แบไต๋ตู้ต่อไปวันนี้ไม่ต้องเดินทางไปไหนไกลเลยครับ ในออฟฟิศของแบไต๋นี่แหละ เรามีตู้ใหม่มาติดตั้งคือ NAS จาก Synology ครับ ฟังชื่ออะไร แนดๆๆ นี่จิตประสาทส่วนลึกของผมส่งสัญญาณมาแต่ไกลเลย ว่ามันน่าจะเข้าใจยากแน่ๆ แต่ทีมงานผมตาลุกวาวกับเจ้าตู้นี้มากเลยนะ บอกว่ามันใช้ง่ายแล้วมีความสามารถเด็ดคือ

  • เก็บงานได้ทั้งออฟฟิศ เอาไปเปิดที่ไหน ในโลกก็ได้
  • ทำเป็นถังเก็บข้อมูลให้คนอื่นอัปโหลดไฟล์มาเก็บไว้ก็ได้
  • เก็บไฟล์วิดีโอส่งไปเปิดในสมาร์ททีวีก็ได้
  • สามารถแบ็กอัปข้อมูลสำคัญ และทำงานได้เหมือน Time machine ของแอปเปิ้ลโดยไม่ต้องเสียเงินซื้อ AirPort Time capsule ราคาเป็นหมื่นเพื่อเอาความสามารถเดียว
  • ทำตัวเป็นเซิร์ฟเวอร์กลาง ตั้งเมลบริษัท, ระบบแชทส่วนตัวของบ้าน, ชุดโปรแกรมสำนักงาน เพื่อไม่ให้ข้อมูลรั่วไหลได้ด้วย

ทีมงานบอกว่าจำเป็นกับงานออฟฟิศมาก รวมถึงใช้ในบ้านก็ได้ จนคะยั้นคะยอให้ถ่ายตู้ต่อไป เอ้า ถ่ายก็ถ่าย

เรียกคำว่า NASๆๆ จริงๆ มันย่อมาจากคำว่า Network-attached storage แปลตรงตัวก็คือฮาร์ดดิสก์ที่เชื่อมต่อกับเครือข่าย เป็นศูนย์กลางให้คอมพิวเตอร์ทุกตัวในบ้านหรือสำนักงานสามารถโยนไฟล์มาลงที่ NAS แล้วดึงไฟล์ออกไปใช้ได้ ซึ่งเร็วกว่าการโยนไฟล์ขึ้น Google drive, dropbox หรือบริการในอินเทอร์เน็ตมาก เพราะข้อมูลวิ่งด้วยความเร็วสูงอยู่ในออฟฟิศนี้เอง

มาดู NAS ที่เราได้มาติดตั้ง ตัวนี้คือ Synology DS1817+ ก็เป็นตู้ขนาดกลางๆ สำหรับใช้ในสำนักงาน จุดสะดุดตาอย่างแรกคือชี่ๆ ด้านหน้า 8 ช่อง ตรงนี้คือช่องใส่ฮาร์ดดิสก์ครับ กดเพื่อดึงออกมาแล้วเอาฮาร์ดดิสก์ใส่เข้าไปได้เลย ง่ายมาก ช่องหนึ่งรองรับสูงสุด 12 TB ใส่สูงสุด 8 ลูกได้ความจุสูงสุด 96 TB! โห้ นี่เก็บไฟล์วิดีโอก่อนตัดต่อได้มหาศาลเลย

ใส่ฮาร์ดดิสก์เข้าเครื่องโชว์สักหน่อย เราใช้ Seagate Ironwolf ที่ออกแบบมาสำหรับงาน NAS โดยเฉพาะ เพราะปกติ NAS เราจะเปิดทั้งวันทั้งคืนเหมือนเซิร์ฟเวอร์ครับ ก็ต้องใช้ฮาร์ดดิสก์ที่ทึกทนนิดหนึ่ง

NAS เปิดทั้งวันทั้งคืนเหมือนเซิร์ฟเวอร์ ก็ต้องใช้ฮาร์ดดิสก์ที่ทึกทนนิดหนึ่ง

ที่นี้เลี้ยวมาดูด้านหลังของ NAS Synology รุ่นนี้กันบ้าง แน่นอนต้องมีพอร์ต LAN แบบ Gigabit เพื่อส่งไฟล์ในเครือข่าย แล้วก็มีพอร์ต USB 3.0, eSATA สำหรับเสียบฮาร์ดดิสก์ภายนอกให้ก็อปไฟล์ลง NAS ได้ง่ายๆ ตัวพอร์ต USB ก็สามารถเสียบเครื่องพิมพ์ได้ หรือจะต่อกับ UPS เพื่อเชื่อมข้อมูลไฟฟ้าก็ได้ ถ้าไฟใน UPS จะหมด NAS ก็เข้า Safe Mode ไปก่อนทำให้ข้อมูลไม่เสียหาย

ส่วนประกอบของ NAS ก็ง่ายๆ แบบนี้แหละครับ ถ้าเป็นรุ่นสำหรับผู้ใช้ตามบ้านอย่าง Synology DS216j ก็มีขนาดเล็กไปเยอะ เพราะใส่ฮาร์ดดิสก์ได้แค่ 2 ลูก วางไว้ในบ้านไม่ขัดเขิน แต่ถ้าคิดว่า NAS เป็นแค่กล่องเก็บไฟล์นั้นเป็นความคิดที่โบราณไปแล้วครับ เพราะ NAS ของ Synology ความสามารถเยอะกว่านั้นมาก เรียกเป็นเซิร์ฟเวอร์งานและความบันเทิงย่อมๆ ได้เลย

เราจบจากตู้ NAS ตรงนี้แล้วนะครับ ที่เหลือเราสามารถสั่งงานผ่านคอมพิวเตอร์หรือแอปบนมือถือได้แล้ว ซึ่งถ้าเราตั้งค่า User, password ของผู้ใช้แต่ละคนแล้ว ก็สามารถเข้าถึงไฟล์ใน NAS ผ่าน My Computer ได้เหมือนไดร์ฟในคอมพิวเตอร์เลย

เราสามารถควบคุม NAS ของ Synology ผ่านระบบบนหน้าเว็บเรียกว่า Diskstation Manager หรือ DSM ที่เป็นเหมือนระบบปฏิบัติการของ NAS หน้าตาของ DSM ก็เหมือน Windows อีกตัวหนึ่งนี้แหละ เช่น อยากจัดการสิทธิ์ผู้ใช้ระบุว่าใครอ่านไฟล์ไหน ลบไฟล์ในโฟลเดอร์ไหนได้บ้างก็เปิด Control Panel ขึ้นมาจัดการ User คือเราสามารถทำได้ทุกอย่างแค่คลิกเลือก ทำตามสเตป ไม่ต้องมานั่งป้อนคำสั่งให้ปวดหัว

อยากจัดการไฟล์ NAS ในเครื่องก็เปิด File Station ขึ้นมา นี่ๆ ฟีเจอร์โปรดของผม อยากให้คนอื่นโหลดไฟล์ตรงจาก NAS ก็คลิกขวา เลือก Share แล้วจะได้ลิงก์ส่งให้คนอื่นโหลด แชร์ทั้งโฟลเดอร์ก็ได้ ตั้งเวลาให้ลิงก์หมดอายุหรือตั้งรหัสผ่านก็ได้ หรือเปิดแอป DS File ในมือถือเพื่อดูไฟล์ใน NAS หรือสั่งแชร์ผ่านมือถือก็ได้

ที่เจ๋งคือเราให้คนอื่นโยนไฟล์เข้า NAS เราโดยตรงก็ได้ แค่คลิกขวาที่โฟลเดอร์แล้วเลือก Create file request ก็จะได้ลิงก์ส่งให้คนอื่นอัปโหลดไฟล์นี้ ที่นี้นักข่าวผมอยู่ต่างประเทศก็สามารถโยนวิดีโอกลับมาให้ตัดต่อโดยตรงได้ ไม่ต้องอัปขึ้น Google Drive แล้วรอดาวน์โหลดจนเหนื่อยใจ

ข้อดีของ NAS จาก Synology คือติดตั้งโมดูลเสริมความสามารถได้มากมาย เช่น

  1. อยากเก็บเพลงทั้งชีวิตไว้ใน NAS แล้วสตรีมไปเปิดบน iTunes ก็ลงโมดูล iTunes Server
  2. เปิดเพลง เปิดไฟล์วิดีโอบนอุปกรณ์ที่รองรับ DLNA ก็ลงโมดูล Media Server
  3. อยากตั้งเซิร์ฟเวอร์แชทของตัวเอง เอาไว้คุยในบ้านหรือในองค์กรก็ลงโมดูล Chat
  4. อยากใช้ NAS เก็บวิดีโอจากกล้องวงจรปิด รวมถึงจัดการกล้องก็ลงโมดูล Surveillance Station เท่านั้นเอง (ได้ 2 กล้องนะ ถ้าเกินกว่านี้ต้องซื้อสิทธิ์เพิ่ม)
  5. ซิงค์ไฟล์ระหว่าง NAS กับ Dropbox, Google Drive, OneDrive ก็ลงโมดูล Cloud Sync
  6. ซิงค์ไฟล์อัตโนมัติจากคอมพิวเตอร์ให้วิ่งเก็บเข้า NAS ก็ใช้โมดูล Cloud Station
  7. ซึ่งแทบทุกความสามารถของ Synology ก็มีแอปสั่งงานจากสมาร์ทโฟนได้ทั้ง iOS และ Android เช่นเปิดไฟล์ก็ใช้แอป DS file, แชทกันก็ใช้ Synology Chat, เข้าถึง VPN ที่มี NAS เป็นศูนย์กลางก็ Synology VPN ฯลฯ

ฟังที่เล่ามาทั้งหมดจะเห็นว่าความสามารถมันเยอะมาก ข้อเสียเท่าที่คิดออกน่าจะมีเรื่องเดียวคือ คนเซ็ตต้องเป็นคนที่มีความรู้คอมพิวเตอร์และเน็ตเวิร์คบ้าง ถึงจะเซ็ตอัป NAS ได้ ที่บอกว่าต้องมีความรู้ไม่ใช่มันใช้ยากนะ คือมันใช้ง่ายมากแล้วเมื่อเทียบกับเมื่อก่อน การเชื่อม NAS สู่โลกภายนอกก็กดที่ EZ-internet แล้ว nextๆ ไปได้ ไม่ต้องเซ็ตพวก Port forwarding, DDNS ด้วยตัวเองให้เหนื่อย แต่ก็ต้องมีความรู้เช่นจะเสียบ NAS เข้าที่ router จุดไหน เซ็ตวงแลนยังไงให้มองเห็น NAS ทั้งหมดอยู่ดี รวมถึงคนเซ็ตอัปก็ต้องเรียนรู้การกำหนดโฟลเดอร์ สิทธิ์การใช้ และ User ต่างๆ ด้วย

ส่วนถ้าเราเป็นแค่คนใช้น่ะเหรอครับ ง่ายมาก แค่รู้รหัสผ่าน รู้ทางเข้า โหลดแอปมาก็ใช้ได้แล้ว!

เอาแหละมาถึงเรื่องราคากันบ้าง ราคาของ NAS จาก Synology จะขึ้นอยู่กับจำนวนไดร์ฟที่ใส่ได้ กับประสิทธิภาพ CPU ภายในตัวเป็นหลักนะครับ อย่างเจ้า Synology DS1817+ ตัวนี้ที่เหมาะสำหรับใช้ในองค์กรย่อมๆ ใส่ฮาร์ดดิสก์ได้ 8 ลูกก็ราคาราว 3 หมื่นบาท (ไม่รวมฮาร์ดดิกส์นะ) ส่วน Synology DS216j ที่ใส่ฮาร์ดดิกส์ได้ 2 ลูกสำหรับใช้ในบ้าน ก็ราคาประมาณ 6000 บาทครับ (ไม่รวม Harddisk) ซึ่งถ้าเป็นแบบที่ใส่ฮาร์ดดิสก์ได้ลูกเดียวก็ประมาณ 4000 บาท