวันจะยาวกว่ากลางคืน ดวงอาทิตย์จะขึ้นเร็วและตกช้า ส่วนในฤดูหนาวเวลากลางคืนจะยาวนานกว่ากลางวัน ดวงอาทิตย์จะขึ้นช้าและตกเร็ว 

นอกจากวัน “วสันตวิษุวัต” ยังมีปรากฎการณ์อื่นๆ อีกหรือไม่ ? 

ในปีนี้ ยังมีปรากฏการณ์สำคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์ ได้แก่

  • วันครีษมายัน (ครีด-สะ-มา-ยัน) (Summer Solstice) ในปี 2563 ตรงกับวันที่ 21 มิ.ย. เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันยาวที่สุดในรอบปี สำหรับประเทศทางซีกโลกเหนือ นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ช่วงกลางวันจะสั้นที่สุดในรอบปี นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว
  • วันศารทวิษุวัต (สาด-ทะ-วิ-สุ-วัด) (Autumnal Equinox) ในปี 2563 ตรงกับวันที่ 22 ก.ย. เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันเท่ากับกลางคืนพอดี นับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง ส่วนซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ
  • วันเหมายัน (เห-มา-ยัน) (Winter Solstice) ในปี 2563 ตรงกับวันที่ 21 ธ.ค. เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันสั้นที่สุดและกลางคืนยาวที่สุดในรอบปี หรือที่คนไทยเรียกว่า “ตะวันอ้อมข้าว” สำหรับประเทศทางซีกโลกเหนือ นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ ช่วงกลางวันจะยาวที่สุดในรอบปี นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน

แม้ยังไม่รู้ว่า กลางวันที่ยาวนานขึ้นจะช่วยทำให้การระบาดของโรคทุเลาได้จริงหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ 20 มีนาคม 63 กลางวันจะยาวเท่ากลางคืนแน่นอน อย่างน้อยก็มีเวลาตากเสื้อผ้าฆ่าเชื้อเพิ่มละนะ

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส