แฟนแอนิเมะ ‘Your name’ หรือภาพยนตร์ ‘รถไฟฟ้ามาหานะเธอ’ คงจำฉากตรึงใจที่ดาวหางผาดผ่านท้องฟ้ายามสนธยาในเรื่องได้เป็นอย่างดี เพราะช่างเป็นฉากที่ดูมีความหวังเปี่ยมไปด้วยความโรแมนติกเสียนี่กระไร ด้วยสถานการณ์ในตอนนี้ เราต่างปลอบประโลมใจด้วยซีรีส์บ้าง ภาพยนตร์ออนไลน์บ้าง แต่จะดีกว่าไหม ถ้าเราได้เห็นภาพแห่งความหวังในโลกแห่งความเป็นจริงกันบ้าง คำภาวนานั้นเป็นจริงแล้ว ไม่ต้องรอโปรดักชันสร้าง เพราะ C/2019 Y4 หรือ ATLAS ดาวหางตัวจริง จะโผล่มาให้กำลังใจในเดือนเมษายนนี้

ดาวหาง C/2019 Y4 (ATLAS) พิเศษอย่างไร ?

นายสิทธิพร เดือนตะคุ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) เผยว่า กล้องโทรทรรศน์ในโครงการแอตลาส (Asteroid Terrestrial-impact Last Alert System ; ATLAS) ตั้งอยู่บนหมู่เกาะฮาวาย ค้นพบดาวหางดวงนี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2562 ขณะนั้นมีความสว่างน้อยเพียงแมกนิจูด 19 จึงเป็นเพียงดาวหางดวงหนึ่งที่พบได้ทั่วไป แต่เมื่อเข้าสู่ปี 2563 ความสว่างของดาวหางดวงนี้กลับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนคาดว่าอาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก 

ก่อนหน้านี้ ดาวหางที่เห็นได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจนในประเทศไทย คือดาวหางเฮล-บอปป์ (Hale-Bopp) เมื่อปี 2539 มีค่าความสว่างปรากฏที่แมกนิจูด -1.3 (ความสว่างปรากฏของวัตถุท้องฟ้าที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มีค่าประมาณ 6 ส่วนค่าความสว่างปรากฏของดวงจันทร์เต็มดวงประมาณ -12.6 ยิ่งค่าแมกนิจูดน้อยยิ่งปรากฏสว่างมาก) นายเซอิจิ โยชิดะ นักล่าดาวหางชื่อดังของญี่ปุ่น คาดการณ์ว่าดาวหาง C/2019 Y4 (ATLAS) อาจสว่างได้ถึงระดับ แมกนิจูด -2 หมายความว่าดาวหางดวงนี้อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และอาจสว่างกว่าดาวหางเฮล-บอปป์เสียอีก ส่งผลให้นักดาราศาสตร์ทั่วโลกต่างร่วมกันจับตามองดาวหางดวงนี้

ภาพกราฟแสดงค่าความสว่างของดาวหาง C/2019 Y4 (ATLAS) ที่คาดการณ์ไว้ (เส้นสีแดง) เทียบกับผลการสังเกตการณ์จริง (จุดสีดำ) 

โดย เซอิจิ โยชิดะ นักล่าดาวหางชื่อดังของญี่ปุ่น (ภาพจาก www.aerith.net)

เราจะเห็นดาวหางนี้เมื่อไหร่ ?

ขณะนี้ดาวหาง C/2019 Y4 (ATLAS) กำลังโคจรเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน และมีค่าความสว่างเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อดาวหางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มาก ก็จะยิ่งสว่างมาก สำหรับดาวหางดวงนี้จะเข้าใกล้โลกมากที่สุด ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2563 ระยะห่างประมาณ 117 ล้านกิโลเมตร และจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 ห่างเพียง 0.26 หน่วยดาราศาสตร์ หรือประมาณ 39 ล้านกิโลเมตรจากดวงอาทิตย์ อย่างไรก็ตาม ช่วงที่สามารถสังเกตการณ์ได้ดีที่สุด คาดว่าจะอยู่ในเดือนเมษายน เนื่องจากไม่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากเกินไป

C/2019 Y4 (ATLAS) เป็นดาวหางคาบยาวที่มีวงโคจรเกือบจะเป็นพาราโบลา (near-paraboric) คือ มีค่าความรีสูง คาบการโคจรประมาณ 6,000 ปี จะเดินทางเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน แต่ละครั้งใช้เวลาหลายพันปี ทำให้การเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ครั้งนี้ เป็นครั้งเดียวในช่วงชีวิตของเราที่จะสามารถสังเกตเห็นดาวหางดวงนี้ได้ 

ภาพจำลองวงโคจรของดาวหาง C/2019 Y4 (ATLAS) (ภาพจาก Solar Dynamic System JPL/NASA)

 

ดูดาวอย่างไรดี สังเกตด้วยตาเปล่าเท่านั้นหรือ ?

ช่วงปลายเดือนมีนาคม 2563 ตำแหน่งของดาวหาง C/2019 Y4 (ATLAS) ปรากฏอยู่ในกลุ่มดาวหมีใหญ่ (Ursa Major) สังเกตได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กหรือกล้องสองตา ก่อนเคลื่อนเข้าสู่กลุ่มดาวยีราฟ (Camelopardalis) ในเดือนเมษายน คาดว่าช่วงเวลานั้นจะสว่างมากขึ้นจนอาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า อย่างไรก็ตาม หากอยากเห็นให้ชัดเต็มตา ควรชมดาวหางในสถานที่มืด หลีกเลี่ยงแสงรบกวน สำหรับการหาพิกัดดาวหางบนท้องฟ้า สามารถดาวน์โหลดแผนที่ดาวพร้อมตำแหน่งดาวหางในแต่ละช่วงได้ที่ https://www.britastro.org/sites/default/files/2019y4.pdf 

ไหน ๆ โควิดก็เป็นพิษกับธุรกิจยามค่ำคืนแล้ว แสงไฟในเมืองคงลดลงบ้าง เมษายนนี้ ขอเพียงคุณอยู่บ้านแล้วร่วมกันปิดไฟ ก็มีโอกาสได้ยลภาพความประทับใจของดาวหางผาดผ่านท้องฟ้ายามราตรีกันแล้วละครับ

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส