Oculus หรือบริษัทที่รู้จักกันในนามผู้ผลิตแว่นตา Virtual Reality อันโด่งดัง ล่าสุดพึ่งเปิดต้ว Oculus Quest 2 หรือรุ่นต่อยอดของแว่นตา VR แบบ Standalone รุ่นใหม่ ที่มาพร้อมกับการปรับปรุงประสิทธิภาพ หันมาใช้ชิปสุดแรง Qualcomm Snapdragon XR 2 ชิปสำหรับประมวลผล VR โดยเฉพาะ และเพิ่มความละเอียดของภาพต่อข้างตาเกือบถึง 4K

แน่นอนว่าทีมงาน #beartai ไม่รอช้าที่จะจัดของเล่นสุดล้ำชิ้นนี้มารีวิว และเราก็ได้เจ้า Quest 2 รุ่น 64GB มาอยู่ในมือ (Oculus Quest 2 นั้นไม่มีการวางจำหน่ายในประเทศไทยนะ ต้องหิ้วอย่างเดียว)

แกะกล่อง Oculus Quest 2

ตัวกล่องออกแบบมาสวยงาม พร้อมภาพของเจ้า Quest 2 และคอนโทรเลอร์รุ่นใหม่อยู่ด้านหน้ากล่อง ซึ่งเปลี่ยนสีไปใช้สีขาวแทน จากใน Quest รุ่นแรกเป็นสีดำ และวางจำหน่ายเพียงสีเดียวเท่านั้น (ซึ่งขัดใจมาก ๆ เพราะผมเป็นคนชอบสีดำ)

ส่วนด้านหลังของกล่องก็มีการแนะนำตัวเกมที่น่าสนใจที่วางจำหน่ายอยู่บน Quest 2 ด้วย (ผมแนะนำ Beat Saber แล้วเกมนึง พลาดไม่ได้จริง ๆ ถ้ามี VR และเป็นผู้รักเกมเพลง)

เมื่อดึงปลอกด้านนอกออกก็จะพบกับกล่องแพ็กเกจของเจ้า Quest 2 กัน ซึ่งเป็นกล่องกระดาษสีน้ำตาลผิดกับด้านนอก

เปิดกล่องออกมาก็จะพบกับตัวแว่น Quest 2, Oculus Touch Hand Controller 2 สองข้าง และกล่องใส่คู่มือ พร้อมกับอุปกรณ์ชาร์จนั่นเอง

Oculus Touch 2 หรือ Hand Controller หน้าตาดูเรียบ ๆ และผมรู้สึกว่าเล็กไปหน่อยสำหรับคนมือใหญ่แบบผม ทำให้แอบรู้สึกจับไม่ถนัดบ้าง แต่ก็ไม่ได้แย่อะไรมาก แต่ของดีสำหรับ Quest 2 นี่มีส่วนอยู่ที่ Oculus Touch เยอะเลย เพราะถึงจะหน้าตาดูธรรมดา ๆ แต่มันเจ๋งมากจริง ๆ

ส่วนพระเอกของเราก็คือตัวแว่น Oculus Quest 2 นั่นเอง แพ็กมาอย่างดี มีกระดาษสีขาวห่อมาอีกชั้นด้วย ดีไซน์ยังคล้าย ๆ เดิมกับเจ้า Quest ตัวแรก เพียงแต่เปลี่ยนเป็นสีขาว (ที่กลัวจะเปื้อนเสียเหลือเกิน) โดยรอบมีปุ่มเปิดปิดเครื่อง หรือปุ่มพาวเวอร์, ไฟแสดงสถานะ ช่องหูฟัง 3.5mm และปุ่มเพิ่ม/ลดเสียงด้านล่าง

แว่น Oculus Quest 2 นั้นเป็นแว่น VR แบบ Standalone ดังนั้นทุกอย่างจะประมวลผลในตัวแว่นทั้งหมดเลย ยัดทุกอย่างเอาไว้ในนี้ ความรู้สึกแรกเมื่อหยิบออกมาจากกล่องค่อนข้างประทับใจ เพราะมันมีน้ำหนักที่เบามาก และน่าจะเป็นทางออกสำหรับผู้ที่รำคาญสายเวลาเล่นเกม VR

Oculus Quest 2 นั้นมาพร้อมกับชิปเซ็ต Qualcomm Snapdragon XR2 ซึ่งเป็นชิปสำหรับประมวลผล VR โดยเฉพาะ อัปเกรดจากรุ่นเดิมที่ใช้ชิปสมาร์ตโฟน Qualcomm Snapdragon 835 ใน Quest รุ่นแรก และเพิ่มแรมเป็น 6GB แล้ว จากเดิม 4GB

อย่าทำหักล่ะ สุดจะบาง

มาดูของที่อยู่ในกล่องกันต่อดีกว่า สิ่งนี้คือ Spacer มีเอาไว้สำหรับคนที่ใส่แว่น (แบบผม) ที่จะเอาไว้ใส่ให้เพิ่มพื้นที่ให้แว่นตาในแว่นด้วย จะได้ไม่อึดอัด ซึ่งวิธีใส่ก็ไม่ยาก แค่ดึงตัวรองหน้ากากออกมาแล้วใส่เข้าไปแค่นั้นเอง

ค่ายไหนไม่แถมนี่ใจร้ายนะ

มาถึงชิ้นสุดท้ายในกล่อง นั่นคืออุปกรณ์ชาร์จ สาย USB-C และ Power Brick USB-C พร้อมกับคู่มือการใช้งานเบื้องต้นนั่นเอง

เปิดกล่องมาผมถึงกับน้ำตาไหล เพราะเค้ายังแถมหัวชาร์จอยู่!

ของทั้งหมดในกล่อง but เอาออกมานอกกล่องแล้ว

ช่วงรีวิว

ออกตัวก่อนว่าผมเองยังไม่เคยจับตัว Oculus Quest รุ่นแรกมาก่อน เพราะฉะนั้นการรีวิวเปรียบเทียบความแตกต่างในด้านฮาร์ดแวร์ เช่นพวกความสะดวกสบายในการสวมใส่ รวมไปถึง Oculus Touch เองนั้นอาจจะเปรียบเทียบให้มากไม่ได้ แต่พยามจะหยิบข้อมูลจากข้อมูลที่มีการเปรียบเทียบเอาไว้แล้ว มาใส่เพิ่มให้นะครับ แต่ส่วนอื่นที่เปรียบเทียบได้โดยไม่ต้องจับ Quest ตัวเก่าเดี๋ยวจัดเต็มให้เลย

ความสะดวกสบายในการสวมใส่

Quest 2 นั้นมีสาย strap ที่ค่อนข้างใส่แล้วสบาย หากปรับได้พอดี ไม่บีบเกินไป แต่เมื่อใส่เป็นระยะเวลา 1-2 ชั่วโมงอาจมีอาการล้าบ้าง แต่ไม่ได้ถึงกับปวด หรืออะไร โดยรวมยังถือว่าโอเค แต่จากเท่าที่อ่าน feedback เมื่อเทียบกับ Quest รุ่นก่อน มีแต่คนบอกว่า รุ่นแรกสบายกว่า (แต่มันหนักกว่าด้วยนะ)

แต่จะแนะนำจริง ๆ ก็จะแนะนำให้สั่ง Elite Strap ที่ขายแยกในราคา 1,400 บาท โดยจะให้ความรู้สึกสบายตัวกว่าในการสวมใส่มาก ๆ ซึ่งผู้เขียนเองก็แอบสั่งไปแล้ว หลังจากเล่นมาเกือบ 2 อาทิตย์

จอแสดงผล

จอแสดงผลของ Oculus Quest 2 นั้นเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นที่อาจจะทำให้ใครหลายคนตัดสินใจอัปเกรดมาใช้ หากกำลังใช้ Quest ตัวแรก หรือแว่นรุ่นอื่นอยู่ เพราะมีการอัปเกรดความละเอียดให้สูงขึ้นเกือบถึง 4K ที่ 1832×1920 เมื่อเทียบกับ Quest ตัวแรกแล้วมากกว่าเดิมถึง 50% (Quest ตัวแรกมีความละเอียดที่ 1440×1600)

เท่าที่ทดสอบก็พบว่าหน้าจอแสดงผลมีความละเอียดสูงดี ให้ดีเทลของภาพได้คมชัด และยังสามารถดันเฟรมเรตของภาพไปได้สูงสุด 90Hz ในหน้าเมนู และเบราว์เซอร์ ส่วนขณะเล่นเกมจะดันได้สูงสุดที่ 75Hz ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าชิปเซ็ต Snapdragon XR2 นั้นไม่สามารถดันเฟรมเรตของเกมที่กินกราฟิกหนัก ๆ ได้ขนาดนั้น

Oculus Touch 2

Oculus Quest 2 เรียกได้ว่าเป็นคอนโทรเลอร์ที่เจ๋งมาก ๆ ในเรตราคานี้ หากใครเคยใช้คอนโทรเลอร์ของ Oculus ตัวอื่นมากก่อนเช่น Oculus Rift ก็แทบจะถอดกันมาเลย แมปปิงการวางปุ่มก็คล้ายกัน แต่ Oculus Touch 2 จะค่อนข้างสั้นกว่าหน่อย (หรือผมมือใหญ่ไปเองนะ)

ที่มีชื่อว่า Oculus Touch ก็เพราะว่าปุ่มของมันแต่ละปุ่มมีระบบ Sensitive Touch อยู่จริง ๆ เป็นตัวช่วยให้เราเห็นขณะอยู่ในโลกของ VR ว่านิ้วของเรากำลังอยู่เหนือปุ่มไหน เพราะจะมีการตอบสนองต่อภาพของมือเราที่ถือคอนโทรเลอร์ด้วย หรือเกมใด ๆ ที่รองรับ ก็จะแสดงผลนิ้วตามการขยับของนิ้วเราด้วย

แบตเตอรี

แบตเตอรีของ Quest 2 นั้นสามารถใช้งานได้สูงสุดราว ๆ 3 ชั่วโมงสำหรับการดูหนัง หรือใช้งานอะไรที่ไม่ได้หนักมาก ส่วนการเล่นเกมได้ราว 2 ชั่วโมง บวกลบ เพราะว่าแต่ละเกมนั้นกินพลังงานมากน้อยต่างกัน แต่ก็เคยเล่นจนแบตหมดคาที่แค่รอบเดียว เพราะบางทีก็รู้สึกว่าเล่นวันละ 1-2 ชม. ก็เยอะพอแล้วสำหรับ VR

โดยรวมคือแบตอยู่ได้นานพอจะเสพเนื้อหาต่าง ๆ เสียอย่างเดียวคือชาร์จช้า ใช้เวลา 2 ชั่วโมงครึ่งถึงจะเต็ม

ประสิทธิภาพ

ชิปเซ็ต Qualcomm Snapdragon XR2 เป็นชิปที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าตัวเก่าใน Quest 2 อย่างมาก เรียกได้ว่าเป็น Minor Change เลยเมื่อเทียบกับตัวเก่าอย่าง Qualcomm Snapdragon 835 จากที่ตัว Quest เองนั้นมีพื้นฐานเป็น Android

ชิปเซ็ตตัวนี้สามารถดันเฟรมเรตของเกมได้สูงสุดที่ 75Hz หากเกมนั้น Optimize มาดีมากพอ คุณก็จะได้พบกับความสบายตาอย่างมาก และเราสามารถเปิดโหมด 90Hz ได้ด้วยในหน้าเมนู และแอปบางตัวที่ติดมากับเครื่อง

หลัก ๆ เลยคือชิปแรงขึ้นแน่ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะต้องเอามาประมวลผลภาพที่มีความละเอียดเพิ่มขึ้นอย่างมาก ดันเฟรมเรตได้สูง ๆ และรองรับเกมใหม่ ๆ ที่จะออกมาในอนาคต ให้มีกราฟิกที่สูงกว่าเดิมได้

ฟีเจอร์ที่ชอบ

ในส่วนนี้อาจจะเล่าถึงฟีเจอร์ที่มีอยู่แล้วใน Oculus ตัวอื่น แต่พอนำมาใช้กับ Quest แล้วมันยิ่งเจ๋งขึ้น และเล่าเพื่อบางคนที่ไม่เคยสัมผัส Oculus มากก่อนด้วยนะ

Passthrough

อีกสิ่งที่ชอบของ Oculus Quest 2 คือฟีเจอร์ Passthrough ที่จะใช้กล้องขาว-ดำที่ฝังอยู่ในด้านหน้าของตัวแว่นฉายภาพในตัวแว่น ช่วยให้เราเห็นภาพด้านนอก โดยที่ไม่ต้องถอดแว่นออกมา ซึ่งเราสามารถเปิดโหมดนี้ได้ง่ายสุดโดยการเคาะที่ด้านข้างของแว่น ซ้าย หรือขวาสองครั้งเพื่อเปิดโหมด ทำให้เรามองเห็นสิ่งต่าง ๆ ภายนอกได้รวดเร็ว

Guardian Zone

อันนี้น่าจะเป็นฟีเจอร์ที่เห็นกันในแว่น VR หลาย ๆ ตัว ซึ่งเป็นการสร้างพื้นที่เสมือนจากโลกความเป็นจริง ที่จะช่วยให้เราคงอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยที่ต้องการได้แม้จะอยู่ในโลกของ VR

โดยหากเราเดินออกจากขอบ หรือมีส่วนใดของร่างกายไปแตะตรงผนังชอง Guardian ก็จะมีการแจ้งเตือนในรูปแบบของกำแพงล่องหนคอยเตือนเราด้วย และเมื่อเราเดือนออกไปนอกพื้นที่ หรือชะเง้อหน้าออกไป เราก็จะเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายนอกทันที หรือออกจากโลกของ VR ทันที (เปิดฟีเจอร์ Passthrough)

หากนึกภาพไม่ออก ให้ลองดูคลิปด้านล่าง (เนื่องจากว่าภาพ Record ในตัวเครื่องเขาไม่อนุญาตให้อัดภาพด้านอกมาด้วย เลยต้องเอากล้องไปจ่อจอดูเลย)

Hand Tracking

สุดยอดฟีเจอร์ของ Oculus Quest เลยก็ว่าได้กับ Hand Tracking ซึ่งนอกจากตัวเครื่องจะไม่ต้องการกล้อง หรือเซนเซอร์ที่ต้องไปติดตามห้องแบบพิเศษใด ๆ สำหรับเล่น แล้วยังจะมีฟีเจอร์จับตามเคลื่อนไหวของมือให้เราใช้มือเปล่า ๆ ในการควบคุม และเล่นเกมบางเกมได้อีกด้วย! (ห้องต้องสว่างกำลังพอดี ไม่จ้าเกินไป)

แต่น่าเสียดายที่ยังมีเกมที่รองรับระบบ Hand Tracking น้อยมาก ๆ เพราะข้อจำกัดในการ track ที่จะตามเฉพาะตอนมือของเราอยู่หน้ากล้องเท่านั้น

ฟีเจอร์นี้เป็นฟีเจอร์เด็ดตั้งแต่รุ่นแรกแล้ว นั่นคือ “Oculus Link” ที่จะเปลี่ยนร่างจากแว่น VR Standalone ให้สามารถนำไปต่อคอมพิวเตอร์เพื่อเล่นเกมจาก SteamVR ได้ (หรือเกมจากแพลตฟอร์มอื่น ๆ ที่รองรับ) แต่! เราจะต้องซื้อสาย Oculus Link เพิ่มเติม ที่เป็นสาย USB-C ความเร็วสูงเท่านั้นมาใช้นะครับ ขายแยก (อีกแล้ว) ในราคา 2,400 บาท

ข้อสังเกต

ปรับ IPD ได้ไม่ละเอียด

จากเท่าที่ทดลองใช้อยู่ก็พบว่าการปรับค่า IPD หรือค่าความห่างระหว่างช่วงตาที่แตกต่างกันในแต่ละคน นั้นปรับได้ไม่ละเอียดเท่าที่ควร ซึ่งสามารถปรับได้แค่ 3 ระดับเท่านั้น (58, 63 และ 68) หากใครที่มีค่า IPD อยู่ระหว่างช่วง 1-2 หรือ 2-3 ก็อาจจะต้องพบเจอกับความไม่ชัดของภาพเสียหน่อย

แต่จริง ๆ แอบมีทริกที่ทาง Oculus ไม่ได้บอกมา ก็คือเราสามารถดันช่วงระหว่าง 1 ไป 2 หรือ 2 ไป 3 ได้ตามภาพ สมมติเรามีค่า IPD อยู่ที่ 65 ซึ่งตามสเปกที่ให้มามันที่แค่ 63 และ 68 เราก็เพียงแค่ดันให้ไปอยู่ในช่วงระหว่าง 2 ไป 3 นั่นเอง

วัสดุเป็นผ้า แล้วยังจะใช้สีขาวอีก! (เดี๋ยวจะตี)

Oculus Quest 2 นั้นวางจำหน่ายสีเดียวคือสีขาว เปลี่ยนจากรุ่นแรกที่วางจำหน่ายสีเดียวเช่นกัน แต่เป็นสีดำ ซึ่งตัวของ Quest 2 นั้นมีส่วนประกอบที่เป็นผ้าด้วย คือส่วน Strap หรือสายสวมใส่ ซึ่งมีโอกาสง่ายมาก ๆ ที่จะเกิดรอยดำ หากดูแลรักษาไม่ดี และยิ่งเป็นอุปกรณ์แบบนี้ที่ต้องหยิบมาสวมใส่เวลาใช้ มันก็ดูแลยากมาก ๆ แถมเป็นผ้าอีก ก็เป็นข้อควรระวังที่ต้องคำนึงไว้นิดหนึ่ง เพราะผมเองก็ทำตรงขอบเริ่มมีรอยดำ ๆ แล้ว

โดยรวม

Oculus Quest 2 ยังคงเป็นแว่น VR แบบที่ไม่ต้องต่อคอมพิวเตอร์ที่เด็ดมาก ๆ ทั้งจอภาพที่ชัดขึ้นกว่าเดิม ชิปที่แรงกว่าเดิม ฟีเจอร์ต่าง ๆ ประจำค่าย Oculus ก็ขนมาใส่เอาไว้เต็ม ๆ แถมยังรองรับกับการต่อเล่นกับเกมคอมพิวเตอร์อีก หากเบื่อกับเกมใน Oculus Store แล้ว

ทั้งหมดนี้วางจำหน่ายในราคาเท่าเดิมกับ Quest รุ่นแรก เริ่มต้น 64GB ราคา 299 เหรียญฯ หรือราว 9,000 บาท (แต่ร้านหิ้วมาราคา 14,000 บาท) กับอีกหนึ่งความจุ 256GB หรือราคาราว 12,000 บาท (ร้านหิ้วมาราว ๆ 16,000 บาท)

ส่วนอันนี้แถม

“64GB พอไหม?

สำหรับผมคือเยอะแยะมากมายจนไม่รู้จะโหลดอะไรมาเล่น เพราะเกมใน Oculus Store นั้นแพงมาก ๆ หากเทียบราคาเกมระหว่าง Beat Saber บน Steam ที่ราคาราว 300 กว่าบาท แต่บน Oculus Store มีราคาสูงถึง 900 บาท! เกมระดับ AAA แทบทุกเกมจะอยู่ที่ 29.99 เหรียญฯหมดเลย อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณา เพราะเป็นราคาที่ต้องแลกมากับการเล่นแบบไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์อะนะ

ถ้าให้ตอบตรง ๆ ก็คือ หากคุณไม่ได้คิดจะลงเกมทีเดียวเป็นร้อยเกม หรือหาหนังความละเอียดสูง ๆ มาลงไว้ดูแล้ว 64GB มันเหลือเฟือมาก

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส