โควิด-19 ส่งผลต่อชีวิตของเรามหาศาล ไม่ใช่แค่การปรับตัวแบบ New normal เพื่อป้องกันและต่อสู้กับโรคเท่านั้น มันยังเป็น ‘ตัวเร่ง’ ให้เกิดปรากฏการณ์หลากหลาย ทั้งภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ความขัดแย้งเห็นต่างระหว่างประชาชนและรัฐบาล จนนำมาซึ่งการชุมนุมประท้วง และสถานการณ์บ้านเมืองอย่างที่เป็นอยู่ ชี้ให้เห็นว่า วิกฤตการณ์นำมาสู่การไหลทะลักของข้อมูลข่าวสาร และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้เพียงใด

โรคทางดิจิทัล เมื่อโลกโซเซียลส่งผลต่อสภาวะจิตใจของเรา

ในแง่ของการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร เทคโนโลยีที่สะดวกรวดเร็ว มีช่องทางหลากหลายให้เราหาและแบ่งปันข้อมูลแก่ผู้อื่นนั้นก็เหมือนดาบสองคม เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด อาจด้วยทั้งความหวังดีและความหวาดระแวง ส่งผลให้ผู้คนพาแชร์ข่าวลือข่าวลวงต่าง ๆ พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ร้อนถึงนักวิจัยที่อดรนทนไม่ไหวขอออกมาบอก 8 วิธีรู้ทันข่าวลวง ยุติการแชร์มั่ว สู้โควิด-19 ให้โลกรู้ และนั่นนับเป็นแค่หนึ่งปรากฏการณ์ที่สะท้อน ‘อาการ’ ของโรคใหม่ในยุคดิจิทัล

โรคทางดิจิทัล หรือ Digital Disease คืออะไร

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้เปิดตัวโครงการ Digital Vaccine ‘เช็กภูมิคุ้มกันโรคทางดิจิทัล’ เปิดตัวภาพยนตร์สั้นผลิตโดย บริษัท สแพลช อินเตอร์แอ็คทีฟ จำกัด เพื่อสร้างความตระหนัก ให้ประชาชนรู้ทันเท่าทั้งโรคและภัยต่าง ๆ ที่แฝงมากับการสื่อสารผ่านโซเซียลมีเดียทั้งหลาย เปรียบเสมือนการฉีดวัคซีนสร้างความคุ้มกันโรคนั่นเอง

ประเด็นที่น่าสนใจในงานคือการยึดโยงความสัมพันธ์ระหว่าง ‘การใช้สื่อโซเซียล’ และ ‘อาการที่บ่งชี้โรค’ ซึ่งเป็นประเด็นที่หลายประเทศทั่วโลกให้ความสนใจทำงานวิจัยกันมากมาย และสำหรับประเทศไทยนั้น เราเองก็กำลังอยู่ในจุดเริ่มต้น นักวิชาการทั้งหลายกำลังพยายามสร้างห้องปฏิบัติการและทำงานวิจัยเพื่อให้มีข้อมูลวินิจฉัยโรคของเราเอง

ดร. อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ผู้ให้ความรู้เรื่อง Digital Disease และทางแก้ไข

หลายคนอาจแปลกใจว่า มันทำให้เกิดโรคได้อย่างไร โลกเสมือนนี้จับต้องไม่ได้ไม่ใช่หรือ หากเปรียบกับการดูแลร่างกายไม่ให้เกิดโรค ก็ต้องหมั่นสร้าง ‘สภาวะ’ ที่ทำให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ เช่น ดูแลอาหารการกินให้ถูกสุขลักษณะ ออกกำลังกายให้กล้ามเนื้อร่างกายได้เคลื่อนไหวเป็นประจำ และพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ โลกเสมือนแห่งการสื่อสารหรือโลกโซเซียลเอง ก็จัดเป็นแหล่งบ่มเพาะ ‘สภาวะ’ แบบหนึ่งเช่นกัน เพียงแต่มันไม่ได้ส่งผลทางกายภาพ แต่ส่งผลต่อจิตใจของเราแล้วค่อยแสดงออกมาเป็นอาการต่าง ๆ อีกที

ดร. อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หนึ่งในผู้ร่วมงานดังกล่าว ได้กล่าวถึงโรคที่มีสาเหตุสืบเนื่องมาจากการสื่อสารในโลกดิจิทัลไว้อย่างน่าสนใจว่า ทุกวันนี้มีข่าวสารข้อมูลในโลกโซเซียลเยอะมาก ทั้งยังตอบคำถามข้อสงสัยต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ตอบโจทย์ผู้ที่ต้องการเสพข้อมูล มอบความพึงพอใจ จนทำให้ผู้ติดตามข่าวสารใช้ความคิดและอารมณ์เข้าไปยึดโยง ก่อให้เกิดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์หรือโรคทางดิจิทัลโดยที่ไม่รู้ตัว

digital vaccine
นายนรศักดิ์ รัตนเวโรจน์ (จอห์น) ผู้บริหาร บริษัท สแพลช อินเตอร์แอ็คทีฟ จำกัด

ขณะเดียวกัน จอห์น รัตนเวโรจน์ ผู้บริหารบริษัท สแพลช อินเตอร์แอ็คทีพ จำกัด ก็กล่าวถึงโรคดิจิทัลว่า แม้ไม่รุนแรงน่ากลัวเท่าโควิด แต่เพราะความสามารถในการแพร่กระจาย ติดต่อกันได้ ก็ทำให้เป็นที่น่ากังวลเช่นกัน และผลของมันก็ไม่ได้ตกแก่ผู้ที่มีอาการเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อคนรอบข้าง ครอบครัว หรือแม้กระทั่งกับคนไม่รู้จักด้วยซ้ำไป และสุดท้ายก็จะส่งผลต่อสังคมโดยรวมในที่สุด

เช็กดูสักนิดคุณเข้าข่ายป่วยเป็นโรคทางดิจิทัลโรคใดโรคหนึ่งหรือไม่

เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหลายได้สังเกตอาการตนเองว่าตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงหรือเป็นโรคหรือไม่ เราจึงรวบรวมคำอธิบายเกี่ยวกับที่มาและลักษณะของโรคทางดิจิทัลประเภทต่าง ๆ ที่ดร. อมรวิชช์ได้ให้คำจำกัดความไว้ รวมถึงลักษณะอื่น ๆ ที่เข้าข่ายซึ่งเราได้วิเคราะห์จากภาพยนตร์สั้นมาให้ลองเช็กดูกัน

โรควิจารณญาณบกพร่อง

“โรควิจารณญาณบกพร่อง คือการเสพข่าวต่าง ๆ แล้วเชื่อตามนั้นโดยไม่ได้กลั่นกรอง ไตร่ตรอง หรือตรวจสอบก่อน แล้วก็ตัดใจทำอะไรบางอย่างต่อข่าวนั้น เช่น การแชร์ต่อ ทำให้เกิด Fake news หรือข่าวลวงตามมาอีกมากมาย ซึ่งพฤติกรรมนี้ไม่ได้เป็นแค่ในบ้านเรา แต่เป็นทั่วโลก อย่างเช่นในยุโรปเนี่ย เจอข่าวลวงถึงสองในสามของปริมาณข่าวเลยทีเดียว ที่อเมริกาก็พบข่าวลวงในอัตราครึ่งต่อครึ่ง 49% ของคนอเมริกาเคยมีประสบการณ์แชร์ข่าวลวง”

พฤติกรรมที่เข้าข่ายของโรค

  • แยกแยะข้อเท็จจริงไม่ได้
  • แตกตื่น รู้สึกวิตกกังวลเมื่อทราบข่าว
  • ไม่มีความยับยั้งชั่งใจ
  • ไม่คิดพิจารณา ไม่ตั้งคำถามกับข่าวที่อ่าน
  • คิดว่าชีวิตง่าย มีวิธีที่เป็นลัดเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ ทำให้หลงเชื่อได้ง่าย
  • เห็นข่าวอะไรก็เชื่อ
  • บ้าไลก์ อยากได้ยอดไลก์ยอดฟอลสูง ๆ ทำให้การแชร์ข่าวที่เป็นประเด็นเร็ว ๆ และคิดกังวลกับความถูกต้องของข่าวน้อยลง เพื่อให้คนเข้ามาเห็นดีเห็นงามด้วย

โรคไม่หวงข้อมูลส่วนตัว

เพราะหลงคิดว่าโซเซียลคือพื้นที่ส่วนตัว อยากจะแชร์อะไรตามใจอยากก็ได้ และยิ่งมีคนมากดไลก์ คอมเมนต์ชอบใจ ก็ยิ่งอยากจะแบ่งปัน เล่าเรื่องราวของตนเองไม่มีที่สิ้นสุด

พฤติกรรมที่เข้าข่ายของโรค

  • ไปไหนเป็นต้องแชร์ ต้องถ่ายรูปหามุมสวยไว้โพสต์ลงโซเซียล
  • อัปเดตอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัวลงบนโซเซียลอยู่เสมอ
  • บ้าไลก์ อยากให้คนมาสนใจหรือคอมเมนต์
  • อ่อนไหวกับคำคอมเมนต์ แต่ก็ยังยุติการโพสต์หรือแชร์สิ่งต่าง ๆ เกี่ยวกับตัวเองไม่ได้

โรคเสพติดความรุนแรง

“โรคเสพติดความรุนแรงนี้จะรวมไปถึงเรื่อง ‘Hate Speech’ ซึ่งเป็นเรื่องของการใช้ถ้อยคำรุนแรง การใช้คำที่แสดงถึงอารมณ์ร่วมในทางลบ การวิพากษ์วิจารณ์ด้วยคำที่ไม่น่าฟัง ครอบคลุมไปถึง ‘การกลั่นแกล้งในโลกโซเซียล (Cyber Bully)‘ การกระทำการรุนแรงในอินเทอร์เน็ต จากการสำรวจใน 30 กว่าประเทศ มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 15-30% ของเด็กและเยาวชนที่อยู่ในวังวนของการถูกกลั่นแกล้งนี้ ทั้งในฐานะของผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ”

พฤติกรรมที่เข้าข่ายของโรค

  • มีอารมณ์ร่วม เกิดอารมณ์คล้อยตาม หรืออาการหัวร้อนเมื่ออ่านข่าว
  • อยากเข้าไปมีส่วนร่วมในการโจมตีผู้อื่น หรือเห็นดีเห็นงามกับพฤติกรรม ‘ทัวร์ลง’
  • ใช้ถ้อยคำที่รุนแรงและชวนให้เกิดความรู้สึกยั่วโทสะในโลกโซเซียล ทั้งจะด้วยความปราถนาดีหรือไม่ก็ตาม
  • กลั่นแกล้ง ล้อเลียน ข่มเหง ดูถูก ต่อต้านผู้อื่น และไม่รับเพื่อนเข้ากลุ่ม
  • ข่มขู่ คุกคาม เปิดโปงหรือแอบอ้างตัวตน
  • สร้างกลุ่มโจมตี หรือแอนตี้แฟนทั้งหลาย

โรคบ้าตามกระแส

“โรคบ้าตามกระแส หรือ โรคกลัวตกกระแส หรือในภาษาอังกฤษคือ ‘โรคฟอมอ’ (Fear of Missing out: FOMO) โรคนี้สามารถออกอาการได้สองแบบ วัยรุ่นมักเป็นกันเยอะ คือ กลัวตกข่าว กลัวเพื่อนไปไหนกันแล้วไม่ชวน ต้องคอยติดตามเพื่อนตลอดเวลา อีกแบบจะออกอาการกับผู้บริโภค คือจะรู้สึกว่าถ้าไม่มีสินค้าตัวนี้ไว้ครอบครองแล้วจะเชย อย่างที่อเมริกามีงานวิจัยพบว่า การกระตุ้นความรู้สึกฟอมอให้เกิดกับผู้บริโภค นำมาซึ่งส่วนแบ่งทางการตลาดที่ใหญ่โตมาก โดยเฉพาะการใช้กับคนในเจนวายที่มีกำลังซื้อสูง หากจับกระแสถูกก็จะยิ่งบ้าซื้อตาม ซึ่งในที่สุดจะนำมาซึ่ง ‘โรคกระเป๋าฉีก’ เห็นอะไรอยู่ในกระแสเป็นต้องซื้อ ซึ่งน่ากลัวมาก”

พฤติกรรมที่เข้าข่ายของโรค

  • ติดตามข่าวหรือกระแสต่าง ๆ ตลอดเวลา รู้สึกเป็นกังวลหรือร้อนใจเมื่อไม่ได้เสพข่าว
  • รู้สึกร้อนรนเมื่อไม่ได้รู้ข้อมูลที่รวดเร็วทันใจ
  • เสพติดดราม่าต่าง ๆ
  • กลัวคำค่อนขอดจากคนรอบข้างในทำนองว่า อ้าว ไปอยู่ที่ไหนมา ทำไมไม่รู้เรื่อง
  • ติดเพื่อน หรือ ถ้าคนรอบข้างไปไหนไม่ชวน หรือไม่สนใจ จะรู้สึกเศร้า วิตกกังวล จนถึงขั้นร้องห่มร้องไห้
  • รู้สึกอยากมี อยากได้ คนอื่นมี เราต้องมีบ้าง ซื้อของตามคนอื่น
  • ใช้เวลาพิจารณาเลือกซื้อของน้อยลง และซื้อของที่จริง ๆ แล้วไม่ได้จำเป็นต่อการดำรงชีวิตมากขึ้น
  • ติดตามข่าวสารโปรโมชันสินค้าในโลกโซเซียลตลอด มีโปรเป็นต้องซื้อทั้งที่จริง ๆ ไม่ได้ใช้งาน

(อ่านต่อหน้า 2 คลิกด้านล่างเลย)

จากโรคทางดิจิทัล สู่โรคจิตเวชทางการแพทย์

หากยังปล่อยให้ตนเองเสพติด น้อมรับเอาการแพร่กระจายทางความคิดจากโลกโซเซียล ปล่อยตัวปล่อยใจให้มีพฤติกรรมวนลูปอยู่ในโรคทางดิจิทัล ท้ายที่สุดแล้ว มันก็อาจจะนำไปสู่โรคในทางการแพทย์จริง ๆ ได้ด้วย

ดร. อมรวิชช์ ได้ให้ข้อมูลแก่เราว่า ภาวะหรือโรคทางดิจิทัลที่กล่าวมาสามารถนำไปสู่โรคซึมเศร้า โรคหลงตัวเองซึ่งเป็นโรคทางการแพทย์ และความก้าวร้าวได้ด้วย

เมื่อเราได้ความพอใจจากการเสพข้อมูลในโซเซียลซ้ำ ๆ แรกเริ่มก็จะทำให้เราใจร้อนขึ้น และเริ่มเกิดความวิตกกังวลเมื่อไม่ได้รับการตอบสนองที่รวดเร็ว ถ้อยคำรุนแรงอย่างที่ไม่ใช้กันในชีวิตจริง ก็ถูกนำมาใช้ได้โดยง่ายเพราะไม่เห็นหน้าค่าตาของคู่กรณี สิ่งเหล่านี้ จึงเริ่มหล่อหลอม พฤติกรรมเสีย ๆ หรือพฤติกรรมที่เข้าข่ายโรคขึ้น

นานวันเข้า โรคทางดิจิทัลก็นำมาซึ่งอาการที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกที อย่างในโรคเสพติดความรุนแรง ดร. อมรวิชช์ก็ได้ให้ข้อมูลจากงานวิจัยพบว่า หนึ่งในสองของเด็กที่ถูก Cyber Bully จะออกอาการนอนไม่หลับ มีอาการซึมเศร้า และอยู่ในภาวะที่ไม่อยากอยู่บนโลกนี้แล้ว

” ‘ภาวะซึมเศร้า‘ เป็นเรื่องของการสะสม เป็นการเก็บเรื่องต่าง ๆ ที่รับรู้มาไปเรื่อย ๆ ที่น่าเป็นห่วงคือ เด็กเสพสื่อโซเซียลเยอะ แล้วได้รับผลกระทบของมันโดยที่ไม่รู้ตัว ซึ่งผู้ที่เป็นโรคนี้คือผู้ที่เป็นฝ่ายถูกกระทำ ในทางกลับกัน ฝ่ายที่เป็นผู้กระทำก็คือพวกที่คลั่งความรุนแรงทั้งการพูดและการกระทำ หรือเราเรียกว่าเป็นโรคเสพติดความรุนแรง เมื่อทวีความรุนแรงขึ้นก็กลายเป็น ‘ความก้าวร้าว‘ ซึ่งจัดว่าเกือบจะเป็นโรคชนิดหนึ่งเลย เช่น เห็นใครตีคนอื่นอยู่ ก็อยากจะขอเข้าไปร่วมตีด้วยคน โดยที่ตัวเองก็ไม่ได้มีความชอบธรรมอะไรเลย และอาจจะรู้ที่มาที่ไปไม่จริงก็ได้”

“ที่เห็นได้ชัดๆ อีกโรคคือ ‘โรคนาซีซิส หรือ โรคหลงตัวเอง (Narcissistic Personality Disorder)‘ คือภาวะที่มองเห็นว่าโลกหมุนรอบตัวเอง ยึดเอาตัวเองเป็นใหญ่ ซึ่งเราพบเห็นในคนรุ่นใหม่เยอะมาก กลายเป็นบุคลิกหรือนิสัยเฉพาะบางอย่าง เช่น ปากเก่งว่าคนอื่นไปทั่วในโลกโซเซียล แต่พอเจอตัวเองไม่กล้าพูดจา เปราะบางกับการถูกวิพากษ์วิจารณ์ พูดง่ายๆ คือ ด่าคนอื่นได้ แต่รับคำด่าจากคนอื่นไม่ได้”

นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่เป็น ‘โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว หรือ ไบโพลาร์ (Bipolar Disorder)‘ ที่เสพข้อมูลข่าวสารมากเกินไป ก็อาจถูกโรคทางดิจิทัลกระตุ้นอาการของโรคดังกล่าวให้ทวีความรุนแรงหรือแสดงอาการของโรคถี่ขึ้นด้วย

Digital Vaccine และตัวช่วยให้หลุดออกจากโรคทางดิจิทัล

สำหรับทางแก้ของโรคทางดิจิทัลนั้น ดร. อมรวิชช์อธิบายว่า เราต้องแก้หรือสร้างภูมิคุ้มกันโดยเริ่มที่ระบบ อย่างระบบจำกัดอายุผู้ชม หรือการให้เรตติ้ง ก็เป็นการช่วยป้องกันเด็กไม่ให้เข้าถึงเนื้อหาที่รุนแรงได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งหน่วยงานภาครัฐเป็นผู้ทำให้ได้ แต่ที่ทำยากขึ้นมาอีกขั้นคือ การให้ความรู้ เช่น ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล การเสริมสร้างทักษะในการตรวจสอบข่าว ประสบการณ์จัดการกับผู้ที่เข้ามาคุกคาม ซึ่งส่วนนี้พ่อแม่ สื่อ และสถานศึกษาสามารถเข้ามามีบทบาทช่วยเหลือในตรงนี้ได้

“แต่ที่ยากที่สุดคือ การปรับวิธีคิด เราต้องสร้างให้คนมีวิจารณญาณ มีสันติวิธีในวิธีคิด มีความประนีประนอม เมื่อรับข่าวสารอะไรก็รู้จักยับยั้งชั่งใจ สามารถมองปัญหาเดียวกันในสายตาของคนอื่นได้ คือมีนิสัยที่เอาใจเขามาใส่ใจเรา และเคารพความแตกต่าง มันเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ต้องผ่านการปลูกฝังให้เกิดขึ้นตั้งแต่เด็ก ให้ซึมซับว่าความความหลากหลายคือเรื่องที่ดี”

พูดแบบนี้ หลายคนอาจรู้สึกสายเกินแก้เพราะล่วงพ้นเลยวัยเด็กมาแล้ว แต่ที่จริงแล้วหากเรายังไม่มีสิ่งนี้ ขอเพียง ‘เปิดใจ’ มันก็ยังพอมีทางอยู่

“พ่อแม่เองก็อย่าไปคิดว่ามีสมาร์ทโฟนแล้วจะสมาร์ทไปหมด ต้องหาเรื่องพูดคุยกับลูกบ้าง และไม่ใช่แค่เพียงให้ความรู้แก่ลูก ในทางกลับกัน พ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่เองก็สามารถสร้างความรู้ตัวและรู้เท่าทันให้กับตัวเองได้ด้วยการเปิดใจคุยกับลูกหลาน อาจจะชวนคุยปรึกษาว่า เอ๊ะ! ข่าวนี้มันจริงหรือไม่อย่างไร สลับบทบาทกันก็ได้ ขณะที่ลูกสอนเรา เขาก็ได้สอนตัวเองและคิดตามไปด้วย”

“หลักสำคัญคืออย่าไปบังคับให้เขาคิดตาม อย่าไปยัดเยียดความคิดให้ลูก ต้องปล่อยให้เขาคิดเอง หาเหตุผลเอง ทำให้เขาค่อย ๆ เกิดวิจารณญาณ เกิดความคิดที่ซับซ้อนขึ้น ซึ่งคนที่มีความคิดที่ซับซ้อนก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อของข้อมูลลวงง่าย ๆ” ดร. อมรวิชช์กล่าว

จะเห็นว่าสุดท้ายแล้วทางแก้อาจเริ่มได้ที่ตัวของเราเอง หากเราชะลอใจให้เย็น มีสติ รู้เท่าทัน และใช้วิจารณญาณอยู่เสมอก็จะห่างไกลจากโรคภัยทางดิจิทัลได้ แต่หากยังรู้ตัวช้า ก็อาจหาตัวช่วยคือคนใกล้ชิดสักคนให้ช่วยดูแลพฤติกรรม หรือปรึกษานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ดูก็ได้

และแม้เทคโนโลยีจะร้ายกับใจเราเพียงใด แต่ในอนาคตอันใกล้มันอาจจะช่วยให้เรารู้ทันสภาวะจิตของตัวเองได้มากขึ้นด้วยก็ได้ เพราะเหล่านักวิจัยในต่างประเทศก็กำลังพัฒนาปรับปรุงแอปพลิเคชันติดตามสภาวะทางจิตใจและให้คำปรึกษาอยู่อย่างขะมักเขม้น

แต่ก่อนจะถึงวันนั้น หากอยากรู้เท่านั้นตัวเองเพิ่มเติม ก็ติดตามอ่านข้อมูลของโครงการดี ๆ แบบนี้ได้ที่ช่องทางเหล่านี้ได้เลย

อ้างอิง
8 วิธีรู้ทันข่าวลวง ยุติการแชร์มั่ว สู้โควิด-19 ที่นักวิทย์ขอออกมาบอกให้โลกรู้
งานวิจัย 1
งานวิจัย 2
Etda.or.th

ขอบคุณข้อมูลจาก ดร. อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส