นักวิทยาศาสตร์ใกล้ที่จะประสบความสำเร็จในการใช้ระบบ AI แปลงการทำงานของสมองออกมาเป็นตัวหนังสือ ในตอนนี้มาถึงขั้นที่ว่า สามารถแปลงการทำงานของระบบประสาทออกมาเป็นตัวหนังสือได้แล้ว แต่ยังมีข้อจำกัดว่าต้องให้อาสาสมัครพูดด้วยเสียงดังเท่านั้นถึงจะได้ผล ถ้าวิทยาการนี้เป็นผลสำเร็จเมื่อใด ก็จะพัฒนามาเป็นเครื่องที่ช่วยสื่อสารระหว่างผู้คนทั่วไปกับ ผู้ป่วยที่ไม่สามารถพูด เขียน หรือพิมพ์ ให้สามารถสื่อสารเข้าใจกันได้

“แม้ว่าเราจะยังไปไม่ถึงเป้าหมาย แต่เราคิดว่าหลักการพื้นฐานที่เราเจอในขณะนี้สามารถพัฒนาให้เป็นเครื่องช่วยสื่อสารแทนการพูดได้”
โจเซฟ เมกิน ผู้ร่วมค้นคว้า จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย, ซานฟรานซิสโก

ในการทดลองขั้นต้นนั้น นักวิทยาศาสตร์ใช้อาสาสมัคร 4 รายที่เป็นผู้ป่วยลมชัก แล้วมีอุปกรณ์อิเล็กโทรดฝังอยู่ในสมองเพื่อติดตามผลอยู่แล้ว อาสาสมัครจะต้องอ่านข้อความประมาณ 50 ประโยค ด้วยการออกเสียงดัง ๆ หลาย ๆ ครั้ง ตัวอย่างประโยคเช่น “Tina Turner is a pop singer” and “Those thieves stole 30 jewels” นักวิทยาศาสตร์ก็จะเฝ้าติดตามรูปแบบการทำงานของระบบประสาทในขณะที่อาสาสมัครกำลังอ่านออกเสียง

จากนั้นนำข้อมูลที่ได้นี้ป้อนเข้าเครื่องอ่านอัลกอริธึม ในช่วงแรกนั้น ระบบอัลกอริธึมถ่ายทอดออกมาเป็นตัวหนังสือที่อ่านไม่รู้เรื่อง นักวิทยาศาสตร์ก็เอาข้อความจากที่ระบบพิมพ์ออกมา มาเทียบกับข้อความที่อาสาสมัครอ่านออกเสียงจริง แล้วค่อย ๆ ปรับแก้ข้อความไปทีละหน่อย ผลลัพธ์ในช่วงหลัง ๆ ก็เริ่มถูกต้องมากขึ้นเรื่อย ๆ จนล่าสุดนี้ มีข้อความเพียงแค่ 3% เท่านั้น ที่ยังต้องปรับแก้

ถ้าระบบนี้พัฒนาได้สำเร็จ จะเป็นความคืบหน้าก้าวใหญ่ในวงการวิทยาศาสตร์ ที่สามารถต่อยอดไปใช้ประโยชน์ได้ในอีกหลาย ๆ แขนงการใช้งาน

อ้างอิง