รีวิว Sennheiser IE 600 หูฟังเกรด Audiophile พี่กลางค่ายเยอรมัน พร้อมเทียบพี่ใหญ่ IE 900
Our score
8.4

SENNHEISER IE 600

จุดเด่น

  1. หูฟัง in-ear ที่เสียงร้ายกาจมาก รายละเอียดดี แถมพุ่งพล่าน พลังงานสูง
  2. วัสดุตัวหูแข็งแรงมาก ระดับหัวขุดเจาะดาวอังคารที่ NASA ใช้
  3. วัสดุสายดีไซน์พิเศษ ไม่พันกันยุ่งเหยิง
  4. ให้สายมา 2 แบบทั้ง 3.5 mm. และ 4.4 mm.

จุดสังเกต

  1. สาย, หูฟังไม่มีรีโมทสั่งการ ฟังได้อย่างเดียว
  2. ไม่มีไมค์ในตัว
  3. คุณภาพเครื่องเล่นและไฟล์เพลงก็สำคัญ เพื่อรีดประสิทธิภาพหูฟังให้มากที่สุด
  • คุณภาพเสียง

    9.0

  • คุณภาพวัสดุ

    10.0

  • ความคล่องตัวในการใช้

    6.5

  • ความคุ้มค่า

    8.0

รีวิวพี่ใหญ่อย่าง Sennheiser IE 900 ไปแล้ว ถึงคราวของพี่ชายคนกลาง IE 600 นอกจากเรื่องเสียงที่เราไว้ใจได้แล้ว ทีเด็ดอีกอย่างคือเรื่องวัสดุที่ Sennheiser บอกว่าแข็งแกร่งระดับเครื่องขุดเจาะดาวอังคาร! วัสดุนี้คืออะไร เรื่องเสียงเหมาะกับไลฟ์สไตล์แบบไหน ไปแบไต๋กันเลย!

แกะกล่อง

ของในกล่อง Sennheiser IE 600
ของในกล่อง Sennheiser IE 600

แพ็กเกจจิงต้องบอกตามตรงว่าไม่ได้อลังการงานสร้างเหมือนหูฟังไฮเอนด์แบรนด์อื่น ๆ แต่สิ่งที่อยู่ด้านในต้องบอกว่าครบเลยครับ

  • ตัวหูฟัง IE 600 ทั้งซ้ายและขวา
  • สายหูฟังเสริมแกร่งด้วย para-aramid ยาว 1.25 เมตร หัวแจ็คเคลือบทอง จำนวน 2 เส้น
    • สายหูฟัง Unbalanced หัว 3.5 mm.
    • สายหูฟัง Balanced หัว 4.4 mm.
  • จุกหูฟังซิลิโคน 3 ขนาด S M L
  • จุกหูฟังโฟม 3 ขนาด S M L
  • กล่องเก็บหูฟัง
  • อุปกรณ์ทำความสะอาดหูฟัง
  • ใบรับรองผลิตภัณฑ์พร้อมลงลายมือชื่อผู้ตรวจสอบความสมบูรณ์
  • คู่มือ

ของที่ให้มาก็ต้องบอกว่าพอดีใช้ครับ โดยเฉพาะสายหูฟังที่ให้มาทั้ง 3.5 mm. และ 4.4 mm. ไม่ต้องไปหาซื้อสายสัญญาณมาเพิ่ม หรือถ้าเราอยากจะคัสตอมก็สามารถหาสายทดแทนที่เป็นหัวต่อแบบ MMCX มาใช้ได้นะครับ

ดีไซน์, วัสดุ

(ซ้าย) Sennheiser IE900 ผลิตจากอะลูมิเนียมและ IE600 ผลิตจาก AMLOY-ZR01 amorphous zirconium
(ซ้าย) Sennheiser IE900 ผลิตจากอะลูมิเนียมและ IE600 ผลิตจาก AMLOY-ZR01 amorphous zirconium

ในส่วนของตัวหูฟังก็ต้องบอกว่าธรรมดาแต่ว่าโดนครับ อาจด้วยผู้รีวิวชอบอะไรที่เรียบ ๆ อยู่แล้ว เลยค่อนข้างชอบดีไซน์ และที่สำคัญผิวสัมผัสโคตรเท่เลยครับ! ดูแข็งแกร่ง สีเทาเข้ม พื้นผิวสาก ๆ ให้ความรู้สึกมั่นคง ซึ่งก็เป็นผลมาจากวัสดุที่ใช้ในการทำครับ Sennheiser บอกว่า IE 600 บอดี้ทำมาจาก AMLOY-ZR01 amorphous zirconium ซึ่งเป็นวัสดุที่แข็งแกร่งกว่าเหล็ก เอาไว้ใช้ทำหัวขุดดินในโครงการสำรวจดาวอังคารของ NASA และใช้วิธีขึ้นรูปด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติในเยอรมัน มั่นใจได้ว่าแข็งแรงและอยู่กับเราได้นานแน่ ๆ

ขั้นตอนการขึ้นรูปบอดี้ Sennheiser IE 600

และเช่นเคยหูฟังตระกูล IE ใส่จุกหูฟังได้ 2 ระดับครับ แบบจุกลึกกับจุกตื้น เลือกได้ตามสไตล์เลย ส่วนการเชื่อมต่อสายกับตัวหูฟังใช้ขั้วแบบ MMCX เคลือบทอง ส่วนการยึดกันก็ต้องบอกว่าแน่นหนาครับ ถ้าไม่ได้ตั้งใจดึงก็ไม่หลุดง่าย ๆ ครับ ฟังได้สบายใจเลย

คุณภาพเสียง

ด้านสถาปัตยกรรมเสียง IE 600 ใช้ไดรเวอร์ตัวเดียวเพื่อไม่ให้เสียงมันซ้อนทับกัน เพราะยิ่งไดรเวอร์เยอะ เสียงก็ยิ่งเยอะ พร้อมดีไซน์การสร้างห้องสะท้อนเสียงไว้ในหูฟัง 2 ห้อง เพื่อจัดการกับย่านเสียงส่วนเกิน ช่วยให้เสียงเคลียร์ และคมกว่าเดิมครับ Sennheiser เรียกเทคโนโลยีนี้ว่า Dual-chamber frequency absorber เพื่อลดความถี่ส่วนเกิน ด้วยดีไซน์เหล่านี้ทำให้เรื่องเสียง แม้จะเป็นไดรเวอร์ตัวเดียว IE 600 ก็เอาอยู่สบาย ๆ เลยครับ… โดยรองรับความถี่ 4 Hz – 46,500 Hz ความต้านทาน 18 Ω และมีความไวที่ 118 dB SPL

จำเรื่องใบรับรองที่ให้มาในกล่องได้ไหมครับ นั่นเป็นเครื่องยืนยันว่าหูฟังทุกคู่ของ IE 600 ก่อนแพ็กลงกล่องจะมีการตรวจสอบคุณภาพในขั้นตอนสุดท้ายด้วยหูคนจริง ๆ เพื่อให้แน่ใจว่า IE 600 ที่เราได้ไปจะไม่มีปัญหา

สถาปัตยกรรมเสียงภายใน Sennheiser IE 600

และเพื่อให้ Sennheiser IE 600 แสดงประสิทธิภาพได้มากที่สุด อุปกรณ์และชนิดไฟล์ก็เป็นส่วนสำคัญ ดังนั้นในการทดสอบผู้รีวิวจึงเลือกสถานการณ์ที่คล้ายการใช้งานจริงมากที่สุดนั่นก็คือ ฟังผ่านโทรศัพท์มือถือ ด้วยไฟล์ Hi-Res Lossless จาก Apple Music และใช้ DAC ยี่ห้อ SHANLING UP5 ส่วนสายเป็นขนาด 4.4 mm. 

สิ่งแรกที่ต้องชมคือรุ่นนี้มันให้ความรู้สึกแอนะล็อกจริง ๆ อย่างไร… ถ้าคุณฟังหูฟัง TWS จนชินหู จะรับรู้ได้เลยว่าเสียงที่เราฟัง ๆ อยู่มันคือเสียงที่ผ่านการประมวลผล มันจะมีความละเอียด ความเคลียร์ ความชัด ความเพราะในแบบที่ถูกปั้นขึ้นมา 

ส่วนหูฟังรุ่นนี้เสียงมันให้ความรู้สึกแบบแอนะล็อก กล่าวคือ เสียงริทึมกีตาร์ที่แผด ๆ หนา มันจะไม่ใช่แค่สุ้มเสียง แต่จะเป็นมวลเสียงที่พุ่งใส่หูเรา กลองถ้าเป็นสแนร์ก็รับรู้ได้ว่ามันฟาดลงมาในหู กระเดื่องก็จะเป็นลูกอัดเข้ามา พูดง่าย ๆ คือแอนาล็อกเราจะรู้สึกว่าเสียงมันเป็นชิ้นเป็นอัน ราวกับเป็นเครื่องดนตรีจริง ๆ มาเล่นในหูเรา ไม่ใช่การปั้นประมวลผลขึ้นมา

ในแง่ดิจิทัลและแอนะล็อกต้องบอกว่าไม่มีอะไรดีและไม่ดี มันเป็นแค่เทสต์ความชอบของคนครับ

นอกจากเรื่องฟีลลิ่งแล้ว ในแง่ของซาวด์สเตจถือว่ากว้างเลย ถ้าเราฟังเพลงที่ศิลปินอเรนจ์ดี คนมิกซ์มาสเตอร์จัดการย่าน หรือที่ทางต่าง ๆ ของแต่ละชิ้นได้เจ๋ง จะพบว่าทุกชิ้นที่เล่นอยู่สามารถตั้งใจฟังแบบแยกชิ้นได้ พูดง่าย ๆ คือเก็บรายละเอียดได้ครบ 

ยกตัวอย่างเพลง Follow You ของ Bring Me The Horizon ช่วงอินโทรเราจะเห็นเลยว่าเสียงซินธ์ที่ลอยเข้ามา เสียงกลองที่ให้จังหวะ เสียงปรบมือที่เป็นซาวด์ดีไซน์ ไปจนถึงเสียงกีตาร์ที่เลื้อยเข้ามา มันสอดประสานหลบกันได้พอดี ไม่ได้ถูกวางทับกัน

คาแรกเตอร์เสียงต้องบอกว่าในย่านกลาง สูง นี่ทรงพลังมากครับ มันพุ่งลอยเด่นเข้ามาจริง ๆ คม แน่น เป็นชิ้นเป็นอันอย่างชัดเจน ภาพรวมคือถ้าฟังเพลงป๊อป ก็จะเป็นหูฟังที่มีชีวิตชีวา ฟังเพลงร็อกก็จะเป็นหูฟังที่ก้าวร้าว ฟังเพลงบัลลาด ช้า ๆ ซึ้ง ๆ ก็จะเป็นหูฟังที่ทำให้การสื่อสารของเพลงชัดเจนขึ้น เพราะย่านหลัก ๆ อย่างร้อง กีตาร์หรือซินธ์มันชัดนั่นเอง

ส่วนจุดที่ชวนคิดของรุ่นนี้คือเสียงเบส เน้นนะครับว่าเสียงเบส ไม่ใช่ย่านเบส เพราะถ้าเป็นย่านเบสเช่น กระเดื่อง, ดัมบ์เบส, บีตกลองอิเล็กทรอนิกส์ หรือเสียงอื่น ๆ ที่ใหญ่พอในย่านนี้ ก็จะได้ยินชัดไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นเสียงเครื่องดนตรีเบสปกติในเพลง โดยเฉพาะเพลงที่ไม่ได้ถูกดีไซน์ให้เบสเด่น หรือท่อนนั้น ๆ ของเพลงเบสไม่ใช่พระเอก แต่เป็นการเดินคอร์ด เล่นประคองเฉย ๆ  คุณอาจจะต้องตั้งใจฟังสักนิดถึงจะได้ยินมัน

ขั้วที่ใหญ่กว่าคือหัวแบบ 4.4 mm และหัวต่อแบบ 3.5 mm
ขั้วที่ใหญ่กว่าคือหัวแบบ 4.4 mm และหัวต่อแบบ 3.5 mm

ส่วนการทดสอบด้วยสาย 3.5 mm. ในเครื่องเล่นเดียวกัน DAC เดียวกันไฟล์เพลงเดียวกัน หลัก ๆ สิ่งที่ต่างกันคือความดังของเสียงที่ 3.5 mm. จะเบากว่า ส่วนคาแรกเตอร์เสียง 4.4 mm จะสะอาดกว่าครับ ซึ่งตรงนี้ก็เลือกได้ตามสไตล์เลยครับ แต่ แต่! คำว่าเสียงสะอาดไม่ได้หมายความ 3.5 mm. นอยซ์หนาจนฟังไม่ได้นะครับ ก็ยังฟังได้ปกติเลย แทบไม่ได้รู้สึกอะไร เพียงแต่ถ้าเทียบกับ 4.4 mm. ก็จะเห็นความต่างครับผม

เปรียบเทียบกับ Sennheiser IE 900

(ซ้าย) Sennheiser IE 900 และ IE 600
(ซ้าย) Sennheiser IE 900 และ IE 600

สิ่งที่เด่นชัดออกมาคือคาแรกเตอร์ของ 2 รุ่นนี้แตกต่างกันอย่างชัดเจน แทบจะบอกว่าชัดเจนมาก ๆ เลยก็ได้ หากพี่คนกลางอย่าง IE 600 เป็นหูฟังที่หนักแน่น พุ่งทะยาน พลังงานสูง พี่ชายอย่าง IE 900 ก็จะเต็มไปด้วยความสุขุม นุ่มลึก ไดนามิกยอดเยี่ยม เน้นให้ผู้ฟังรู้สึกถึงมิติเสียงของเพลง

ซึ่งถ้าหากเปรียบย่านกลาง สูง IE 600 ดูจะสนุกสนานกว่า แต่ในแง่ของเบสต้องบอกเลยว่า IE 900 จะโดดเด่นกว่าจริง ๆ เบสเคลียร์ ลึก ชัด ฟังเป็นเม็ดเลย

ส่วนซาวด์สเตจ IE 900 ดูจะกว้างกว่านิด ๆ ซึ่งก็ตอบโจทย์กับสไตล์หูฟังที่เน้นมิติเสียง เพื่อให้มีพื้นที่ในการ จัดวางเลเยอร์ ส่วน IE 600 จะแน่นกว่า ซึ่งก็สอดคล้องไปกับสไตล์หูฟังที่ทรงพลัง เพราะถ้ากว้างเกินไป มันก็อาจเกิดช่องว่างระหว่างเสียง

ถ้าถามว่าตัวไหนดีกว่ากัน ผู้รีวิวคิดว่าคงตอบไม่ได้ เพราะจากที่ลองฟังทั้ง 2 รุ่น ส่วนตัวพบว่าไม่ได้ทำมาเพื่อแข่งกัน เพราะแต่ละรุ่นก็จะมีคาแรกเตอร์เสียงที่ต่างกันอย่างชัดเจน ถ้าจะสรุปถึง 3 พี่น้องของ Sennheiser ในตระกูล IE คงพอจะบอกว่าได้

  • IE 300 เป็นน้องชายคนเล็กที่ยังขี้อาย เน้นเบสเพราะไม่กล้าแสดงออก ย่านกลางและสูงเลยไม่เด่น 
  • IE 600 กำลังวัยแตกเนื้อหนุ่ม มีชีวิตชีวา พุ่งทะยาน สนุกสนาน พลังงานสูง ย่านกลาง แหลม แข็งแรง 
  • IE 900 เหมือนผู้ใหญ่ที่เริ่มมีวุฒิภาวะ ไม่ร้อนเกินไป ไม่เย็นเกินไป นุ่มลึก สวยงามครบมิติทุกย่านเสียง

ราคา

สุดท้ายนี้รีวิวที่ดีต้องมีราคา Sennheiser IE 600 ราคาอยู่ที่  £599 หรือราว 26,000 บาท ส่วนราคาไทยอยู่ที่ 26,990 บาทครับ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส