ท่ามกลางพายุแห่งปัญหา ตลาดที่มีการแข่งขันสูง การลดราคา และดราม่าของ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) หลังจากที่เข้าไปดูแลทวิตเตอร์ (Twitter) ตอนนี้ถ้าดูเพียงแค่ราคาหุ้นของเทสลา (Tesla) ดูเหมือนว่าจะกลับมาสดใสอีกครั้งในรอบหลายปี หลังจากที่ระหว่างสัปดาห์ที่ผ่านมา (23-27 มกราคม 2023) หุ้นพุ่งขึ้นไป 33% ถือว่าเป็นสัปดาห์ที่ดีที่สุดตั้งแต่ปี 2013 หลังจากที่มีการเปิดเผยตัวเลขรายได้สุทธิ 3,700 ล้านเหรียญในไตรมาสที่ 4 ของปี 2022 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 59% ในไตรมาสเดียวกัน

3 ปีติดแล้วที่เทสลาสร้างกำไรได้ รายได้สุทธิในปีก่อน 14,100 ล้านเหรียญ เทียบกับปีก่อน (2021) ที่ 5,500 ล้านเหรียญ และก่อนหน้านั้น (2020) ที่ได้เพียงแค่ 721 ล้านเหรียญเท่านั้น

ในช่วงที่ผ่านมาเราอาจจะเห็นข่าวของเทสลาผ่านมัสก์ซะเป็นส่วนใหญ่ เพราะถ้าจะบอกว่าเขาคือหัวใจหลักของบริษัทแห่งนี้ก็คงไม่ผิดนัก การที่เขาใช้เวลากับทวิตเตอร์อย่างหนัก แถมยังขายหุ้นเทสลาของตัวเองออกมาเพื่อไปเป็นทุนสำรองให้กับทวิตเตอร์ยิ่งทำให้เกิดคำถามขึ้นในหัวของนักลงทุนด้วย (ถึงขั้นมีข่าวลือว่าเทสลาอาจจะเปลี่ยนซีอีโอเลยทีเดียว แต่นั่นก็ยังเป็นเพียงข่าวลือเท่านั้น)

แต่ปัญหาของเทสลามีมากกว่าแค่ดราม่าของมัสก์กับทวิตเตอร์ ตอนนี้นักลงทุนจากที่เคยกังวลว่าเทสลาจะผลิตรถยนต์ให้ได้ตามความต้องการของลูกค้าได้ยังไง มาเป็นตอนนี้จะหาลูกค้าจากไหนให้พอกับจำนวนรถยนต์ที่ผลิตเพิ่มขึ้นกันล่ะ จำนวนรถยนต์ที่ส่งมอบนั้นลดลงไปเหลือราว ๆ 40% จาก 87% เมื่อปีก่อน แม้ว่าจะเป็นยอดที่สูงอยู่ แต่ก็น้อยกว่าที่มัสก์ตั้งเป้าไว้ที่ 50% อยู่ดี

การผลิตที่เพิ่มขึ้นในตอนนี้จากโรงงานขนาดใหญ่แห่งใหม่ในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา และในประเทศเยอรมนี ก็กลายมาเป็นปัญหาว่าแล้วลูกค้าจะไปหาเพิ่มยังไงดี จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้เพิ่ม ดีมานด์ในตลาดที่ลดลงจากการแข่งขันจากค่ายรถยนต์ทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่

ดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจากการพยายามควบคุมเงินเฟ้อ สองอย่างนี้รวมกันทำให้ลูกค้านั้นเริ่มชะลอการตัดสินใจซื้อรถยนต์คันใหม่เพราะค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้เทสลาเองก็ขึ้นราคามาเรื่อย ๆ ช่วงการระบาดของโควิดเพราะวัตถุดิบต่าง ๆ ขึ้นราคาและความต้องการของรถเทสลาก็สูงด้วย จึงเป็นจังหวะในการขึ้นราคาไปด้วยเลย แต่ตอนนี้ต้องกลับมามองจุดนี้ใหม่ ซึ่งนำมาซึ่งการตัดลดราคาในจีนและอเมริกาในช่วงที่ผ่านมา

และคิวที่ต้องรอนานอย่างต่ำ 6 เดือนในอเมริกาหรือจีนในช่วงต้นปี 2022 ตอนนี้ไม่ต้องรอแล้ว รายงานจากหนังสือพิมพ์ Financial Times บอกว่าส่วนแบ่งตลาดของเทสลาในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2022 ก็ลดลงเหลือ 65% จากที่เคยสูงถึง 79% ในปี 2020 และคาดว่าภายในปี 2025 จะเหลือเพียงแค่ 20% เท่านั้น

จนกลายเป็นการตั้งคำถามว่า นี่ถือเป็นจุดเปลี่ยนของเทสลาแล้วรึเปล่า? พวกเขาจะกลายเป็นเพียงแค่ ‘หนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า’ จากหลายสิบแห่งหลายร้อยแห่งของโลกแล้วใช่ไหม?

ถ้ามองว่าสัปดาห์ที่ผ่านมาหุ้นบริษัทดูดีเป็นอย่างมาก อยากให้ลองย้อนกลับจากที่จุดสูงสุดช่วงปลายปี 2021 ถ้านับจากช่วงนั้นถึงตอนนี้ (แม้ว่าจะฟื้นมาบ้างแล้ว) ก็ยังร่วงไปเกือบ 60% เลยทีเดียว ตรงนี้ก็ทำให้มัสก์ร่วงหล่นจากตำแหน่งบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกมาอยู่อันดับ 2 จนติดสถิติกินเนสบุ๊กบุคคลแรกของโลกที่สูญเสียความมั่งคั่ง 200,000 ล้านเหรียญ

tesla

แดน ไอฟ์ (Dan Ives) นักวิเคราะห์ที่ Wedbush Securities (บริษัทการลงทุนของเอกชนที่ตั้งอยู่ในลอสแอนเจลิส) กล่าวไว้ก่อนรายงานผลประกอบการล่าสุดว่า

“หลังจากประสบกับการเติบโตอย่างรวดเร็วเป็นประวัติการณ์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาในตลาด EV ที่มัสก์สร้างขึ้นเป็นแกนหลัก ตอนนี้เทสลาต้องเผชิญกับตลาดภาพใหญ่ที่มืดมนมากขึ้นในปี 2023 ด้วยการแข่งขันที่รุนแรงจากทุกมุม นอกเหนือจากนั้น มัสก์ได้เปลี่ยนจากซูเปอร์ฮีโรสวมเสื้อคลุมสีแดงกลายเป็นวายร้ายในสายตาของนักลงทุนจำนวนมาก หลังจากที่ความล้มเหลวของทวิตเตอร์ที่กำลังดำเนินอยู่ได้สร้างเงามืดเหนือหุ้นของเทสลาด้วย”

หนึ่งในมุมมองที่ตอนนี้ตลาดมีต่อเทสลาและมัสก์ก็คือว่าเขากำลัง ‘หลับคาพวงมาลัย’ และทำนู่นทำนี่อยู่ตลอดเวลา ยุ่งมากจนลืมโฟกัสกับเทสลาว่าตอนนี้เจอปัญหารุมเร้ามากขนาดไหน คู่แข่งเข้ามาในตลาดโดยราคาถูกกว่า เทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกัน ภาพลักษณ์ของเขาในการเป็นผู้นำที่พูดกลับไปกลับมา (อย่างเรื่องอิสรภาพในการแสดงออกทางคำพูด) ก็ยิ่งทำให้เทสลาดูแย่ลงไปอีกในสายตาของลูกค้า จึงหันไปหาเจ้าอื่น ๆ เป็นทางเลือกได้ไม่ยากนัก

ในฐานะของผู้นำตลาดรถยนต์ EV เทสลาถูกมองว่าเป็นผู้ชี้นำด้านพลังงานไฟฟ้าของอุตสาหกรรมยานยนต์มาช้านาน นักวิเคราะห์เชื่อว่าการปรับลดราคาของบริษัทเมื่อเร็วๆ นี้เป็นเพียงสัญญาณล่าสุดว่าตลาด EV อาจเข้าสู่ช่วง ‘Shake-Out’ ที่ยอดขายเพิ่มขึ้น แต่กำไรเริ่มลดลง เนื่องจากคู่แข่งจำนวนมากในตลาด เวลารอสั้นลง และราคาในท้องตลาดลดลงด้วย

แต่ตราบใดที่มัสก์ยังเป็นซีอีโอของทวิตเตอร์และเทสลา เราก็ไม่มีทางรู้หรอกว่าการลดราคาอย่างเดียวจะเพียงพอที่จะดึงลูกค้าและสร้างความต้องการให้กลับมาได้อีกหรือเปล่า “มัสก็คือเทสลา และเทสลาก็คือมัสก์” สองอย่างนี้ดูจะแยกจากกันไม่ได้

แต่มัสก์เองก็ยังมีแฟนคลับค่อนข้างเยอะ คนที่สนับสนุนแนวคิดและการทำงานก็มีไม่น้อย ซึ่งสำหรับคนที่เชื่อในมัสก์และเทสลา นี่อาจจะเป็นช่วงเวลาที่ยอดเยี่ยมในการเข้าไปถือหุ้นเพิ่ม แต่สำหรับคนที่คิดว่าต่อไปเทสลาอาจจะเป็นเพียงแค่บริษัทผลิตรถยนต์แห่งหนึ่งเท่านั้น นี่ก็อาจจะเป็นสัญญาณเตือนว่าอนาคตของเทสลาน่าจะไม่ได้สดใสอีกต่อไปแล้ว

ที่มา:
The Verge The Verge
CNBC Corporate Finance Institute
Macro Trends Bloomberg

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส