ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ทำให้ความเป็นอยู่ของผู้คนดีขึ้น ล่าสุดทีมนักวิทยาศาสตร์จากวิทยาลัยการแพทย์เบย์เลอร์ในฮูสตันได้ส่วนเสริมสำหรับสมองที่ช่วยให้ผู้เข้าร่วมที่บกพร่องด้านการมองเห็น สามารถมองเห็นตัวอักษรได้แล้ว

งานวิจัยชิ้นนี้ถูกตีพิมพ์ในนิตยสาร Cell โดยข้ามการใช้ตาจริง ๆ แต่เป็นการถ่ายทอดข้อมูลภาพจากกล้อง ไปยังขั้วไฟฟ้าที่ฝังอยู่ในสมองโดยตรงเลยนั่นเอง ทำให้ผู้พิการสามารถมองเห็นตัวอักษรในลักษณะของ “แสง”

การทดลองอาศัยกระแสไฟฟ้าที่เรียกว่าฟอสเฟนส์ (phosphenes) ไหลไปยังเยื่อหุ้มสมอง ไปถึงส่วนที่รับรู้เรื่องการมองเห็น (visual cortex) ซึ่งอยู่ด้านหลังของสมอง อันที่จริงก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์เคยใช้แสงในลักษณะนี้ทำการทดลองมาแล้ว โดยการสร้างฟอสเฟนขึ้นมาหลายชนิดในเวลาเดียวกัน เช่น แสงจากหลอดไฟสำหรับการฉายภาพยนตร์ แต่ผลที่ได้คือมันยากต่อการตีความหมายเกินไป

แต่การใช้ฟอสเฟนส์ครั้งล่าสุดนี้ให้ภาพที่ชัดเจนกว่าโดยการใช้กระแสไฟฟ้าในลักษณะของปากกาสไตลัสเขียนสัญญาณลงบน visual cortex ด้วยกระแสไฟฟ้าโดยตรง โดยการทดสอบกับอาสาสมัครทั้งหมด 6 คนที่ติดตั้งสายอิเล็กโทรดลงบนสมอง จากนั้นนักวิจัยจึงเปิดการทำงานของกระแสไฟฟ้าให้มีการแสดงผลเป็นตัวอักษรอัลฟาเบ็ต ซึ่งผู้พิการทางสายตาสามารถระบุตัวอักษรได้อย่างชัดเจนและถูกต้อง ตามคลิปด้านล่างนี้

ด้วยวิธีนี้ทำให้ผู้พิการทางสายตาสามารถรับรู้สารที่ถูกสื่อได้อย่างรวดเร็ว โดยผู้พิการทางสายตาสองคน และอีก 4 คนเป็นผู้ที่สายตาปกติ แต่ใช้วิธีดังกล่าวเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาโรคลมชัก โดยหนึ่งในผู้พิการทางสายตาสามารถรับรู้อักษรหรือรูปร่างได้ทั้งหมดถึง 86 รูปภายในระยะเวลาเพียง 1 นาทีเท่านั้น

เบื้องต้นนักวิจัยใช้รูปภาพง่าย ๆ เพื่อให้ผู้ทดสอบได้เรียนรู้รูปร่างเบื้องต้น เช่น ตัวอักษร C, W และ U แต่ก็พอสามารถรับรู้โครงร่างง่าย ๆ ทั่วไปได้ เช่น ใบหน้า บ้าน หรือรถยนต์ โดยอาศัยแนวคิดเดียวกันนี่เองล่ะครับ

ถือว่าเป็นความคืบหน้าที่น่าสนใจมาก ๆ ในอนาคตนักวิทยาศาสตร์อาจหาวิธีการสื่อสารกับผู้พิการทางสายตาด้วยตัวอักษรได้ดีขึ้นยิ่งกว่าเดิม เพราะอย่างอักษรเบรลล์ ก็ใช่ว่าทุกคนจะใช้เป็น ค่อนข้างเป็นเฉพาะกลุ่มเลยทีเดียว

อ้างอิง Sciencenews

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส