เป็นที่น่าตื่นเต้นและสร้างความตื่นเต้นไปทั่วทั้งแวดวงดาราศาสตร์ เมื่อในที่สุด จีนก็สามารถนำยานอวกาศลงจอดบนดาวอังคารได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา หลังจากการเดินทางอันยาวนานนับ 10 เดือน ทั้งยังเป็นครั้งแรกของโลก ที่สามารถส่งยานขึ้นไปโคจรและลงจอดบนดาวอังคารเสร็จสมบูรณ์ในภารกิจปล่อยยานอวกาศเพียงครั้งเดียว ซึ่งนั่นส่งผลให้จีนก้าวสู่ตำแหน่งแนวหน้าในวงการสำรวจดาวอังคารของโลกทันที

วินาทีชวนลุ้น กับความสำเร็จที่น่ายินดี

เมื่อ 15 พฤษภาคม 2564 สำนักข่าวซินหัวของจีนรายงานว่า แคปซูลที่บรรจุยานสำรวจได้แยกออกจากยานโคจรเมื่อเวลาประมาณ 04.00 น. ตามเวลาปักกิ่ง เมื่อผ่านไปหลายชั่วโมง แคปซูลก็เข้าสู่ชั้นบรรยากาศของดาวอังคารที่ระดับความสูง 125 กิโลเมตร

จากนั้น จึงพุ่งเข้าหาผิวน้ำด้วยความเร็ว 4.8 กิโลเมตรต่อวินาที เมื่อยานเข้าใกล้พื้นผิวดาวอังคาร ก็ปล่อยร่มชูชีพขนาดใหญ่เพื่อชะลอความเร็ว และในระดับ 100 เมตรเหนือพื้นผิวดาวอังคาร ก็ใช้ระบบเลเซอร์นำทางประเมินพื้นที่ เพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวางก่อนลงจอด

วิดีโอแสดงภาพจำลองการแยกตัวและลงจอดของยานสำรวจอวกาศยานแรกของจีน

Credit : Xinhua

การลงจอดนี้ดำเนินไปโดยอัตโนมัติ เกิงหยาน เจ้าหน้าที่ศูนย์โครงการสำรวจและอวกาศดวงจันทร์ขององค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) กล่าวว่า “ทุกขั้นตอนมีโอกาสเพียงครั้งเดียว และทุกขั้นตอนนั้นเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง หากมีข้อบกพร่องเพียงจุดใดจุดหนึ่งการลงจอดก็จะล้มเหลว”

หลังจากการลงจอดเป็นไปด้วยดี ไม่กี่วันต่อมา จีนก็เผยแพร่ภาพแรกบนดาวอังคารที่ถ่ายโดยกล้องที่ติดตั้งกับยานสำรวจ โดยรูปแรกนั้นเป็นภาพขาวดำรูป บันทึกภาพโดยกล้องหลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวางที่ติดตั้งหน้ายานสำรวจพื้นผิว เผยให้เห็นบันไดทางลาดที่ยืดขยายลงสู่พื้นผิวดาวอังคาร เผยให้เห็นลักษณะภูมิประเทศหน้ายานสำรวจพื้นผิวอย่างชัดเจน

Credit : Xinhua

สำหรับภาพที่ 2 เป็นภาพสี ถ่ายโดยกล้องนำทางที่ติดตั้งหลังยานสำรวจพื้นผิว เผยให้เห็นแผงโซลาร์เซลล์และเสาอากาศของยานสำรวจพื้นผิวที่ถูกกางออก รวมถึงดินและหินสีแดงบนพื้นผิวดาวอังคาร

Credit : Xinhua

นอกจากภาพนิ่งแล้ว ยานอวกาศเทียนเวิ่น-1 ยังส่งวิดีโอจำนวน 2 รายการที่บันทึกโดยกล้องบนยานโคจร เผยเหตุการณ์ขณะยานลงจอดและยานสำรวจพื้นผิวแยกตัวออกจากยานโคจรระหว่างลงจอดด้วย

Credit : Xinhua

ยานอวกาศเทียนเวิ่น-1 ออกเดินทางจากโลกมุ่งหน้าไปสู่ดาวอังคารตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2020 ยานประกอบด้วยยานโคจร ยานลงจอด และยานสำรวจพื้นผิว ถือเป็นภารกิจการสำรวจดาวเคราะห์ในระบบสุริยะของจีน โดยมีจุดมุ่งหมายโคจร ลงจอด และวิ่งสำรวจพื้นผิวดาวอังคารในภารกิจเดียว

(อ่านต่อหน้า 2 คลิกด้านล่างเลย)

นี่คือ ‘Big leap for China’ ก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ของจีน

ทันทีที่ยานอวกาศลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารได้สำเร็จ นักวิทยาศาสตร์ชาวจีนผู้ดูแลภารกิจนี้ต่างโห่ร้องแสดงความใจ

Credit : Xinhua

ขณะเดียวกัน ในอีกซีกโลก โทมัส ซูร์บูเชน (Thomas Zurbuchen) รองผู้บริหารกรมภารกิจวิทยาศาสตร์ (Science Mission Directorate) องค์การนาซา (NASA) ของสหรัฐฯ ก็ได้ออกมาร่วมแสดงความยินดีกับความสำเร็จในภารกิจลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารของยานอวกาศเทียนเวิ่น-1 (Tianwen-1) ของจีนผ่านทวิตเตอร์ด้วย

จากภาพซูร์บูเชนโพสต์ข้อความลงทวิตเตอร์ใจความว่า “ขอแสดงความยินดีกับทีม #เทียนเวิ่น1 ขององค์การอวกาศแห่งชาติจีน กับความสำเร็จในภารกิจลงจอดของ #จู้หรง ยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคารลำแรกของจีน ผมและชุมชนวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต่างตั้งตารอผลการดำเนินงานที่สำคัญของภารกิจนี้ที่จะช่วยเหลือมนุษยชาติในการทำความเข้าใจดาวเคราะห์สีแดง (ดาวอังคาร)” 

ไม่เพียงแต่บุคลากรจากหน่วยงานนาซา โรแบร์โต โอโรซี (Roberto Orosei) นักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์จากสถาบันกัมมันตภาพรังสีโบโลญญา (Institute of Radioastronomy of Bologna) ในอิตาลี ยังกล่าวว่า ภารกิจนี้ ‘ถือเป็นก้าวกระโดดครั้งใหญ่สำหรับจีน’ เพราะพวกเขาทำสิ่งที่นาซาใช้เวลาหลายสิบปีทำ และประสบความสำเร็จด้วยการทำเพียงครั้งเดียวและความสำเร็จนี้ยังส่งผลให้จีนเป็นชาติที่ 3 ถัดจากรัสเซียและสหรัฐอเมริกาที่นำยานลงจอดบนดาวเคราะห์ดังกล่าวได้

เพียงแค่การลงจอดได้สำเร็จนั้น นั่นยังไม่นับเป็นก้าวทั้งหมดที่ว่ายิ่งใหญ่ หากแต่เป็นสิ่งที่อยู่ในภารกิจต่อไปต่างหาก ซึ่งนั่นก็คือ การที่ยานพื้นผิวดาวอังคารลำแรกของจีนจะได้โลดแล่นสร้างตำนาน เก็บข้อมูลต่าง ๆ ตามเป้าหมายที่วางไว้นั่นเอง 

สำหรับยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคารของจีนนั้น ก่อนหน้านี้ องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน ได้ให้ประชาชนร่วมเสนอชื่อเพื่อคัดเลือกชื่อที่เหมาะสม จนเหลือ 3 รายชื่อที่เข้ารอบสุดท้าย ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันอวกาศ (Space Day) ของจีนพอดี (จีนกำหนดให้วันที่ 24 เม.ย. เป็นวันอวกาศของจีน ตั้งแต่ปี 2016 เพื่อรำลึกถึงการส่ง ‘ตงฟางหง-1’ (Dongfanghong-1) ดาวเทียมดวงแรกของประเทศขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 1970) จีนก็ได้ประกาศว่ายานสำรวจนี้มีชื่อว่า ‘จู้หรง’ (Zhurong) 

เทพแห่งไฟกับภารกิจการสำรวจดาวเคราะห์แห่งไฟ

‘จู้หรง’ (Zhurong) คือชื่อเทพแห่งไฟในตำนานจีนโบราณ ซึ่งพ้องกับ ‘หั่วซิง’ (Huoxing) ชื่อดาวอังคารในภาษาจีนที่แปลว่า ‘ดาวเคราะห์แห่งไฟ’ พอดี ด้วยชื่อนี้จึงฟังดูเหมาะสมจนประชาชนพากันร่วมโหวตให้เป็นชื่อของยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคารลำแรกของประเทศ

อู๋เหยี่ยนหัว รองผู้อำนวยการองค์การฯ ระบุว่า ไฟนำพาความอบอุ่นและความสว่างมาสู่บรรพบุรุษของมนุษยชาติ และไฟเป็นสิ่งที่จุดประกายอารยธรรมมนุษย์ ดังนั้น การตั้งชื่อยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคารลำแรกของจีนตามเทพเจ้าแห่งไฟ จึงหมายถึงการจุดไฟแห่งการสำรวจดาวเคราะห์ของจีน

ทั้งนี้ ‘จู้’ แปลว่าความปรารถนาในภาษาจีน หมายถึงความปรารถนาดีต่อการสำรวจจักรวาลของมวลมนุษยชาติ ส่วน ‘หรง’ ซึ่งแปลว่าการบูรณาการและความร่วมมือในภาษาจีน สะท้อนวิสัยทัศน์ของจีนในการใช้อวกาศอย่างสันติและการสร้างประชาคมมนุษยชาติที่มีอนาคตร่วมกัน

Credit : Xinhua

‘ยานสำรวจจู้หรง’ ติดตั้งเรดาร์เจาะพื้น เลเซอร์ รวมถึงเซนเซอร์ตรวจวัดบรรยากาศและสนามแม่เหล็ก พร้อมอุปกรณ์อีกหลายอย่าง เพื่อเก็บข้อมูลจากดาวเคราะห์สีแดง โดย หลี่ชุนไหล รองหัวหน้าผู้ออกแบบภารกิจสำรวจดาวอังคารครั้งแรกของจีน กล่าวว่า ภารกิจสำรวจดาวอังคารครั้งนี้ไม่เพียงมุ่งตรวจสอบว่ามีหรือเคยมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่บนดาวอังคารหรือไม่ แต่ยังเปิดเผยประวัติศาสตร์วิวัฒนาการและกระแสการพัฒนาของโลกในอนาคต ตลอดจนตรวจสอบความเป็นไปได้ในการสร้างแหล่งที่อยู่อาศัยสำหรับมนุษย์ด้วย

ขณะนี้ ยานสำรวจจู้หรงเข้าร่วมภารกิจกับยานสำรวจอื่น ๆ บนดาวอังคาร ทั้งยานสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์ (Perseverance) และ คิวริออซิตี (Curiosity) ของนาซา ยานโคจรโฮป (Hope) ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ “และนั่นทำให้ทำให้ตอนนี้ดาวอังคารเต็มยิ่งไปด้วยความเริงร่าครับ” เดวิด แฟลนเนอรี (David Flannery) นักชีวดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีควีนส์แลนด์ (Queensland University of Technology) ในบริสเบน ประเทศออสเตรเลียกล่าว

(อ่านต่อหน้า 3 คลิกด้านล่างเลย)

นอกจากความสำเร็จทางวิศวกรรมในการเดินทางไปที่นั่นแล้ว ภารกิจนี้ยังเป็นที่คาดหวังว่า จะช่วยเปิดเผยข้อมูลทางธรณีวิทยาใหม่ ๆ ด้วย เนื่องจากพื้นที่ลงจอดของยานสำรวจจู้หรงคือ ‘ยูโทเปีย แพลนนิเทีย (Utopia Planitia)’ อันเป็นพื้นที่ในซีกโลกเหนือของดาวอังคาร ที่เกิดจากการพุ่งชนของวัตถุเมื่อหลายพันล้านปีก่อน จนก่อเกิดเป็นพื้นที่กว้างและแบนราบเป็นแอ่งขนาดใหญ่

ภาพหลุมอุกกาบาตบนดาวอังคารถ่ายโดยยานโคจรเทียนเวิ่น-1 ของจีน

พื้นผิวของแอ่งส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยวัสดุที่เกิดจากภูเขาไฟ และหล่อหลอมด้วยกระบวนการต่าง ๆ เช่น การแช่แข็งและการละลายของน้ำแข็งซ้ำ ๆ ทั้งนี้ การศึกษาพื้นที่จากวงโคจรของดาวอังคารชี้ให้เห็นว่า ชั้นดินเยือกแข็งคงตัว หรือ Permafrost (เป็นชั้นดินที่เย็นจัดจนเป็นน้ำแข็ง แต่ไม่ได้คงตัวเหมือนอย่างชื่อ) อาจซ่อนตัวอยู่ใต้พื้นผิวดาว

อันที่จริงการเดินทางไปยังพื้นที่ดังกล่าวไม่ใช่ครั้งแรก ในปี 1976 ยานสำรวจไวกิ้ง 2 (Viking 2) ของนาซาได้ลงจอดบนพื้นที่นี้เช่นกัน แต่ไปยังตำแหน่งที่อยู่เหนือกว่าที่จู้หรงลงจอด

“เป็นสถานที่ที่ดีในการลองลงจอดครั้งแรก” แฟลนเนอรีกล่าว ระดับความสูงของพื้นผิวที่ต่ำ ภูมิประเทศที่ไร้สิ่งกีดขวาง และรวมทั้งความเป็นไปได้ที่จะมีน้ำแข็งในใต้พื้นผิวบริเวณนั้น ซึ่งนั่นหมายความว่ายานสำรวจอาจสามารถเก็บตัวอย่างที่ดีได้

ขนาบทั้งฟากฟ้าและผืนดิน ภารกิจเทียนเวิ่น-1 และยานสำรวจจู้หรง

ด้านเป้าหมายทางวิทยาศาสตร์ของยานเทียนเวิ่น-1 ประกอบด้วยการทำแผนที่สัณฐานวิทยาและโครงสร้างทางธรณีวิทยา การตรวจสอบลักษณะของดินบนพื้นผิวและการกระจายตัวของน้ำ-น้ำแข็ง การวิเคราะห์องค์ประกอบทางวัตถุของพื้นผิว การวัดชั้นบรรยากาศไอโอโนสเฟียร์และลักษณะของสภาพภูมิอากาศบนดาวอังคารและสภาพแวดล้อมบริเวณพื้นผิว ตลอดจนการทำความเข้าใจพื้นที่ทางกายภาพและโครงสร้างภายในของดาวอังคาร

โดยยานโคจรมีอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ติดตั้ง 7 ชนิด ได้แก่ กล้องสำรวจระยะไกล 2 ตัว เรดาร์สำรวจชั้นดินจากวงโคจรดาวอังคาร สเปกโตรมิเตอร์วัดแร่ธาตุดาวอังคาร เครื่องวัดความเข้มข้นของสนามแม่เหล็กของดาวอังคาร เครื่องวัดอนุภาคที่เป็นกลางและไอออนของดาวอังคาร และเครื่องวัดอนุภาคพลังงานของดาวอังคาร

ขณะที่ยานเทียนเวิ่น-1 ทำการสำรวจจากฟากฟ้า ยานสำรวจจู้หรงก็จะดำเนินการสำรวจพื้นแผ่นดิน โดยเริ่มที่ ‘การวัดดาวอังคาร’

ยานสำรวจจู้หรงมีชุดเครื่องมือสำหรับการสำรวจสภาพแวดล้อมของดาวอังคาร ได้แก่ กล้อง 2 ตัวติดตั้งบนเสาของยาน เพื่อถ่ายภาพโขดหินในบริเวณใกล้เคียงในขณะที่รถสำรวจอยู่กับที่ใช้ในการวางแผนการเดินทาง นอกจากนี้ ยังมีกล้องหลายสเปกตรัม ที่ตั้งอยู่ระหว่างกล้องถ่ายภาพเพื่อนำทางทั้งสองซึ่งจะช่วยเปิดเผยและแสดงให้เห็นว่า หินหน้ากล้องมีแร่ใดเป็นองค์ประกอบบ้าง

สำหรับเรดาร์เจาะพื้นของยานสำรวจนั้น จะช่วยเปิดเผยข้อมูลทางธรณีวิทยาในพื้นที่ที่รถสำรวจเคลื่อนผ่านไป หากโชคดียานสำรวจจู้หรงอาจตรวจพบเส้นคั่นบาง ๆ ที่บ่งบอกถึงชั้นดินเยือกแข็งคงตัวด้วย ซึ่งการรู้ว่า ชั้นดินนี้อยู่ลึกเพียงใด และลักษณะทั่วไปของมัน สามารถให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบนดาวอังคารได้ และยังอาจเผยให้เห็นชะตากรรมของน้ำที่เคยมีอยู่ในอดีตอันไกลโพ้นได้ด้วย

Credit : Xinhua
Credit : Nature

โจเซฟ มิชาลสกี้ (Joseph Michalski) นักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์แห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกง (University of Hong Kong) ยังสำทับด้วยว่า หากโชคดียิ่งไปกว่านั้น ยานอาจจะพบหินโบราณบางก้อนซึ่งสามารถเปิดหน้าต่างสู่ประวัติศาสตร์ของโลกของเราเองได้ด้วย เนื่องจากหลักฐานต่าง ๆ บนโลกของเราได้ถูกทำลายไปแล้วด้วยการแปรสัณฐานแผ่นธรณีภาค หรือการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก (Plate tectonics)

นอกจากนี้ สเปกโตรมิเตอร์ของยานสำรวจจู้หรง ยังมีเทคโนโลยีเลเซอร์ที่สามารถทะลวงหินเพื่อศึกษาถึงที่มาของมันได้ด้วย ยานสำรวจจู้หรงยังเป็นรถสำรวจคันแรกที่ติดตั้งแมกนีโตมิเตอร์เพื่อวัดสนามแม่เหล็กในบริเวณใกล้เคียง ช่วยให้เก็บข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการสูญเสียสนามแม่เหล็กอันแข็งแกร่งของดาวอังคาร อันเป็นเหตุการณ์ที่เปลี่ยนดาวให้กลายเป็นสถานที่ที่เย็นและแห้งแล้ง ไร้ซึ่งสิ่งชีวิตใด ๆ ด้วย

ข้อมูลเชิงลึกจากดาวอังคาร สู่วงโคจร สู่โลก และสู่เรา

เมื่อยานสำรวจจู้หรงได้ข้อมูลต่าง ๆ มันจะส่งข้อมูลไปยังยานโคจรเทียนเวิ่น-1 จากนั้นยานเทียนเวิ่น-1 จะรวบรวมข้อมูลทั้งจากยานของมันเอง และส่งข้อมูลกลับมายังโลกอีกที และเมื่อนักวิจัยรวมข้อมูลเหล่านี้กับ

ข้อมูลจากยานอวกาศอื่น ๆ ของชาติต่าง ๆ ความรู้นี้ก็จะช่วยให้นักวิจัยเห็นภาพที่ชัดเจนกว่าเดิม ว่ามีสิ่งใดบ้างเกิดขึ้นรอบดาวอังคาร

แล้วความรู้ที่ว่านี้จะมีประโยชน์อะไรกับเราบ้าง สำหรับจีนเอง การลงจอดบนดาวอังคารที่ประสบความสำเร็จนี้จะนำไปสู่ภารกิจขั้นสูงอื่น ๆ ของจีนต่อไป รวมถึงนำตัวอย่างหินจากดาวอังคารกลับมายังโลก ซึ่งมีกำหนดการว่าจะเกิดขึ้นในปี 2030 ด้วย

และเมื่อข้อมูลทั้งจากที่ส่งสัญญาณกลับมา และนำตัวอย่างกลับมา ถึงคราวนั้น เราก็จะรู้ถึงพัฒนาการของอังคาร รวมถึงองค์ประกอบธาตุของต่าง ๆ มากขึ้น เราอาจจะมีแผนที่ดาวอังคารที่สามารถนำมาใช้ช่วยวางแผนการเดินทาง เพื่อนำมนุษย์ไปยังดาวอังคาร เราอาจค้นพบว่าดาวอังคารเคยมีสิ่งมีชีวิต หรือ มีศักยภาพเหมาะสมที่จะเป็นสถานที่ที่สิ่งมีชีวิตจะอยู่อาศัยในอนาคตก็ได้ เรียกได้ว่า เป็นการปูทางความเป็นไปได้อันหลากหลายที่จะเกิดตามมาอีกหลายอย่างทีเดียว 

และนั่นจึงเป็นเหตุผลให้ความสำเร็จของจีนในครั้งนี้ เป็นทั้งการก้าวขึ้นสู่หนึ่งในประเทศที่มีเทคโนโลยีด้านอวกาศชั้นนำของโลก และทำให้เห็นว่า อวกาศเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวของมวลมนุษยชาติเข้าไปอีกก้าวหนึ่งแล้ว

อ้างอิง

Xinhua1/ Xinhua2/ Xinhua3 / Xinhua4

Nature

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส

เนื้อหาล่าสุด

Elden Ring เปิดหน้าร้านค้าบน Steam พร้อมกับแท็ก Dating Sim?

หลังจากที่ได้เผยตัวอย่างในงาน E3 2021 ทางทีม FromSoftware ก็ได้เปิดหน้าร้านค้าให้กับ Elden Ring บน Steam ซึ่งในส่วนประเภทของเกมนั้นดูเหมือนว่าจะมีแท็ก Dating Sim ...อ่านต่อ

Play video
Video
feature

ใหม่! เครื่องกรองน้ำแบบ Subscribe ใช้งานง่าย เทรนด์ใหม่ของการดื่มน้ำ

ต้องบอกว่าโมเดลธุรกิจแบบ Subscription หรือการสมัครสมาชิกแบบรายเดือน ตอนนี้กลายเป็นเทรนด์ใหม่ที่มาแรง ทั้งในและในต่างประเทศ สังเกตได้จากหลายธุรกิจเริ่มนำมาปรับใช้กับสินค้าและบริการให้เห็นแล้ว ...อ่านต่อ

Riders Republic จะเปิดให้เล่นเบต้า 23 สิงหาคมนี้

Riders Republic เกมออนไลน์แนวกีฬาเอ็กซ์ตรีมผลงานจาก Ubisoft จะเปิดเบต้าให้เกมเมอร์เข้าไปเล่นในวันที่ 23 สิงหาคม

ลือ Asus จับมือกับ Noctua ออกแบบ Cooler สำหรับการ์ดจอ

Noctua เป็นบริษัทผลิต Cooler ของ CPU ที่ถือว่าอยู่ในระดับต้น ๆ ของวงการในด้านประสิทธิภาพในการระบายความร้อนและความเงียบ โดยล่าสุดเหมือนทาง Noctua จับมือกับ Asus เพื่อออกแบบ Cooler ...อ่านต่อ

Nippon Ichi ประกาศเปิดตัวเกมสืบสวนใหม่ Asatsugutori พร้อมวางจำหน่าย 25 พฤศจิกายนนี้

หลังจากที่ Nippon Ichi ได้สร้างเว็บไซต์ปริศนาเพื่อเผยตัวอย่างใหม่ของโปรเจกต์ไร้ชื่อนี้ในแต่ละวัน ล่าสุดทางทีมงานก็ได้เผยรายละเอียด พร้อมกับชื่อเกมอย่างเป็นทางการแล้ว ...อ่านต่อ

Resident Evil Village เวอร์ชัน PC จะได้อัปเดตแพตช์ใหม่ในสัปดาห์หน้า

ค่ายเกม Capcom ได้ทวีตข้อความประกาศว่าจะปล่อยแพตช์ใหม่ให้กับเกม Resident Evil Village เวอร์ชัน PC ในวันที่ 10 สิงหาคม 2021 ซึ่งจะมีการปรับปรุงการประมวลผลภายในเกมและปรับแต่งฟีเจอร์ ...อ่านต่อ