สุดสัปดาห์นี้ พักสายตาและผ่อนคลายจิตใจจากการรับฟังข่าวสารโควิด มาชมความงามของดวงดารากันบ้าง

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) เผยว่า ในวันที่  3 – 4 เมษายน 2563 จะเกิดปรากฏการณ์ “ดาวศุกร์สว่างสุกใสเคียงกระจุกดาวลูกไก่” ปรากฏใกล้กันที่สุดในรอบ 8 ปี สังเกตได้ด้วยตาเปล่าทุกพื้นที่ทั่วประเทศ 

“ดาวศุกร์เคียงดาวลูกไก่” คืออะไร ?

ปกติแล้วหากมองจากโลก ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะเคลื่อนที่ตามแนวสุริยะวิถี หรือแนวการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ เปลี่ยนตำแหน่งไปทุกวันและจะเข้าใกล้หรือห่างจากเส้นสุริยะวิถี ในระยะเชิงมุมท้องฟ้าไม่เกิน 10 องศา ดาวศุกร์ก็เช่นกัน ระนาบวงโคจรของดาวศุกร์ทำมุมกับระนาบสุริยวิถี 3.4 องศา ขณะที่กระจุกดาวลูกไก่อยู่ห่างจากเส้นสุริยะวิถีประมาณ 4 องศา ส่งผลให้ทุก ๆ 8 ปี ดาวศุกร์จะปรากฏตรงกับกระจุกดาวลูกไก่พอดี เกิดเป็นปรากฏการณ์ “ดาวศุกร์เคียงดาวลูกไก่” นั่นเอง

สำหรับวันที่ 3 และ 4 เมษายน ที่จะถึงนี้ ดาวศุกร์จะปรากฏห่างจาก ดาวอัลไซออนี (Alcyone) ดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดในกระจุกดาวลูกไก่เพียง 0.5 องศา หากมองด้วยตาจะเห็นดาวทั้งสองห่างกันประมาณครึ่งนิ้วก้อยเท่านั้น (การวัดระยะเชิงมุมท้องฟ้า ใช้มือเหยียดสุดแขนขึ้นบนฟ้า ระยะ 1 องศา จะห่างกันประมาณ 1 นิ้วก้อย) นับเป็นปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่สวยงามและน่าประทับใจอีกปรากฏการณ์หนึ่ง

ภาพจำลองตำแหน่งดาวศุกร์วันที่ 1-6 เมษายน 2563 และกระจุกดาวลูกไก่

เราจะมองหา “ดาวศุกร์เคียงดาวลูกไก่” ได้อย่างไร ?

ดาวศุกร์เป็นวัตถุที่มีความสว่างปรากฏบนท้องฟ้ามากเป็นอันดับ 3 รองจากดวงอาทิตย์และดวงจันทร์  เนื่องจากดาวศุกร์กำลังโคจรเข้าใกล้โลก ส่งผลให้ช่วงนี้ดาวศุกร์มีความสว่างมาก ผู้ที่สนใจชมปรากฏการณ์ดาวศุกร์เคียงกระจุกดาวลูกไก่ จึงหาตำแหน่งดาวศุกร์บนท้องฟ้าได้ไม่ยาก ดาวศุกร์จะปรากฏเคียงกระจุกดาวลูกไก่บนท้องฟ้าทางทิศตะวันตก ช่วงหัวค่ำหลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า ตั้งแต่เวลาประมาณ 18:30 – 21:00 น. จะเฝ้ารอชมด้วยตาเปล่า หรือจะใช้กล้องสองตา หรือกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก ก็สามารถมองเห็นได้

ใครสนใจอย่าลืมติดตามชมความงามกันนะครับ

 

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส