หลังจากการประกาศผลรางวัลโนเบลประจำปี 2020 เป็นที่เรียบร้อย ก็มีการแจ้งข่าวและแสดงความยินดีแก่ผู้ที่ได้รับรางวัล ทว่า มีหนึ่งในนั้นที่คณะผู้ตัดสินรางวัลไม่สามารถติดต่อได้ นั่นก็คือ พอล อาร์. มิลกรอม (Paul R. Milgrom) หนึ่งในผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์

เพื่อให้เขาทราบถึงความน่ายินดีนี้ โรเบิร์ต บี. วิลสัน (Robert B. Wilson) ผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลในสาขาเดียวกัน ทั้งยังเป็นเรื่องสุดจะบังเอิญที่ทั้งคู่เพื่อนบ้านกันด้วย จึงเดินออกจากบ้านของตนเอง ย่องไปปลุกมิลกรอมที่บ้านยามดึกสงัด

เมื่อกริ่งหน้าประตูบ้านดังขึ้นในเวลาตีสองกว่า (2:15 น.) ของเช้าวันที่ 12 ตุลาคม 2563 ภรรยาของมิลกรอมที่อยู่ในเมืองสตอกโฮล์ม (Stockholm) ได้รับข้อความเตือนของกล้องวงจรปิดรักษาความปลอดภัย ในโทรศัพท์มือถือของเธอ เธอจึงได้ดูการถ่ายทอดสดการประกาศข่าวดี ขณะวิลสันบอกมิลกรอมว่า เขาได้รับรางวัลโนเบล

https://twitter.com/Stanford/status/1315631500080148480
ทวิตเตอร์ของมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ดได้เผยแพร่เหตุการณ์ ‘เคาะประตูแจ้งข่าวดี’ ของวิลสันและมิลกรอม

ทว่า ความน่าตื่นเต้นของเรื่องราวไม่ได้มีเพียงโมเมนต์สุดพิเศษนี้เท่านั้น

“มันดูเหมือนเป็นสิ่งที่หลุดมาในศตวรรษที่ 19 เลย” วิลสันกล่าวถึงการเคาะประตูบ้านมิลกรอม ขณะให้สัมภาษณ์แก่อดัม สมิธ (Adam Smith) ผู้ทำข่าวการได้รับรางวัลจาก Nobelprize.org ก่อนจะเล่าถึงเรื่องน่าทึ่งลำดับต่อมา

วิลสันเล่าว่า นอกจากบ้านของพวกเขาห่างกันเพียงแค่ 40 เมตรแล้ว มิลกรอมเองก็เป็นลูกศิษย์คนที่ 3 ของเขาที่ได้รางวัลโนเบลในสาขานี้ โดยลูกศิษย์อีก 2 คนที่ได้รางวัลโนเบลนั้นคือ อัลวิน รอธ (Alvin Roth) และ เบ็งต์ โฮล์มสตรอม (Bengt Holmström) ความผสมผสานที่สุดแสนจะลงตัวของการได้รับรางวัลของลูกศิษย์ทั้ง 3 อย่างต่อเนื่องนี้ ทำให้วิลสันเรียกมันว่า ‘Trifecta’ ของเขา (มาจากรากศัพท์ tri – ที่แปลว่า 3 และคำว่า fecta มาจากคำว่า perfecta แปลรวมๆ คือหมายความว่า เป็นเหตุที่ส่งผลต่อกัน 3 อย่างในคราวเดียว ทำนองว่าโดน 3 เด้งนั่นเอง)

ทั้งการเดินไปเคาะบอกข่าวดีที่หน้าบ้าน ทั้งบ้านใกล้กันสุด ๆ แถมยังได้รับการรางวัลทั้งศิษย์และอาจารย์ เรื่องราวความพอเหมาะพอเจาะทั้งหมดทั้งมวลนี้ สมิธผู้สัมภาษณ์ถึงกับกล่าวว่ามันเป็น ‘ครั้งแรกในประวัติศาสตร์การรับรางวัลโนเบล’ เลยทีเดียว

สำหรับเหตุผลที่ว่าทำไมทั้งเขาและลูกศิษย์จึงได้รับรางวัลนั้น วิลสันได้ให้สัมภาษณ์ว่า เขาเป็นนักคิดที่ค่อนข้างอยู่ในกรอบและเน้นหนักไปในทางทฤษฎี ส่วนมิลกรอมเป็นที่มีไอเดียสร้างสรรค์และมีความแม่นยำกว่า เมื่อนำเอาความคิดมารวมกัน ทำให้เกิดเป็นผลงานที่เป็นทฤษฎีการขายและการประมูลรูปแบบใหม่ ซึ่งนำมาสู่เงินมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ภายในเวลาแค่เพียง 4 เดือนกว่า ๆ เท่านั้น

บทสัมภาษณ์ฉบับเต็มระหว่างอดัม สมิธ และ โรเบิร์ต บี วิลสัน หนึ่งในผู้ได้รับรางวัลโนเบลสานาเศรษฐศาสตร์ในปีนี้

อย่างไรก็ตาม ยังมีความน่าทึ่งสุดท้ายในบทสัมภาษณ์ เมื่อวิลสันเอ่ยกล่าวทิ้งท้ายขอบคุณผู้ให้สัมภาษณ์ ด้วยการกล่าวชื่อเต็มของเขาว่ามันยิ่งช่างพอเหมาะพอเจาะอย่างยิ่งจริง ๆ นั่นเพราะอดัม สมิธ คือชื่อของนักปรัชญาศีลธรรม และ นักเศรษฐศาสตร์การเมืองผู้บุกเบิกชาวสกอตแลนด์ เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการกำหนดแนวคิดเศรษฐศาสตร์แนวตลาดเสรี นั่นเอง (ให้คนชื่อเดียวกับนักเศรษฐศาสตร์ผู้โด่งดังมาสัมภาษณ์นักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบล โอ้ นี่มันจะบังเอิญเกินไปแล้ว)

ก็ขอแสดงความยินดีกับทั้งอาจารย์และศิษย์คู่นี้ด้วย ช่างเป็นเรื่องน่ายินดีที่มีหลายต่อจริง ๆ

อ้างอิง

Nobelprize.org

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส