รีวิว Synology RT2600ac และ MR2200ac เราเตอร์ Mesh WiFi พร้อมระบบปฏิบัติการ ลงแอปได้!
Our score
8.8

Synology RT2600ac + MR2200ac

จุดเด่น

  1. ระบบปฏิบัติการ SRM มีความสามารถเยอะที่สุดตัวหนึ่งตั้งแต่เราเทสต์เราเตอร์กันมา แถมยังใช้ง่ายด้วย
  2. ความสามารถระดับน้องๆ NAS สามารถจัดการไฟล์ โหลดไฟล์ สร้างลิงก์ให้คนอื่นโหลดได้ด้วย แอปในมือถือทำได้ดี และมีแอปแยกสำหรับแต่ละงาน
  3. ระบบเสถียร เปิดใช้งานต่อเนื่องกว่า 2 เดือนไม่มีงอแง สัญญาณไม่แกว่ง
  4. RT2600ac สามารถทำ load balance ได้ในตัว
  5. รองรับมาตรฐาน WPA3, Wi-Fi 5, MU-MIMO

จุดสังเกต

  1. แต่ยังไม่รองรับ Wi-Fi 6
  2. เปิดเราเตอร์ช้า ใช้เวลาบูตนาน (ทางที่ดีก็ไม่ต้องปิดเลยดีกว่า)
  3. ถ้าต่อเป็น mesh ตัวลูกทำหน้าที่กระจายสัญญาณอย่างเดียว ไม่สามารถเข้าใช้ตัวลูกได้ เช่นเสียบ USB ที่ตัวลูก ก็จะไม่ขึ้นอะไร
  4. รุ่นเล็ก MR2200ac มีพอร์ตแลนแค่ 2 พอร์ต
  5. ถ้าซื้อหลายตัวเพื่อทำเป็น Mesh Wi-Fi จะมีราคาค่อนข้างสูง
  • การออกแบบตัวเครื่อง

    7.5

  • ประสิทธิภาพของระบบไร้สาย

    8.5

  • ความสามารถของระบบปฏิบัติการ

    10.0

  • ความง่ายในการใช้งาน

    10.0

  • ความคุ้มค่า

    8.0

ถ้าพูดถึง NAS หรืออุปกรณ์เก็บข้อมูลแบบเชื่อมต่อผ่านเครือข่าย (Network-attached storage) จะต้องได้ยินชื่อแบรนด์ Synology เป็นหนึ่งในตัวเลือกแน่นอน เพราะแบรนด์จากไต้หวันนี้สร้างชื่ออย่างมากในการพัฒนา NAS ที่เสถียรและมีระบบปฏิบัติการอย่าง DSM (DiskStation Manager) เป็นตัวจัดการสิ่งต่าง ๆ ผ่านหน้าเว็บ ที่นี้เมื่อ Synology หันมาพัฒนาเราเตอร์ด้วย ก็ไม่ทิ้งความเก่งเรื่องซอฟต์แวร์ของตัวเอง จึงออกมาเป็นเราเตอร์ที่มีระบบปฏิบัติการ SRM (Synology Router Manager) ของตัวเองซึ่งมีความสามารถน้อง ๆ NAS เลย และวันนี้เรารีวิวให้ดูกัน 2 รุ่นคือรุ่นพี่ RT2600ac และรุ่นน้อง MR2200ac ที่สามารถทำงานร่วมกันแบบ Mesh WiFi ได้

ดีไซน์ของ Synology RT2600ac รุ่นพี่ความสามารถสูง

Synology RT2600ac

เริ่มกันที่ตัว Synology RT2600ac ในฐานะรุ่นพี่ที่มีความสามารถสูงกว่า และราคาสูงกว่ากันก่อนนะครับ หน้าตาของเจ้า RT2600ac นั้นจะเป็นรูปทรงมาตรฐานของเราเตอร์ คือมีเสาแยกออกมา 4 เสาชัดเจน ไม่ได้เก็บเข้าไปในตัวเครื่องเหมือนเราเตอร์ที่เน้นความสวยงาม ซึ่ง 4 เสาสัญญาณนี้ก็เป็นรูปแบบการรับ-ส่งสัญญาณแบบ 4×4 MU-MIMO 802.11ac แต่ดีไซน์ที่จะแตกต่างจากเราเตอร์อื่น ๆ นั้นอยู่ที่ด้านท้ายของเครื่องมีขาตั้งเพื่อยกท้ายเครื่องให้สูงขึ้นเพื่อระบายความร้อนได้ดีขึ้น และให้ตำแหน่งของเสาอากาศที่สูงขึ้น

Synology RT2600ac

ด้วยความที่ RT2600ac นั้นเป็นตัวท็อป พอร์ตที่มีมาให้คือจัดเต็มมาก เยอะกว่าเราเตอร์ทั่วไปในท้องตลาดด้วยซ้ำ เพราะมันต้องทำหน้าที่เป็น NAS ย่อม ๆ ด้วย

  • พอร์ต RJ-45 แบบ Gigabit ทั้งหมด 5 ช่อง
    • ถ้าใช้เป็น WAN 1 ช่อง ก็จะเหลือสำหรับ LAN 4 ช่อง
    • ถ้าใช้แบบ Dual-WAN คือใช้ 2 ช่องเพื่อเชื่อมอินเทอร์เน็ต 2 ค่ายพร้อมกัน ก็จะเหลือช่องสำหรับ LAN 3 ช่อง
  • พอร์ต USB 2 ช่อง สามารถเชื่อมต่อไดร์ฟหรือ 3G/4G Dougle ได้
    • ช่องที่อยู่ด้านหลังเป็น USB 2.0
    • ช่องที่อยู่ด้านข้างเครื่องเป็น USB 3.0 ซึ่งจะมีปุ่ม Eject อยู่ข้าง ๆ สำหรับปลดไดรฟ์ออกอย่างปลอดภัย
  • ช่องอ่านการ์ด SD อยู่ด้านหน้าเครื่อง รองรับทั้ง SDXC และ SDHC
  • พร้อมปุ่ม WPS และปุ่มเปิด-ปิด WiFi ด้านข้างเครื่อง
Synology Loadbalance
Synology RT2600ac สามารถทำ Load balance ได้ในตัว

ก็ชัดเจนกว่า RT2600ac นั้นมีความสามารถในการทำ Load Balance มาด้วยนะครับ สำหรับบ้านหรือองค์กรเล็ก ๆ ที่ต้องการเชื่อมอินเทอร์เน็ต 2 เส้นจาก 2 ผู้ให้บริการพร้อมกันเพื่อเพิ่มความเร็ว หรือป้องกันอินเทอร์เน็ตล่ม ก็ใช้เราเตอร์ตัวนี้ทำได้เลย โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์อื่นอีก แถมทำ Load Balance ไปออกโมเด็ม 3G/4G USB ได้ด้วย

ดีไซน์ของ Synology MR2200ac รุ่นน้องทันสมัย

Synology MR2200ac

จุดมุ่งหมายของ MR2200ac นั้นจะต่างจากตัวพี่สักหน่อยครับ คือมันออกแบบในฐานะของ Mesh WiFi ที่ติดตั้งหลาย ๆ ตัวเพื่อกระจายสัญญาณให้ครอบคลุมทั้งบ้านมาตั้งแต่ต้น ทีมออกแบบของ Synology จึงทำให้เราเตอร์รุ่นนี้เป็นเหมือนแผ่นสี่เหลี่ยมมน ๆ ที่มีขาตั้งเล็ก ๆ อยู่ด้านหลัง ทำให้กินพื้นที่ในการติดตั้งน้อย เอาไปวางบนชั้นแคบ ๆ ก็ได้ โดยเสาสัญญาณของ MR2200ac นั้นมี 2 เสาแบบ 2×2 MU-MIMO 802.11ac ที่ซ่อนอยู่ในเครื่อง ไม่มีอะไรยื่นออกมาให้รก และเราก็สามารถใช้ RT2600ac ร่วมกับ MR2200ac เพื่อสร้าง Mesh WiFi วงเดียวกันได้

ด้วยความที่ MR2200ac นั้นตัวเล็กกว่า RT2600ac มาก พอร์ตเชื่อมต่อเลยไม่เยอะเท่าครับ

Synology MR2200ac
  • พอร์ต Gigabit WAN สำหรับเชื่อมอินเทอร์เน็ต
  • พอร์ต Gigabit LAN สำหรับเชื่อมอุปกรณ์
  • พอร์ต USB 3.0 มีแค่พอร์ตเดียว เชื่อมต่อไดรฟ์หรือ 3G/4G Dougle ได้
  • ปุ่มเปิด-ปิด WiFi, WPS, เปิด-ปิดเครื่อง

Synology MR2200ac จึงเหมาะสำหรับใช้ในบ้านหรือคอนโดหลังเล็ก ๆ ครับ คอนโดระดับ 1 ห้องนอนนี่ใช้ MR2200ac ตัวเดียวก็ครอบคลุมพื้นที่ได้สบาย ๆ ส่วนถ้ามีหลายห้อง หลายชั้นก็สามารถซื้อ MR2200ac เพิ่มเพื่อวางในจุดต่าง ๆ แบบ Mesh WiFi ได้ โดยถ้าเชื่อมต่อระหว่างจุดแบบไร้สาย จะสามารถวางได้ 7 ตัว (ตัวหลัก 1 และตัวลูก 6 ตัว) ส่วนถ้าเชื่อมระหว่างจุดด้วยสาย LAN จะสามารถวางได้ 13 ตัว (ตัวหลัก 1 และตัวลูก 12 ตัว) ครับ

แต่จุดสังเกตอย่างหนึ่งของเครือข่าย Mesh จาก Synology คือเราไม่สามารถเข้าใช้งานตัวลูกหรือ satellite ได้นะครับ มันทำหน้าที่เป็นจุดกระจายสัญญาณเท่านั้น ถ้าเสียบ USB ที่อุปกรณ์ตัวลูก ก็จะไม่เห็นไดรฟ์นั้น ก็ต้องเสียบที่เราเตอร์ตัวหลักอย่างเดียวครับ

ความแตกต่างระหว่าง Synology RT2600ac และ MR2200ac

นอกจากงานดีไซน์และจำนวนพอร์ตเชื่อมต่อที่แตกต่างกันแล้ว ความสามารถของเราเตอร์ 2 ตัวนี้ก็ต่างกันพอสมควรครับ

Synology RT2600acSynology MR2200ac
CPUQualcomm IPQ8065 @ 1.7 GHzQualcomm IPQ4019 quad-core 717MHz
RAM512 MB DDR3256 MB DDR3
เชื่อมต่ออุปกรณ์ได้สูงสุด100 ตัว90 ตัว
ชนิดเสาอากาศ4x4 MIMO Omni-directional2x2 MIMO ติดตั้งภายใน
การเชื่อมต่อ802.11ac Dual-Band Wifi
5GHz: 1.73Gbps
2.4GHz: 800Mbps
802.11ac Tri-Band Wifi
- 5GHz-1: 867Mbps
- 5GHz-2: 867Mbps
- 2.4GHz: 400Mbps
Wi-Fi MAC Address Filterได้ (สูงสุด 64 ฟิลเตอร์)ได้ (สูงสุด 64 ฟิลเตอร์)
Beamformingรองรับรองรับ
DFSรองรับรองรับ
Wireless Repeater (WDS)รองรับไม่รองรับ
Threat Prevention (ระบบป้องกันภัยคุกคาม)รองรับไม่รองรับ
VPN Plus Serverใช้ได้สูงสุด 20 คนใช้ได้สูงสุด 10 คน
WPA3รองรับรองรับ
ราคาประมาณ 7,800 บาทประมาณ 5,000 บาท

ประสิทธิภาพของเราเตอร์ Synology

หน้า Dashboard แสดงภาพรวมของ Wifi จาก Synology
หน้า Dashboard แสดงภาพรวมของ Wifi จาก Synology

เราเตอร์จาก Synology ทั้ง 2 รุ่นนี้เป็นเราเตอร์ยุคใหม่นะครับ จึงมีความสามารถระดับสูงที่ทำให้ผู้ใช้ใช้เครือข่ายได้ง่าย ๆ เช่น

  • รวมคลื่น 2.4 GHz และ 5 GHz เป็นชื่อเดียวกัน ระบบจะเลือกเชื่อมต่อคลื่นที่เหมาะสมเอง
  • ถ้าใช้งานในแบบ Mesh WiFi อุปกรณ์ทั้งหมดที่เซ็ตเป็นระบบเดียวกัน ก็จะมีชื่อ Wifi ชื่อเดียว ก็ทำให้เชื่อมต่อง่าย
  • สามารถสร้างเครือข่ายพิเศษสำหรับแขก (Guest Network) พร้อมกำหนดข้อจำกัดในการใช้งานได้ เข้าถึงอุปกรณ์อื่น ๆ ในวงแลนของเราไม่ได้
  • รองรับการเข้ารหัสไวไฟถึง WPA3 ซึ่งแข็งแกร่งและเจาะข้อมูลยากกว่าเดิม พร้อมสามารถกำหนดให้ใช้งาน WPA2 อัตโนมัติหากอุปกรณ์ที่มาเชื่อมต่อด้วยไม่รองรับ
การเชื่อมต่อ Mesh Wi-Fi แสดงภาพลักษณะการเชื่อมต่อแต่ละจุดชัดเจน
การเชื่อมต่อ Mesh Wi-Fi แสดงภาพลักษณะการเชื่อมต่อแต่ละจุดชัดเจน

ส่วนการทดสอบประสิทธิภาพนั้นเราทดสอบผ่าน Macbook 12 ที่รองรับการเชื่อมต่อผ่านคลื่น 5 GHz ที่ความเร็วสูงสุด 1.3 Gbit/s นะครับ โดยใช้โปรแกรม Blackmagic Disk Speed Test เพื่อทดสอบการอ่าน-เขียนไฟล์เข้าไปที่ Synology NAS DS218+ ซึ่งเชื่อมต่อผ่าน Gigabit LAN กับตัว Synology RT2600ac อยู่ เพื่อทดสอบประสิทธิการรับ-ส่งข้อมูลภายในวง LAN เดียวกัน ซึ่งจะใช้ประสิทธิภาพของ Wifi สูงกว่าการเทสต์กับอินเทอร์เน็ตภายนอกครับ

  • ความเร็วในทำงานผ่านสาย Gigabit LAN อยู่ประมาณ
    • เขียน 93 MB/s (744 mbps)
    • อ่าน 94.8 MB/s (760 mbps)
    • ตัวเลขนี้เป็นค่าอ้างอิงเพื่อทดสอบว่าเราสามารถอ่าน-เขียนฮาร์ดดิสก์ใน NAS ด้วยความเร็วสูงสุดเท่าไหร่
  • ทดสอบความเร็วบริเวณด้านหน้า Synology RT2600ac ซึ่งนั่งห่างจากเครื่องประมาณ 2.5 เมตร
    • ได้ตัวเลขอ่าน-เขียนข้อมูลประมาณ 61.5 MB/s (492 mbps)
  • ทดสอบความเร็วในจุดที่ไกลที่สุดของบ้าน ห่างไป 1 ห้อง มีกำแพงกั้น 2 ชั้น
    • เขียน 9.7 MB/s (77.6 mbps)
    • อ่าน 7.2 MB/s (57.6 mbps)
  • หลังจากติดตั้ง MR2200ac เข้าไปตรงจุดกึ่งกลางระหว่างห้อง และตรวจสอบว่า macbook เชื่อมต่อกับ MR2200ac เรียบร้อย ก็กลับมาวัดความเร็วที่จุดเดิม
    • เขียน 25.2 MB/s (201 mbps)
    • อ่าน 43 MB/s (344 mbps)

อย่างไรก็ตาม MR2200ac นั้นมีประสิทธิภาพและความสามารถในการครอบคลุมพื้นที่ต่ำกว่า RT2600AC นะครับ ด้วยขนาดตัวและเสาอากาศที่เล็กกว่า เพราะฉะนั้นเราจึงควรใช้ RT2600ac เป็นเราเตอร์ตัวหลัก ในพื้นที่ที่มีการใช้งานเยอะ ๆ และใช้ MR2200ac เสริมในจุดอื่น ๆ

ระบบปฏิบัติการ SRM – Synology Router Manager คือพระเอก

Synology SRM
หน้าตาของ Synology SRM ที่พร้อมดาวน์โหลดแอปมาเพิ่ม

แม้ว่าด้านฮาร์ดแวร์ และความแรงของเราเตอร์ 2 รุ่นนี้จะแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่สิ่งที่ทำให้ความสามารถมันไม่ต่างกันเท่าไหร่คือระบบปฏิบัติการ SRM – Synology Router Manager ของเราเตอร์ทั้ง 2 รุ่นนี้ครับ ซึ่งเราสามารถเข้าใช้งานได้ผ่านเบราว์เซอร์เพื่อตั้งค่าและลงแอปเสริมความสามารถต่าง ๆ ได้เลย โดยหน้าตาของ SRM นั้นจะเป็นเหมือน Windows โดยมีหน้า Desktop ของตัวเอง เรียกโมดูลต่าง ๆ ขึ้นมาเป็นหน้าต่างซ้อนกันไปมาได้ คล้ายๆ กับ DSM ของ NAS จาก Synology ทำให้ใช้งานง่ายครับ

ความสามารถของ SRM

Synology ThreatPrevention
หน้าจอสถานะการตรวจจับภัยจากเครือข่ายของ SRM
  • Safe Access สามารถกำหนด Profiles สำหรับผู้ใช้แต่ละคนจากอุปกรณ์ที่เข้าใช้ เพื่อควบคุมเวลาการใช้อินเทอร์เน็ต ทั้งแบบกำหนดช่วงเวลาที่ใช้ได้ หรือบังคับจำนวนชั่วโมงการใช้, บังคับ Google, Youtube ให้แสดงผลการค้นหาที่ปลอดภัย, บล็อกเว็บที่ไม่เหมาะสำหรับเด็กหรือพนักงานได้
  • Download Station สำหรับดาวน์โหลดไฟล์จากอินเทอร์เน็ตมาเก็บไว้ในไดรฟ์ของเราได้แบบ NAS
  • Threat Prevention โมดูลปกป้องเครือข่ายจากมัลแวร์และพฤติกรรมน่าสงสัยต่างๆ
  • VPN Plus เปลี่ยนเราเตอร์ให้เป็น VPN ส่วนตัวเพื่อสร้างเครือข่ายเฉพาะของตัวเอง
  • Cloud Station สำหรับซิงก์ไฟล์จากที่ต่างๆ ให้เหมือนกัน อารมณ์เหมือน Dropbox แต่ทำงานกับไดรฟ์ส่วนตัวของเรา ทำให้มีความจุมาก
  • RADIUS Server สำหรับจัดการการเข้าใช้เครือข่ายในระดับสูงขึ้น ควบคุมการเข้าใช้ของแต่ละบุคคลได้ดีขึ้น
  • Media Server สามารถอ่านไฟล์ในไดรฟ์แล้วเอาไปปล่อยต่อผ่าน DLNA, uPnP ได้ ซึ่งอุปกรณ์อย่างทีวีหรือเครื่องเสียงรองรับ ก็ทำให้เล่นไฟล์หนัง ไฟล์เพลงผ่านเราเตอร์ได้เลย ไม่ต้องเอาแฟลชไดรฟ์ไปเสียบกับทีวี
  • Time Machine ระบบ Backup ข้อมูลของแมค สามารถกำหนดให้เก็บข้อมูลลงไดรฟ์ที่เราเตอร์ได้ได้โดยไม่ต้องซื้ออุปกรณ์อย่าง AirPorts จากแอปเปิ้ล
  • File Station จัดการไฟล์จากไดรฟ์ที่เสียบกับเราเตอร์ เพื่อเรียกใช้ไฟล์จากที่ไหนก็ได้ที่มีอินเทอร์เน็ต แถมยังแชร์ไฟล์เป็นลิงก์ให้ใครก็ได้ดาวน์โหลดผ่านอินเทอร์เน็ตได้ (เหมือน NAS เลย) หรือจะเข้าถึงไฟล์จากเราเตอร์ผ่าน finder หรือ Windows Explorer ก็ได้
ดูข้อมูลกันไปเลยว่าอุปกรณ์ไหน ใช้งานอะไร กินข้อมูลไปเท่าไหร่บ้าง
ดูข้อมูลกันไปเลยว่าอุปกรณ์ไหน ใช้งานอะไร กินข้อมูลไปเท่าไหร่บ้าง
  • ดูรายละเอียดการใช้งานเครือข่ายของอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ รวมถึงดูเป็นกราฟย้อนหลังในอดีตว่าใช้ปริมาณข้อมูลไปอย่างไรบ้าง เช่นทีวีดู Netflix เยอะ ก็จะเห็นเป็นกราฟเลยว่า Netflix ใช้ข้อมูลไปเท่าไหร่
  • ตั้งเวลาให้รีบูตตัวเองได้ เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด (แต่เราใช้มา 2 เดือนไม่มีดับเครื่อง ก็ไม่มีปัญหาอะไรเลยนะ)

นอกจากนี้ยังมีแอปสำหรับมือถืออีกหลายตัวเพื่อใช้งานเราเตอร์ Synology ทั้ง 2 รุ่นจากมือถือได้

  • DS Router เพื่อจัดการเราเตอร์ทั้งหมด เช่นเริ่มใช้งานครั้งแรก หรือการเพิ่มจุด Wifi ใหม่เข้าไปในเครือข่ายเดิม จัดการโปรไฟล์ผู้ใช้และความปลอดภัยต่าง ๆ โดยที่ไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์มาจัดการ
  • DS file เพื่ออัปโหลด ดาวน์โหลด จัดการไฟล์ในไดรฟ์ที่เสียบกับเราเตอร์
  • Synology VPN Plus สำหรับใช้งาน VPN ในมือถือ
  • DS Get สำหรับควบคุมการดาวน์โหลดผ่านเราเตอร์จากมือถือ (โหลดได้เฉพาะ Android)

เจาะลึก Safe Access ฟีเจอร์โปรดของครอบครัว

แยกโปรไฟล์ผู้ใช้แต่ละคน แล้วจัดการการใช้อินเทอร์เน็ตได้เลย
แยกโปรไฟล์ผู้ใช้แต่ละคน แล้วจัดการการใช้อินเทอร์เน็ตได้เลย

เมื่อก่อนการหาโซลูชันจัดการการใช้อินเทอร์เน็ตในบ้านนั้นเป็นเรื่องยุ่งยากและมีราคาแพงนะครับ แต่เราเตอร์ของ Synology ทั้ง 2 รุ่นมาพร้อมกับโมดูล Safe Access ที่จัดการผู้ใช้ในครอบครัวหรือออฟฟิศเล็ก ๆ ได้ไม่ยากครับ โดย Safe Access สามารถจัดกลุ่มผู้ใช้ได้เป็น 3 กลุ่มคือ

  1. กำหนดผู้ใช้จากอุปกรณ์ที่เข้าใช้งาน เช่นคุณลูกใช้ iPhone, โน้ตบุ๊ก เราก็เลือกชื่ออุปกรณ์ทั้ง 2 ของลูกในระบบ แล้วกำหนดว่านี่คือลูก
  2. กำหนดค่ามาตรฐานสำหรับผู้เชื่อมต่อกับเครือข่ายของเรา คือทุกคนที่เชื่อมต่อจะถูกควบคุมตามนี้หมด
  3. กำหนดค่ามาตรฐานสำหรับ Guest Network เพื่อให้เครือข่ายสำหรับแขกมีเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ต่างจากเครือข่ายหลักของเรา

ซึ่งหลังจากกำหนดโพรไฟล์ของผู้ใช้แล้ว ก็สามารถควบคุมการใช้งานของโปรไฟล์นั้นๆ ได้อีก 4 อย่าง แถมสามารถเปิดตัวเลือกเหล่านี้เพื่อใช้งานร่วมกันก็ได้ คือ

กำหนดว่าแต่ละโปรไฟล์อยู่กลุ่มไหน แล้วห้ามเข้าเว็บอะไร
กำหนดว่าแต่ละโปรไฟล์อยู่กลุ่มไหน แล้วห้ามเข้าเว็บอะไร
  1. กำหนดช่วงเวลาที่ให้ใช้อินเทอร์เน็ตได้ (Internet Schedule)
  2. กำหนดระยะเวลาที่ให้ใช้อินเทอร์เน็ตได้ต่อวัน (Time Quota) เช่นวันธรรมดาให้ใช้เน็ตได้ 2 ชั่วโมง ส่วนเสาร์-อาทิตย์ใช้ได้ 4 ชั่วโมง ก็กำหนดได้
  3. กำหนดเว็บที่ไม่ให้เข้า (Web Filter) ซึ่งสามารถกำหนด Block เว็บเอง โดยใส่ชื่อเว็บเองทีละชื่อก็ได้ หรือใช้โปรไฟล์มาตรฐานที่มีการอัปเดตรายชื่อเว็บอัตโนมัติคือ
    1. เว็บที่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็ก ก็จะบล็อกเว็บผิดกฎหมายกับเว็บโป๊
    2. เว็บที่ไม่เหมาะสมสำหรับพนักงาน จะบล็อก Social Media และโปรแกรมแซตต่าง ๆ ให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพขึ้น (โหดไป๊)
    3. เว็บที่ไม่เหมาะสมสำหรับแขก จะบล็อกเว็บผิดกฎหมาย
  4. กำหนดการค้นหาปลอดภัย (Safe Search) เพื่อบังคับให้ Bing, Youtube และ Google แสดงแต่ผลการค้นหาที่กรองแล้วออกมา ไม่ให้มีความรุนแรง หรือเว็บโป๊ออกมา
ถ้าเข้าเว็บที่ถูกบล็อก ก็จะขึ้นจอหน้าแบบนี้ พร้อมปุ่มอ้อนวอนว่าทำไมเราอยากเข้า
ถ้าเข้าเว็บที่ถูกบล็อก ก็จะขึ้นจอหน้าแบบนี้ พร้อมปุ่มอ้อนวอนว่าทำไมเราอยากเข้า

ซึ่งเมื่อมีการทำผิดเงื่อนไขต่าง ๆ เช่นโพรไฟล์ของลูกพยายามเข้าเว็บโป๊ ก็จะมีการแจ้งเตือนผ่านแอป DS Router ไปบอกผู้ปกครองอีกด้วย (โหดมาก)

เราเตอร์ Synology ใช้แทน NAS ได้ไหม

จุดที่เราเตอร์ของ Synology แตกต่างจาก NAS ของ Synology ตัวจริง คือเรื่องการรองรับจำนวนคนใช้นะครับ ที่มันไม่สามารถใช้กันได้พร้อมๆ กันมากเท่า NAS แน่ นอกจากนี้โมดูลเทพ ๆ หลายอย่างจาก DSM ของ NAS ก็ไม่มีใน SRM ของเราเตอร์ เช่นระบบ Synology Drive ที่เก็บข้อมูลแบบใหม่ พร้อมอัปโหลดรูปในมือถือไปจัดเรียงอัตโนมัติผ่านแอป Moment ก็ไม่มีให้ แอปจดโน้ตหรือระบบเมลก็ไม่มี

ที่สำคัญคือเรื่องความปลอดภัย มั่นคงของข้อมูล ที่ทั้ง RT2600ac และ MR2200ac จะใช้ฮาร์ดดิสก์ภายนอกเสียบทีละตัว ถ้า External Harddisk ตัวนี้พังไป ข้อมูลก็หายไปด้วย ต่างจาก NAS ที่ติดตั้งฮาร์ดดิสก์หลายตัวอยู่ภายใน แล้วแบ็กอัปข้อมูลกันไปมา แม้ดิสก์จะพังไปตัวหนึ่ง ข้อมูลก็ไม่เสียหายเพราะยังมีข้อมูลที่สำรองไว้จากไดรฟ์อื่น ๆ

เอาเป็นว่าเราเตอร์ Synology นั้นเทพมากจนเป็น NAS ขนาดย่อม เอาไว้ใช้ในบ้านได้ แต่สำหรับงานที่ต้องการความมั่นคงของข้อมูล มันยังแทน NAS ของจริงไม่ได้นะครับ

สรุปแล้วเราเตอร์จาก Synology คุ้มไหม

Synology RT2600ac
พอร์ต USB 3.0 ด้านข้างของ RT2600ac

Synology RT2600ac ราคาประมาณ 7,800 บาท และ Synology MR2200ac ราคาประมาณ 5,000 บาท มีความสามารถจาก SRM คล้าย ๆ กัน คือคุณใช้มันเป็น NAS ย่อมๆ ได้เลย เก็บไฟล์ได้ โหลดไฟล์ได้ สร้างลิงก์ให้คนอื่นโหลดได้ ทำเซิร์ฟเวอร์ แถมยังจัดการการใช้งานอินเทอร์เน็ตในบ้านได้ด้วย ก็เป็นราคาที่คุ้มมากเมื่อเทียบกับความสามารถของมัน

ส่วนจะใช้ตัวไหนบ้าง อันนี้ก็ต้องแยกกันพิจารณาหลายแบบนะครับ

สำหรับคอนโดห้องนอนเดี่ยว

ถ้าเป็นคอนโด 1 ห้องนอน ก็สามารถเลือกใช้ RT2600ac หรือ MR2200ac เพียงตัวเดียวได้ ซึ่ง RT2600ac จะได้พอร์ตและระยะครอบคลุมการใช้งานมากกว่า แต่ MR2200ac ก็เคลมว่าแต่ละตัวรองรับพื้นที่การทำงาน 185 ตร.ม. และมีค่าตัวถูกกว่าเกือบ 3000 บาท ก็ต้องชั่งน้ำหนักเรื่องนี้ดู

Synology MR2200ac
Synology MR2200ac วางตั้งแบบนี้

สำหรับคอนโด 2-3 ห้องนอน

แนะนำเป็น Synology RT2600ac จะครอบคลุมพื้นที่ได้กว้างกว่า ซึ่งถ้าใช้เป็น MR2200ac อาจจะมีบางพื้นที่เป็นจุดที่สัญญาณอ่อน ซึ่งถ้ายังมีจุดที่สัญญาณอ่อนในบ้าน ก็สามารถเอา MR2200ac มาเติมได้

สำหรับบ้านหลายชั้น

แนะนำเป็น RT2600ac 1 ตัว สำหรับพื้นที่หลัก + MR2200ac สำหรับกระจายแต่ละชั้น หรือจะเป็นชุดของ MR2200ac หลาย ๆ ตัวก็ได้ครับ แล้วแต่ความต้องการของพื้นที่หลักว่าต้องเป็นเราเตอร์ตัวเทพหรือเราเตอร์ธรรมดา แต่ถ้าเป็นไปได้ เชื่อมต่อแต่ละจุดส่งสัญญาณด้วยสาย LAN จะให้ความเร็วสูงที่สุดครับ ยังไงการส่งข้อมูลจากแต่ละ Node แบบไร้สายก็เร็วและเสถียรสู้แบบสายไม่ได้

แต่จุดที่น่าสังเกตคือ Synology MR2200ac นั้นมีราคาประมาณตัวละ 5000 บาท ซึ่งถ้านับเป็นเราเตอร์แบบ 1 ตัว ก็ราคาไม่โหดมาก แต่ถ้าเราต้องใช้ 3 ตัวเพื่อวางในบ้าน ก็ต้องลงทุนเกือบ 15,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่า Mesh Wifi Router ทั่วไปที่จัดชุดขาย 3 ตัวในท้องตลาด ตอนนี้ที่เห็นในตลาดก็มีหลายร้านจับ RT2600ac กับ MR2200ac มาขายในราคาหมื่นนิดๆ ก็ถูกกว่าปกติหน่อย ก็หวังว่า Synology จะออกชุด Mesh Wifi ที่ขายราคาถูกลงมาบ้างนะครับ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส