ตอนนี้ถ้าเข้าไปดูข้อมูลอัปเดตจากเว็บไซต์ layoffs.fyi จะเห็นลิสต์ของบริษัทมากมายที่ผ่านมาได้มีปลดพนักงานบางส่วนของบริษัทไปแล้ว จากเมื่อก่อนที่เราเห็นข่าวของนวัตกรรมหรือการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ของบริษัทเทค แต่ตอนนี้ตัวเลขจำนวนพนักงานที่ถูกปลดที่กลายเป็นข่าวที่เราเห็นแทบไม่เว้นแต่ละวัน ต่างกันก็แค่บริษัทและจำนวนมากน้อยเท่านั้น

นิตยสาร Fortune รายงานว่าปีที่แล้วบริษัทเทคยักษ์ใหญ่ปลดพนักงานรวมกันกว่า 70,000 ตำแหน่ง เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายและลดต้นทุนปฏิบัติการ ซึ่งนี่ไม่นับจำนวนพนักงานที่เป็นฟรีแลนซ์หรือสัญญาจ้างชั่วคราวด้วย เพราะฉะนั้นที่จริงตัวเลขน่าจะสูงกว่านี้อีกไม่น้อย

เกิดอะไรขึ้นกับบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้? แล้วอุตสาหกรรมเทคโนโลยีจะเป็นยังไงต่อไป?

ความเสียหายที่เกิดขึ้น

หลังจากช่วงการจ้างงานอย่างบ้าคลั่งในช่วงการระบาดของโควิด-19 เนื่องจากความต้องการใช้งานบริการเทคโนโลยีเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากเพราะคนติดอยู่ที่บ้านและออกไปไหนไม่ได้ เมื่อทุกอย่างเริ่มคลี่คลายลงและโลกกลับเข้าสู่โหมดปกติอีกครั้งหนึ่ง ตอนนี้บริษัทใหญ่ ๆ ก็เริ่มปลดพนักงานในส่วนที่มากเกินไปออกบ้าง

  • Alphabet 12,000 คน
  • Amazon 18,000 คน
  • Microsoft 10,000 คน
  • Meta 11,000 คน
  • Twitter 4,000 คน
  • Salesforce 8,000 คน

หรือแม้แต่ Tesla, Netflix, Robinhood, Snap, Coinbase, Spotify, eBay และอื่น ๆ อีกมากมาย แม้จะไม่ได้มากเท่ากับด้านบน แต่ก็มีการปลดพนักงานออกเช่นเดียวกัน (ซึ่งก็ดูเหมือนว่าจะยังไม่จบแค่นี้ด้วย)

นอกจากนั้นแล้วยังมีพนักงานที่ตัดสินใจลาออกเองเพราะไม่อยากกลับไปทำงานที่ออฟฟิศ หรือบางคนก็รับไม่ได้กับการบริหารพนักงานของหัวหน้าที่บังคับให้ทำงานหามรุ่งหามค่ำแบบฮาร์ดคอ เปลี่ยนโซฟาออฟฟิศเป็นเตียงนอนต่าง ๆ นานา

แล้วเกิดขึ้นได้ยังไงกัน?

ต้นสายของเรื่องนี้ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของค่าใช้จ่ายในการโฆษณาและรายได้ที่ลดลง อย่างที่เราทราบดีว่ารายได้หลักของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่หลายแห่งนั้นขึ้นอยู่กับเงินโฆษณา ซึ่งตราบใดที่เงินยังไหลเข้ามาอย่างสม่ำเสมอก็ไม่มีปัญหาอะไร (อย่างช่วงก่อนโควิด) ก็จ้างงานพนักงานเพิ่มขึ้นต่อไปได้เรื่อย ๆ

แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เงินโฆษณาเริ่มหดหาย ทุกอย่างก็เลวร้ายลง

ความกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่กำลังจะเกิดขึ้นเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อที่สูงและการขึ้นดอกเบี้ยของรัฐบาลกลาง กลายเป็นชนวนเริ่มต้นของการปลดพนักงานที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ บริษัทน้อยใหญ่ต่างพยายามรัดเข็มขัดในเรื่องค่าใช้จ่าย นั่นรวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการทำการตลาดและโฆษณาต่าง ๆ สุดท้ายกลายเป็นงูกินหางที่ทำให้ทำบริษัทเทคโนโลยีที่พึ่งพารายได้จากตรงนั้นต้องปลดพนักงานลงไปด้วย

ในตอนนี้ดูเหมือนว่าบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เพียงแห่งเดียวที่ยังคงไม่ได้มีข่าวปลดพนักงานคือ Apple เหตุผลก็เพราะว่าช่วงที่บริษัทอื่น ๆ แห่จ้างพนักงานจำนวนมากนั้น พวกเขากลับค่อย ๆ เพิ่มอย่างระมัดระวัง พอถึงเวลาที่ต้องรัดเข็มขัดกันจริง ๆ จึงไม่ได้กระทบมากสักเท่าไหร่ (แต่ก็ยังมีพนักงานบางส่วนที่ลาออกไปเพราะต้องกลับไปทำงานที่ออฟฟิศอยู่ดี)

เรื่องนี้กระทบกับผู้บริโภคอย่างเราทุกคนยังไง?

หลายคนอ่านข่าวการปลดพนักงานเหล่านี้แล้วอาจจะรู้สึกตกใจ บางส่วนอาจจะตื่นตระหนก แต่สำหรับผู้บริโภคทั่วไปแล้วที่จริงมันจะไม่ได้กระทบกับเรามากเท่าไหร่เลย เพราะผลิตภัณฑ์ของบริษัทเหล่านี้ก็ยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่ได้การสะดุดหรือหยุดแต่อย่างใด

ยกตัวอย่าง Twitter ก็ได้ที่ปลดพนักงานเกินครึ่งหนึ่งไปแล้ว บางคนคิดว่าบริษัทจะตาย คนแห่กันย้ายแพลตฟอร์มเพราะกลัวจะไม่มีพื้นที่โซเชียลให้เสพข่าวอย่างที่คุ้นเคย แต่ผ่านมาสี่เดือนหลังจากพายุอีลอน มัสก์ (Elon Musk) พัดเข้าใส่ Twitter มันก็ยังอยู่มาจนถึงตอนนี้ (เหตุผลที่มันจะตายอาจจะไม่ใช่เรื่องการปลดพนักงาน แต่เป็นหาเงินมาจ่ายหนี้ไม่ทันมากกว่า)

แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม โปรเจกต์ย่อย ๆ หรือ การลงทุนในโปรเจกต์ที่ยังไม่สามารถสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำอย่างชัดเจนในอนาคตอันใกล้ก็คงไม่มีได้มีความสำคัญเท่าไหร่นัก ยังจำ Metaverse ของ มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ได้ไหมครับ? ตอนนี้มันอาจจะไม่ได้มีน้ำหนักในการพัฒนาเท่ากับเมื่อก่อนแล้ว เพราะต้องมาโฟกัสเรื่องการสร้างรายได้ให้เติบโตกันก่อน

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ด้วยภาวะการระบาดของโควิด-19 ทำให้ดอกเบี้ยการกู้เงินนั้นค่อนข้างต่ำเพราะรัฐบาลต้องการพยุงธุรกิจให้สามารถอยู่รอดได้ในช่วงวิกฤติ แต่ตอนนี้เมื่อดอกเบี้ยสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องชะลอการลงทุนในส่วนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่สินค้าหลักลงไปก่อนนั่นเอง

คนที่ถูกปลดออกจากงานจะเป็นยังไง?

การถูกปลดออกจากงานนั้นสร้างผลกระทบทั้งทางด้านการเงินและจิตใจให้กับพนักงาน โดยเฉพาะเมื่อพนักงานเหล่านี้มีภาระความรับผิดชอบทางด้านการเงิน ต้องผ่อนบ้าน ผ่อนรถ หรือดูแลครอบครัว การถูกปลดออกจากงานแบบฟ้าผ่าอาจจะทำให้เสียศูนย์ได้เลยทีเดียว แม้ว่าบริษัทใหญ่ ๆ จะมีเงินชดเชยให้บางส่วน แต่มันก็ทำให้เกิดแผลในใจ โทษตัวเองว่าที่โดนปลดเพราะไม่มีความสามารถ

แต่ยังไงก็ตาม พนักงานที่ถูกปลดในครั้งนี้เป็นพนักงานที่มีความสามารถ ส่วนใหญ่แล้วอยู่ในสายเทคโนโลยี จึง ‘มีโอกาส’ ที่จะหางานใหม่ได้ง่ายกว่าสายงานอื่น ๆ การมีประวัติการทำงานในบริษัทใหญ่ ๆ ก็ช่วยทำให้ใบสมัครงานดูมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นด้วย

แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยี?

เมื่อมีจำนวนคนที่ว่างงานเยอะขึ้น การปลดพนักงานครั้งนี้จะทำให้ระดับเงินเดือนในตลาดลดลงมาด้วย จากช่วงก่อนที่ตลาดแรงงานยังร้อนแรง โปรแกรมเมอร์ที่เพิ่งจบจากมหาวิทยาลัยจะได้รายได้เริ่มต้นปีละกว่า 185,000 เหรียญ/ปี หรือราว ๆ 6.2 ล้านบาทเลยทีเดียว

แม้ว่าตัวเลขและข่าวการปลดพนักงานที่เกิดขึ้นทุกวันจะดูน่ากังวลใจ แต่โดยรวมแล้วอุตสาหกรรมเทคโนโลยีก็จะไม่ได้กระทบอะไรมากเท่าไหร่ ส่วนที่ปลดออกไป เป็นเพียงบางส่วนของพนักงานที่จ้างเพิ่มเท่านั้น

ดูเหมือนว่ายุคทองของบริษัทเทคโนโลยีกำลังจะผ่านไป การเติบโตแบบก้าวกระโดด การจ้างงานแบบบ้าคลั่ง และโปรเจกต์นวัตกรรมอาจจะเริ่มชะลอตัวลงไปแล้ว แต่ว่าในส่วนผลิตภัณฑ์หลักอื่น ๆ ก็ดูเหมือนไม่น่าจะมีอะไรกระทบมากเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นสำหรับผู้ใช้งานแม้คงไม่ได้เห็นอะไรใหม่มากมายในอนาคตอันใกล้ แต่ผลิตภัณฑ์ที่เราคุ้นเคยก็น่าจะไม่หายไปไหนในเร็ว ๆ นี้อย่างแน่นอน

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส