[รีวิว] Hi-Fi Rush สุดยอดเกมหน้าใหม่ ต้อนรับปี 2023
Our score
10.0

Hi-Fi Rush (PC)

จุดเด่น

  1. เกมเพลย์ Hack n Slash ผสมเข้ากับเกม Rhythm ที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร
  2. เนื้อเรื่องสนุก ตัวละครมีสีสันน่าจดจำ
  3. งานภาพกราฟิกสไตล์ Comic + Pop Art ไม่ต้องพึ่งความสมจริงก็ดูสวยตระการตาได้
  4. การออกแบบด่านที่ไม่จำเจ
  5. ดนตรีเพลงประกอบ
  6. ราคาไม่แพง เล่นผ่าน Game Pass ก็ได้
  7. เหมาะกับทุกเพศทุกวัย
  8. มีตัวเลือกให้เล่นกับแมวได้
  9. ตัวเกมไม่มีบั๊ก

จุดสังเกต

  • Story

    10.0

  • Gameplay

    10.0

  • Presentation

    10.0

  • Performance

    10.0

เซอร์ไพรส์เกมหน้าใหม่จาก Bethesda และ Tango Gameworks (ทีมพัฒนา The Evil Within และ Ghostwire: Tokyo) ที่เปิดตัวแบบไม่ได้ตั้งตัวในงาน Xbox Developer Direct ตัวเกมไม่เคยโฆษณาตัวเกมมาก่อน ไม่มีการประกาศก่อนวางขายเป็นปี ๆ ไม่เคยโม้ความดิบดีก่อนขายใด ๆ แต่ก็ยังสามารถเรียกกระแสจากผู้เล่นได้ไม่แพ้เกมดังเลย หลังจากเปิดตัวและวางจำหน่ายหลังประกาศ ‘แค่วันเดียว’

Hi-Fi Rush เป็นหนึ่งในเกมที่ผมเห็นครั้งแรกแล้วว้าวมาก ด้วยภาพกราฟิกสไตล์ Pop Art Comic (แนวหนังสือการ์ตูนอเมริกันที่ผสมเข้ากับงานศิลป์สไตล์ Pop Art) ผสมเข้ากับเกมแนว 3D ที่ไม่ค่อยมีให้เห็นกันมากในเกมยุคปัจจุบัน ส่วนตัวมองว่าเป็นตัวเลือกที่ดีมาก ๆ เพราะนอกจากจะสร้างเอกลักษณ์ให้ผู้คนจดจำตัวเกมได้แล้ว ความสวยงามที่ได้ก็ออกมาตระการตาเช่นกัน

หลังจากที่เล่นจนจบ ก็บอกได้ว่าเป็นเกมเปิดตัวปี 2023 ที่ยอดเยี่ยมจริง ๆ ดีถึงขั้นผมต้องยกให้เป็นเกมที่ 2 ที่ผมให้คะแนนเต็ม 10/10 ตั้งแต่ทำงานเขียนรีวิวเกมมา ซึ่งสาเหตุที่ประทับใจกับ Hi-Fi Rush มาก ก็ต้องยกให้กับองค์ประกอบทุกอย่างของเกมนี้ ที่ทำออกมาได้สนุกและตื่นเต้นตั้งแต่เริ่มจนจบ ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้มีอะไรกันบ้าง เราจะมาดูทีละส่วนกันเลยครับ

**ขอบคุณทีม Bethesda สำหรับโค้ดรีวิว Hi-Fi Rush อย่างสูงครับ**

Story

อธิบายพล็อตของเกมคร่าว ๆ ผู้เล่นจะได้รับบทเป็น Chai หนุ่มแขนพิการผู้มีความฝันอยากเป็น Rockstar ซึ่งเจ้าตัวก็ได้เป็นผู้เข้าร่วมโครงการทดลองปลูกถ่ายอวัยวะจักรกล Armstrong Project ของบริษัทผลิตชิ้นส่วนจักรกลชั้นนำ Vandalay

โดยเรื่องวุ่น ๆ ทั้งหมดของเกมนี้ เกิดขึ้นหลังจาก iPod ของ Chai ร่วงไปตกอยู่กลางหน้าอกของเจ้าตัวก่อนที่เครื่องปลูกถ่ายอวัยวะจะปั๊มมันเข้าไปในร่างของเขา ซึ่งหลังจากการปลูกถ่ายอวัยวะใหม่เสร็จสิ้น ปรากฏว่า Chai ได้หัวใจจักรกลที่ทำงานด้วย iPod พร้อมกับแขนหุ่นยนต์ใหม่ที่ทำให้เจ้าตัวมีพลังแม่เหล็ก สามารถดูดเศษเหล็กรอบตัวมาสร้างเป็นกีตาร์ไฟฟ้าได้ ถึงแม้มันจะดูเหมือนเป็นเรื่องดีก็ตาม แต่มันก็ส่งผลให้ Chai กลายเป็น ‘ผลิตภัณฑ์มีตำหนิ’ หรือ Defect ของ Vandalay เพราะผลออกมาได้ไม่ตามที่บริษัทคาดเอาไว้ จึงทำให้ทาง Vandalay ต้องไล่ล่ากำจัด Chai ทิ้ง

โดยเป้าหมายหลักของเกมนี้ ผู้เล่นจะต้องพา Chai หนีออกจากเกาะ Vandalay แต่ระหว่างทางหนีก็ได้พบกับเพื่อนใหม่ระหว่างทาง ชื่อว่า Peppermint กับแมวของเธอ 808 ด้วยความที่ Chai ไม่สามารถหนีออกจากเกาะด้วยตัวคนเดียวได้ จึงต้องร่วมมือกับ Peppermint เพื่อหยุดโปรเจกต์ลับสุดร้ายของบริษัท Vandalay ให้สำเร็จก่อนครับ

โดยรวม เนื้อเรื่องของ Hi-Fi Rush ทำความเข้าใจได้ไม่ยาก เนื้อหาหลัก ๆ ของเรื่องก็คือตัวละครเอกจะต้องหยุดแผนการชั่วของตัวร้าย ส่วนจุดเด่นที่ทำให้เนื้อเรื่องน่าติดตามดูแล้วสนุก นอกจากจะสร้าง Plot Diagram ได้ตามหลักการเขียนเรื่องราวแล้ว ก็ต้องยกให้กับสีสันที่ทางผู้เขียนรังสรรค์เข้าไปในบรรยากาศของเกมที่เต็มไปด้วยเสียงดนตรี และ ลักษณะนิสัยของตัวละครที่ถูกเขียนออกมาให้ดูมีชีวิตชีวาพร้อมกับเอกลักษณ์ที่น่าจดจำอีกเช่นกัน

เพราะจากที่เล่นมา ไม่มีช่วงไหนที่ทำให้รู้สึกเบื่อจนอยากพักเกม หรือ ต้องเบรกเพื่อทำความเข้าใจกับเนื้อเรื่องเลย รู้สึกเหมือนกำลังดูการ์ตูนซูเปอร์ฮีโรสนุก ๆ ที่เคยดูกันสมัยเด็กมากกว่า สามารถดูได้เรื่อย ๆ ไม่มีวันเบื่อ (ถ้าให้เทียบกับเรื่องที่เคยดู ก็ต้องบอกว่าแนวเดียวกับ Ben 10 ภาคแรก ๆ ครับ เพราะมีเนื้อเรื่องออกแนวซูเปอร์ฮีโรกู้โลกปนกับตลกเฮฮาเหมือนกัน แค่ไม่มีเอเลียนเท่านั้นเอง)

Gameplay

เป็นส่วนสุดยอดของ Hi-Fi Rush เลยก็ว่าได้ ตัวเกมเป็นแนว Hack and Slash (เกมผ่านด่านที่ผู้เล่นต้องปราบศัตรูเพื่อไปด่านต่อไป คล้ายกับ Devil May Cry หรือ Kingdom Hearts) แต่ทาง Bethesda ได้นำมันมาผสมกับแนว Rhythm Games หรือ เกมดนตรีที่ผู้เล่นจะต้องกดปุ่มโน้ตให้ตรงกับจังหวะดนตรี

มองว่าเป็นแนวคิดที่สร้างความเป็นเอกลักษณ์ให้กับตัวเกมที่เจ๋งมาก ๆ เพราะนอกจากจะทำให้เราสะใจจากการฟาดศัตรูด้วยคอมโบต่าง ๆ ได้เรื่อย ๆ แล้ว การที่ทำให้มันตรงกับจังหวะดนตรีประกอบก็ช่วยเพิ่มอรรถรสความมันได้เยอะเช่นกัน ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นการชูให้เพลงประกอบของเกมมีบทบาทไม่น้อยหน้าองค์ประกอบอื่น ๆ เลย

เพลงประกอบของเกมนี้จะมีบทบาทสำคัญมาก ๆ สำหรับ Hi-Fi Rush สามารถสังเกตได้จากช่วงเริ่มแรก ผู้เล่นจะเห็นได้ว่า Assets ทุกอย่างในด่านรวมไปถึงของตกแต่งจะ Sync ไปตามจังหวะดนตรีของเพลงประกอบทั้งหมด ซึ่งนอกจาก Assets ของด่านแล้ว มันก็รวมไปถึงจังหวะการต่อสู้ของเราเช่นกัน

ในเกมนี้ผู้เล่นจะไม่ได้แค่กดปุ่มโจมตีใส่ศัตรูรัว ๆ อย่างเดียว แต่ถ้ากดให้ตรงกับจังหวะดนตรีได้ มันจะเพิ่มแต้มค่าเสียหายจากการฟาดศัตรู, เพิ่มค่าเสียหายจากการทำคอมโบ, หลบหลีกป้องกันการโจมตีของศัตรูได้มีประสิทธิภาพกว่าปกติ หรือว่าง่าย ๆ มันแทบจะช่วยให้ทุกอย่างดีขึ้นและสะใจยิ่งกว่าเดิมครับ

ด้วยความที่ตัวเกมมีองค์ประกอบเกม Rhythm Games เข้ามาผสม อีกส่วนหนึ่งที่ต้องพูดถึงก็คือ Quick Time Action ของเกม ปกติผมจะไม่ค่อยชอบระบบแบบนี้สักเท่าไหร่นะ เพราะมองว่ามันเป็นแค่ปุ่มที่ให้กดระหว่างช่วง Cutscene เฉย ๆ พลาดก็ไม่เป็นไร แต่ใน Hi-Fi Rush ทำให้ผมโยนความคิดนั้นทิ้งไปเลย เพราะมันสามารถอัปเกรดให้สนุกและสำคัญได้ โดยในเกมนี้มันไม่ได้เป็นแค่ Quick Time Action ที่ใส่มาเพื่อตกแต่งให้ดูไม่ว่าง แต่มันยัดทั้งระบบ Rhythm Games เข้าไปแทนเลย ซึ่งมันจะไม่ได้แค่โผล่มาให้ผู้เล่นตกใจแล้วต้องรีบกด แต่จะมาเป็นเพลงให้ผู้เล่นกดโน้ตตรงกับจังหวะดนตรีเป็นท่อน ๆ เหมือนกับกำลังเล่นเพลงอยู่

โดยรวม ยอมรับเลยว่าเป็นการนำสองแนวเกมมาผสมได้ลงตัว และ แปลกใหม่ไม่เหมือนใครจริง ๆ พูดได้เต็มปากว่าเป็นการสร้างสรรค์เกมเพลย์ที่สุดยอดมาก ๆ ถ้า Hi-Fi Rush ถูกเสนอชื่อชิงรางวัลจาก The Game Awards ปี 2023 ในสาขาเกมที่มีเกมเพลย์แหวกแนว ผมเป็นคนหนึ่งแล้วที่จะเชียร์เกมนี้อย่างเต็มที่เลย

(อ้อใช่!! ผมได้พูดไปยังว่าคุณก็สามารถเล่นกับเจ้าแมว 808 ได้เหมือนกัน??)

Presentation

นอกจากเรื่องงานภาพกราฟิกที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า ตัวเกมใช้สไตล์ภาพที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร, การออกแบบตัวละครที่ดูมีชีวิตชีวา + ความตลกขบขันที่เป็นสีสันทำให้น่าจดจำ และ การเปิดตัวเกมที่ไม่ต้องประกาศก่อนเป็นปี ๆ แต่ก็สามารถเรียกกระแสได้ไม่แพ้เกมดัง

ส่วนหนึ่งที่ต้องพูดถึงก็คือ ‘บั๊ก’ ครับ หลายครั้งที่ผมเล่นเกมจาก Bethesda ก็มักจะเจอบั๊กที่กวนใจไม่น้อย แต่กับเกมนี้คนละเรื่องเลยครับ เพราะผมไม่เจอบั๊กเลย ตั้งแต่เริ่มแรกเกมจนจบเกม ถือว่าเป็นการเอาใจใส่ต่อการพัฒนาจากทีมงานที่ไม่ธรรมดา หากเทียบกับบางเกมในปัจจุบันที่นอกจากจะราคาแพงแล้ว บั๊กก็มีเยอะบางเกมแทบจะเล่นไม่ได้เลย เหมือนทำไม่เสร็จแล้วเอามาวางขาย

อีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่เป็นหัวใจของเกมนี้ก็คือ ‘เพลงประกอบ’ หากขาดส่วนนี้ไปก็บอกได้เลยว่าเกมนี้ไม่มีวันเกิดแน่นอน เพราะทุกอย่างในเกมนี้ทำงานด้วยจังหวะดนตรีอยู่ตลอดเวลา มีหลายเพลงที่คุ้นหูถูกนำมาใช้ และ ก็มีอีกหลายเพลงที่ทาง Bethesda แต่งเอง (ปัจจุบันยังไม่มีให้ฟังบน Youtube แต่สามารถเปิดจากตู้เพลงในเกมได้) เพลงส่วนใหญ่ออกแนวร็อกเพื่อให้เข้ากับธีม Rockstar ที่เป็นความฝันของพระเอก แต่ก็มีเพลงแนวอื่น ๆ ที่ถูกนำมา Remix ใหม่ เช่น เพลงคลาสสิกอย่าง Wolfgang’s 5th Symphony ที่ถูกนำมาใช้เป็น Boss Theme ของเกม

การออกแบบด่านใน Hi-Fi Rush ก็เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่ข้ามไปไม่ได้ เพราะจากที่ผมเริ่มเล่นแรก ๆ ก็คิดว่าทั้งเกมเราจะเจอแต่ด่านสไตล์โรงงานหุ่นยนต์ (เพราะ Vandalay เป็นโรงงานผลิตจักรกลนี่นะ) แต่หลังจากเล่นจนจบก็รู้สึกโล่งใจที่ได้เห็นสภาพแวดล้อมอื่น ๆ ด้วย (ไม่ว่าจะเป็นห้องทดลองใต้ภูเขาไฟ, งานคอนเสิร์ตกลางคืน หรือ ออฟฟิศสไตล์ญี่ปุ่น) นอกจากนั้นแล้ว ด้วยความที่เกมจะคอยเพิ่มตัวละครซัปพอร์ตที่มาพร้อมกับสกิลใหม่ ๆ ให้เราได้ใช้หลังจากดำเนินเรื่องได้ระยะที่เกมกำหนด ก็จะมีกลไกใหม่ ๆ ที่ถูกเพิ่มมาเพื่อสร้างความท้าทายให้กับผู้เล่นในด่านต่อ ๆ ไป ซึ่งก็เป็นเรื่องดีเพราะทำให้แต่ละด่านดูไม่จำเจเกินไป

สุดท้าย อีกหนึ่งความประทับใจที่ผมชอบเกี่ยวกับเกมนี้ก็คือ Transition ระหว่าง Cutscene กับ In-Game ด้วยความที่งานภาพกราฟิกของเกมเป็นสไตล์ Comic 2D ที่ผสมเข้ากับเกม 3D ก็จะมีบางช่วงที่ต้องเปลี่ยนฉากให้ไปได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปกติจะพบเห็นในหลายเกมมีการ Transition ที่หยุดชะงักประมาณเสี้ยววินาที ทำให้ผู้เล่นรู้ว่าตัวเกมกำลังทำการโหลด Assets เพื่อให้เราเข้าช่วง In-Game แต่สำหรับ Hifi Rush ตัวเกมมีการ Transition ที่ลื่นมาก ๆ ไม่มีการหยุดชะงักเลย แม้แต่เสียงเอฟเฟกต์ก็ลื่นตามภาพเช่นกัน สามารถชมได้จากวิดีโอตามนี้เลยครับ

สรุปในส่วนของการนำเสนอทั้งหมด หลัก ๆ ไม่มีส่วนที่ขัดใจ หรือ ไม่ชอบเลย ปกติถ้าเจอปัญหาสักอย่างที่ขัดใจตัวเอง หรือ ขัดใจผู้เล่นส่วนใหญ่ก็จะนำมาเขียนเอาไว้ครับ (ผมทำงานเป็นนักรีวิวนี่นะจะแนะนำสินค้าอะไรก็ต้องเขียนข้อเสียไว้อยู่แล้ว)

ถ้าให้ลองหาส่วนที่ขัดใจแบบ Knit Picking ไปเลย ก็คงเป็นโหมดแต่งตัวละครที่จะปลดล็อกหลังเล่นเกมจบเป็นครั้งแรกนี่แหละครับ เป็นเพราะตอนก่อนที่จะเริ่ม ผมเห็นจากรายละเอียดหน้าร้านค้าเขียนไว้ว่า ‘ชุด Deluxe จะเพิ่มชุดพิเศษและสกินกีตาร์ให้กับ Chai’ ก็คิดว่าจะมีตู้เสื้อผ้าให้เราแต่งตัวได้เลย แต่จริง ๆ แล้วต้องเล่นเกมให้จบก่อนถึงจะใช้ได้ แต่ก็พอเข้าใจได้ทำไมใส่ไว้ตอนท้าย เพราะมีบางสกินที่ส่อสปอยเนื้อหาของเกม แต่เอาจริง ๆ นะ ทางทีมงานจะซ่อนสกินนั้นไว้จนกว่าจะเล่นจบ และ ให้ใช้ชุดอื่นไปก่อนก็ได้

VERDICT

อ่านมาได้ขนาดนี้ ก็คงไม่ต้องแปลกใจแล้วว่าทำไมผมให้ Hi-Fi Rush 10/10 ด้วยการโปรโมตเกมที่เปิดตัวและวางขายหลังประกาศแค่วันเดียว, เป็นเกมที่เล่นแล้วสนุกตั้งแต่แรกจนจบแถมบั๊กก็ไม่มี และ วางจำหน่ายเพียง 1,049 บาท (Steam) พร้อมกับเปิดให้เล่นผ่าน Xbox PC Game Pass ที่จ่ายรายเดือนแค่ 99 บาท/เดือน

ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้เล่นที่ชอบเกมแนว Hack and Slash (โดยเฉพาะ Devil May Cry) หรือ ชอบเกมแนว Rhythm ไม่สิ!! ถึงแม้คุณจะเป็น Casual Gamer ก็ตาม ก็แนะนำได้ว่า Hi-Fi Rush เป็นเกมในปีนี้ที่คุณไม่ควรพลาดอย่างแน่นอน ได้ลองเล่นสักครั้งแล้วจะติดใจครับ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส