รีวิว Sennheiser IE 900 สุดยอดหูฟังเยอรมันราคาเกือบหกหมื่น พร้อมเทียบรุ่นน้อง Sennheiser IE 300
Our score
8.8

Sennheiser IE 900

จุดเด่น

  1. หนึ่งในหูฟังแบบ in-ear ที่เสียงดีที่สุด ให้รายละเอียดในเพลงเต็มไปหมด เบสมาแน่นๆ แต่ไม่ได้เน้น ให้เสียงโทน Flat ที่ฟังสนุก
  2. ให้สายสัญญาณมาถึง 3 แบบคือ 2.5 mm, 3.5 mm และ 4.4 mm
  3. วัสดุแข็งแรง แน่นหนา หูฟังเล็ก ใส่นานๆ ก็ยังสบาย
  4. กระเป๋าเก็บหูฟังดูดี มีการรันเลข Serial ด้วย

จุดสังเกต

  1. ราคาสูงมาก เป็นของเฉพาะกลุ่ม
  2. ไม่มีรีโมทที่สาย ปรับระดับเสียงที่ตัวเครื่องเล่นอย่างเดียว
  3. ไม่มีไมโครโฟนที่สาย เพราะฉะนั้นใช้ฟังเพลงได้อย่างเดียว ถ้าฟังเพลงอยู่แล้วคนไลน์เข้ามา ก็ใช้ IE 900 คุยสายไม่ได้
  4. คุณภาพของเครื่องเล่นก็สำคัญ ถ้าจะฟังหูฟังระดับนี้ ตัว Player และ DAC ก็ต้องเก่งพอ ไฟล์เพลงก็ต้องดี
  • คุณภาพเสียง

    10.0

  • คุณภาพวัสดุ

    10.0

  • ความคล่องตัวในการใช้

    9.0

  • ความคุ้มค่า

    6.0

ตลาดหูฟังนั้นเติบโตอย่างก้าวกระโดดมากๆ หลังการมาถึงของหูฟัง TWS หรือ True Wireless หูฟังไร้สายที่แท้ทรูนะครับ แต่ก็ยังมีคนอีกกลุ่มที่ต้องการคุณภาพเสียงที่สูงกว่าที่หูฟัง TWS จะให้ได้ ทำให้ตลาดหูฟังมีสายกลุ่ม Audiophile ยังคงมีที่ยืนอยู่ ซึ่ง Sennheiser แบรนด์หูฟังชั้นนำจากเยอรมัน (ที่เพิ่งขายธุรกิจหูฟังสำหรับผู้บริโภคให้ Sonova จากสวิสเซอร์แลนด์ไป) ก็ส่ง Sennheiser IE 900 หูฟังกลุ่ม Audiophile ตัวท็อปสุดในแบบ In-ear ลงตลาด ซึ่งเราจะรีวิวเจาะลึกกัน พร้อมเปรียบเทียบกับ Sennheiser IE 300 หูฟังรุ่นน้องที่ดีไซน์เดียวกัน แต่ค่าตัวถูกกว่าเยอะว่าเสียงจะสู้กันได้ไหมครับ

รีวิว Sennheiser IE 900

แพ็กเกจ

สำหรับคนที่คุ้นเคยกับแบรนด์เซนไฮเซอร์อยู่แล้ว น่าจะพอเดาแพ็กเกจของ Sennheiser IE900 กันได้ว่าออกมาค่อนข้างเรียบ ไม่ได้มีดีไซน์หรือความอลังการพิเศษให้สมฐานะความเป็นหูฟังราคาครึ่งแสนเหมือนที่หลาย ๆ แบรนด์จะมีกล่องหรูหราพิเศษมาให้

(จากบนลงล่าง) หัวขนาด 2.5 mm, 3.5 mm และ 4.4 mm ที่แถมมาในกล่อง จะเห็นว่าหัว 2.5 และ 4.4 mm ที่เป็นแบบ Balanced จะมีบั้งมากกว่า" class="wp-image-683528"/><figcaption>(จากบนลงล่าง) หัวขนาด 2.5 mm, 3.5 mm และ 4.4 mm ที่แถมมาในกล่อง จะเห็นเคลือบทองและหัว 2.5 และ 4.4 mm ที่เป็นแบบ Balanced จะมีบั้งมากกว่า
(จากบนลงล่าง) หัวขนาด 2.5 mm, 3.5 mm และ 4.4 mm ที่แถมมาในกล่อง จะเห็นเคลือบทองและหัว 2.5 และ 4.4 mm ที่เป็นแบบ Balanced จะมีบั้งมากกว่า

แต่ประเด็นสำคัญให้สนใจข้าวของที่อยู่ในกล่องดีกว่าครับ เซนไฮเซอร์ก็จัดมาคุ้มค่าตัวของหูฟังโดยประกอบไปด้วย

  1. ตัวหูฟัง IE 900 ข้างซ้ายและขวา
  2. สายเชื่อมต่อเสริมแรงด้วย para-aramid ให้ทนทานยาว 1.2 เมตร พร้อมหัวเคลือบทอง จำนวน 3 เส้นคือ
    1. สายแบบ Balanced หัว 2.5 mm
    2. สายแบบ Unbalanced หัว 3.5 mm
    3. สายแบบ Balanced หัว 4.4 mm
  3. จุกหูฟังซิลิโคน 3 ขนาด
  4. จุดหูฟังแบบโฟม 3 ขนาด
  5. กระเป๋าเก็บหูฟังแบบพรีเมียม แข็งแรง พร้อมรันเลข Serial
  6. อุปกรณ์ทำความสะอาดหูฟัง
  7. ใบรับรองผลิตภัณฑ์พร้อมลงลายมือชื่อผู้ตรวจสอบความสมบูรณ์
  8. คู่มือ
อุปกรณ์ในกล่องของ Sennheiser IE 900
อุปกรณ์ในกล่องของ Sennheiser IE 900

ซึ่งถึงแม้จะไม่ได้อลังการขนาด Sony IER-M9 ที่มีจุกหูฟังให้ 13 คู่พร้อมสายสัญญาณ 2 เส้น แต่ของที่ให้มาก็ถือว่าพอดีสำหรับความต้องการของนักฟังเพลงกลุ่มนี้แล้ว โดยเฉพาะการที่ให้สาย 2.5 mm พร้อมกับ 4.4 mm มาด้วยกันนี้ชอบมากครับ ทำให้ใช้งานเครื่องเล่นเพลงได้เต็มประสิทธิภาพ ไม่ต้องไปหาซื้อสายเองให้เสียเงินเพิ่มอีก (แต่ถ้าอยากได้สายแฟนซีกว่านี้ก็สามารถหาสายทดแทนที่ใช้หัวต่อแบบ MMCX มาใช้ได้ครับ)

ดีไซน์ตัวหูฟัง

Sennheiser IE 900

เมื่อคิดถึงหูฟังราคาหลายหมื่น เราจะคิดภาพว่าเป็นยังไงบ้างครับ ผู้เขียนลองถามคนใกล้ตัวหลายๆ คนก็จะคิดว่ามันต้องเป็นหูฟังแบบ in-ear ตัวใหญ่ ๆ มีสายเกลียว ๆ ดูอลังการ แต่ Sennheiser IE 900 ไม่ใช่หูฟังแบบนั้นเลย ทั้งตัวเล็กและดีไซน์เรียบมาก แต่ถ้ามองลึกลงไปในงานดีไซน์จะเห็นว่านี่แหละคือตัวอย่างของหูฟังเรียบหรูดูแพง (และมันก็แพงจริงๆ)

ตัวหูฟัง IE 900 นั้นทำจากอะลูมิเนียมอโนไดซ์ที่เจียละเอียดมาก เส้นสายแต่ละเส้นรอบหูฟังคือรอยที่เครื่องสกัดอะลูมิเนียมวิ่งแต่ละรอบจนได้ส่วนโค้งของหูฟังแบบนี้ ซึ่งไม่มีรอยต่อที่ตัวหูฟังเลย ทำให้หูฟังแต่ละข้างเหมือนเป็นเหล็กแข็ง ๆ ก้อนหนึ่งที่ไม่มีความรู้สึกจะยุบหรือจะยวบตรงไหนได้เลย จนคิดว่ามันน่าจะอยู่ทนทานไปกับเราได้ยาวนานครับ

แล้วพอตัวหูฟังทำออกมาได้มีขนาดเล็ก การสวมใส่จึงสบายมาก ๆ ครับ เราสามารถใส่ต่อเนื่องได้หลาย ๆ ชั่วโมงโดยที่ไม่ปวดใบหูเหมือนหูฟัง in-ear ที่ตัวใหญ่กว่านี้ ซึ่งเราคิดว่าประเด็นการสวมใส่สบายนี้ก็สำคัญพอ ๆ กับคุณภาพเสียงนะ ถ้าหูฟังเสียงดีแต่ใส่แล้วไม่สบายตัว ใส่แล้วปวดหู มันก็ไม่ใช่ความสุขในการฟังเพลงจริงไหมครับ

Sennheiser IE 900

และหูฟังตระกูลนี้ของ Sennheiser สามารถใส่จุกหูฟังได้ 2 ลักษณะครับ คือเวลาที่เราสวมจุกลงไปกับหูฟังจะรู้สึกว่ามันมีล็อก 2 จังหวะ จังหวะแรกจุกจะยื่นออกไปมากหน่อย แล้วจังหวะที่ 2 จะเป็นตำแหน่งจุกที่ติดกับฐานของหูฟังที่เราคุ้นเคยกันดี ที่ดีไซน์เป็นแบบนี้ก็เพื่อให้จุกหูฟังสามารถสอดเข้าไปในหูได้มากขึ้น ซึ่งบางคนอาจจะชอบใส่จุกหูฟังขนาดเล็กแล้วสอดเข้าไปลึกๆ หรือบางคนจะชอบจุกหูฟังใหญ่ ๆ แต่สอดตื้น ๆ ก็เลือกได้ตามชอบครับ

ส่วนการเชื่อมต่อระหว่างหูฟังกับสายนั้นใช้ขั้วแบบ MMCX เคลือบทอง เพื่อส่งสัญญาณเสียงให้ดีที่สุด และสามารถเปลี่ยนสายได้ง่าย ๆ โดยที่ตัวหูฟังกับสายนั้นยึดกันหนาแน่น ไม่หลุดง่าย ๆ ครับ

คุณภาพเสียงของ Sennheiser IE 900

ที่ดีไซน์หูฟัง IE 900 เล็กได้ขนาดนี้เพราะมีไดร์เวอร์ขับเสียงตัวเดียวขนาด 7 มม. พร้อมระบบเสียงด้านหลัง (Acoustic Back Volume) ซึ่งแตกต่างจากหูฟังระดับท็อปของแบรนด์อื่น ๆ ที่จะใส่ไดรเวอร์หลายตัวเข้ามาในหูฟัง เพื่อแยกการขับเสียงในย่านต่างๆ โดยหูฟังนี้มีค่า Impedance 16 Ω ครับ

โดยเซนไฮเซอร์ให้เหตุผลว่าปัญหาของการใส่ไดรเวอร์หลายตัวคือเสียงมันจะทับซ้อนกัน ยิ่งไดรเวอร์เยอะ ยิ่งมีส่วนที่เสียงทับซ้อนกันมากจนทำให้เสียงออกมาไม่เคลียร์ เซนไฮเซอร์เลยใส่ตัวเดียวให้เสียงเคลียร์ ๆ ไปเลย และใช้เทคนิคพิเศษคือ Triple-chamber ช่องว่างในหูฟังที่เจียอะลูมิเนียมอย่างละเอียด ออกแบบตามหลัก Helmholtz resonance เพื่อสะท้อนและจัดการกับคลื่นเสียงบางจุดที่มีปัญหา ทำให้เสียงออกมากระจ่างที่สุดครับ ซึ่งตัวไดรเวอร์และช่อง Chamber นี้เรียกรวมกันว่าเทคโนโลยี X3R ซึ่งตอบสนองความถี่ตั้งแต่ 5 Hz – 48,000 Hz คือรองรับเสียงในระดับ Hi-Res เต็ม ๆ นั่นเองครับ

Triple-chamber ภายในตัวหูฟัง Sennheiser IE 900
Triple-chamber ภายในตัวหูฟัง Sennheiser IE 900

ความแพงอีกอย่างของ IE 900 คือหูฟังนั้นผลิตที่สำนักงานใหญ่ของ Sennheiser ในเยอรมัน และใช้วิศวกรผู้เชี่ยวชาญในการผลิต และจับคู่หูฟัง 2 ข้างให้มีเสียงสอดคล้องกันกันมากที่สุด เพราะฉะนั้นในกล่องจึงมีใบรับรองด้วยลายมือว่าผ่านการเทสต์อย่างดีมาเรียบร้อยแล้ว

แน่นอนว่าหูฟังเกรดระดับ Audiophile ที่เป็นแอนะล็อกล้วนอย่าง IE 900 คุณภาพของไฟล์เพลง ซอฟต์แวร์เล่นเพลงและ DAC ก็ส่งผลต่อคุณภาพเสียงชัดเจนนะครับ ถ้าต้นฉบับและตัวขับเสียงไม่ดี หูฟัง IE 900 ก็แสดงความสามารถได้ไม่ต่างจากหูฟังทั่วไปมากนัก เราจึงทดสอบ Sennheiser IE 900 กับไฟล์เพลงระดับสูงสุดของ Tidal กับอุปกรณ์ 2 ชุดคือ

  • ชุดแรกคือฟังผ่าน PC ด้วยโปรแกรม Audirvana Studio มาที่ Sony CAS-1 ซึ่งเป็น DAC ภายนอก และเชื่อมกับ IE 900 ด้วยสาย Unbalanced 3.5 mm
  • อีกชุดหนึ่งคือฟังผ่าน Mac ด้วย Audirvana Studio เหมือนกัน แล้วต่อ USB-C เข้า Fiio BTR5 ซึ่งเป็น DAC ภายนอก และเชื่อมกับหูฟังผ่านสาย Balanced 2.5 mm
ใบรับรองภายในกล่องของ Sennheiser IE 900
ใบรับรองภายในกล่องของ Sennheiser IE 900

ซึ่งเสียงของ IE 900 นั้นใกล้เคียงกับคำว่าหูฟังมอนิเตอร์ คือเสียงไปในโทน Flat ไม่ได้มีการเร่งเสียงแหลมหรือเบสให้โดดเด่นกว่าปกติ แต่ก็ยังฟังสนุกกว่าหูฟังมอนิเตอร์แท้ ๆ โดยความดีงามของมันอยู่ที่เสียงเป็นประกายตามธรรมชาตินี่แหละครับ เสียงที่ผ่าน IE 900 เราจะได้ยินรายละเอียดเสียงที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อนในการฟังด้วยหูฟังอื่น ๆ ที่เกรดต่ำกว่าหรือลำโพงทั่วไปครับ เช่น เสียงกลองสแนร์ที่หลบซ่อนอยู่ในเพลง Dropout Boulevard ของ End of the World ที่ได้ยินเด่นชัดยิ่งกว่าหูฟังไหนๆ หรือในไลน์เบสมหึมาของเพลง Beat of My Heart (Deluxe Edit) ของ Lost Frequencies ก็ได้ยินรายละเอียดเสียงที่หลบอยู่ในความหนาบวมของเบสได้อย่างชัดเจน และเพลง Mr. Perfectly Fine ของ Taylor Swift จะได้ยินประกายเสียงที่ซ่อนอยู่ในหูขวาได้

และความแตกต่างระหว่างสาย Unbalanced 3.5 mm กับ Balanced 2.5 mm คือสาย 2.5 mm จะให้เสียงที่ดังกว่าในระดับความดังที่ DAC เท่ากัน และมีความสงัดของเสียง มีระดับเสียงรบกวน (Noise Floor) ลดต่ำลงไปกว่าสาย 3.5 mm อย่างรู้สึกได้ เพราะฉะนั้นถ้าคุณมี Player ที่รองรับสาย Balanced อย่าลืมใช้ความพิเศษนี้นะครับ หูฟังของคุณจะพิเศษขึ้นไปอีก

จุดที่ต้องคิดของ Sennheiser IE 900

Sennheiser IE 900

แน่นอนว่าที่เราต้องคิดคือราคาที่ Sennheiser IE 900 เปิดตัวที่ราคา 48,990 บาท (และปรับขึ้นราคาเป็น 59,990 บาท จากภาวะเงินเฟ้อ ค่าเงิน และเรื่องห่วงโซ่อุปทาน) ซึ่งถือเป็นหูฟังที่แพงมาก แต่มันก็ไม่ได้แพงไร้เหตุผลครับ คุณภาพเสียงและงานสร้างของมันก็ตอบคำถามเรื่องความแพงนี้ได้ ถ้าคุณมีกำลังทรัพย์มากพอ รวมถึงคุณต้องมีเครื่องเล่นเพลงประสิทธิภาพสูงพอ และไฟล์เพลงที่ดีพอด้วยนะ IE 900 ก็ไม่ทำให้คุณผิดหวังครับ

แต่ Sennheiser IE 900 ก็เป็นหูฟังเพื่อการฟังเพลงแบบยุคแอนะล็อกอย่างแท้จริงครับ มันเลยไม่มีความสามารถสนับสนุนการใช้งานในยุคใหม่ ๆ อะไรเลย ที่สายก็ไม่มีไมโครโฟน หรือปุ่มปรับระดับเสียงอะไรทั้งนั้น เป็นสายเพียว ๆ เลย เพราะฉะนั้นคุณต้องปรับเสียงที่ตัว player อย่างเดียว หรือถ้าเอาไปเสียบคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่คุยได้ มันก็ไม่สามารถทำตัวเป็น Small Talk ให้เราได้ เวลาจะคุยสายก็ต้องถอดหูฟังออกก่อนครับ

เปรียบเทียบกับ Sennheiser IE 300

ซ้าย Sennheiser IE 900 และขวา Sennheiser IE 300
ซ้าย Sennheiser IE 900 และขวา Sennheiser IE 300

Sennheiser IE 300 และ Sennheiser IE 900 นั้นเป็นหูฟังกลุ่มเดียวกันครับ ออกมาในช่วงใกล้ๆ กัน ดีไซน์ภายนอกคล้ายกันมาก แต่ขายต่างกัน 4 เท่า คือ Sennheiser IE 300 ราคาเปิดตัวมาแค่ 449 เหรียญสิงคโปร์ ส่วนราคาไทยคือ 10,990 บาท จึงน่าสนใจว่าหากงบเราไม่ถึง IE 900 จริงๆ จะสามารถใช้ IE 300 แทนได้หรือไม่

แพ็กเกจ

แพ็กเกจภายนอกของ Sennheiser IE 300 ไม่ได้ต่างจาก IE 900 มากนักครับ แค่กล่องบางกว่าหน่อย ส่วนภายในจะมีของมาดังนี้

  1. ตัวหูฟัง IE 300
  2. สายเสริมแรงด้วย para-aramid ให้ทนทานยาว 1.2 เมตรแบบ Unbalanced 3.5 mm
  3. จุกหูฟัง 6 แบบ โดยเป็นซิลิโคนและ Memory Form อย่างละ 3 ขนาด
  4. เคสใส่หูฟัง
  5. อุปกรณ์ทำความสะอาดหูฟัง

ซึ่งสิ่งที่ต่างจาก IE 900 คือไม่มีสายแบบ Balanced มาให้ทั้งแบบ 2.5 mm และ 4.4 mm ถ้าต้องการใช้ต้องหาสายแบบ MMCX มาใช้เองครับ แต่ก็อยากได้สาย para-aramid แบบที่ให้มากับ IE 900 เพราะเป็นสายที่ดูดี แล้วก็ไม่พันง่ายด้วยครับ นอกจากนี้ก็ไม่มีใบรับรองคุณภาพเป็นรายชิ้นด้วยลายมือ ส่วนเคสที่แถมก็จะเป็นเคสแข็งสีดำธรรมดา ไม่หรูหราเท่าเคสสีเทาของ IE 900

ดีไซน์ของ Sennheiser IE 300

เราเกริ่นไปแล้วว่าดีไซน์ตัวหูฟังของ IE 300 กับ IE 900 นั้นเหมือนกันเลย สัมผัสในการใส่ก็จะคล้ายๆ กัน ใส่นาน ๆ ก็ไม่ปวดหูเหมือนกันเพราะเป็นหูฟังทรงตัว L ขนาดเล็กเหมือนกัน ส่วนความแตกต่างนั้นอยู่ที่วัสดุครับ คือ IE 300 จะเป็นพลาสติกแข็งสีดำมีเกล็ดประกายสีเงิน ๆ อยู่ ซึ่งก็ดูแข็งแรงดี ส่วน IE 900 เป็นอลูมิเนียมอย่างดี ถ้าอากาศเย็น เวลาใส่ IE 900 จะรู้สึกถึงความเย็นจากโลหะให้ได้รู้สึกถึงความแพงกัน

คุณภาพเสียง

Sennheiser IE 300 นั้นใช้ไดรเวอร์ที่เรียกว่า TrueResponse ขนาด 7 mm พร้อมมีค่า Impedance 16 Ω เท่ากับ IE 900 แต่ IE 300 ตอบสนองความถี่ในช่วง 6 Hz – 20,000 Hz เท่านั้น จึงไม่มีคุณสมบัติของหูฟัง Hi-Res นะครับ

เมื่อเราเริ่มต้นใช้ IE 300 จะรู้สึกว่าเสียงของมันอู้มาก จนใช้ไปสักพักเมื่อผ่านช่วงเบิร์นเสียงจะโปร่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เสียงเริ่มใกล้เคียงกับ IE 900 มากขึ้น โดยลักษณะเสียงของ IE 300 เป็นดังนี้

  • เสียงต่ำ: มาเป็นลูก ๆ ให้สัมผัสเยอะกว่า IE 900 แต่แรง impact ไม่เยอะ เบสไม่คม คือถ้าไม่เอาไปเทียบกับรุ่นพี่ เจ้า IE 300 ก็เป็นหูฟังที่ดี เบสสวย แต่พอเอาไปฟังเทียบกัน กลายเป็น IE 300 มีความเบสบวมนิด ๆ
  • เสียงกลาง-สูง: ชัดเจน แยกชิ้นเครื่องดนตรีได้ดี แต่ไม่มีประกายเสียงระยิบระยับแบบ IE 900 รายละเอียดเล็ก ๆ ในเสียงมีไม่มากเท่า ซึ่งบางเพลงอาจรู้สึกว่าปลายเสียงมีสะบัดบ้าง พวกเสียงสแนร์ เก็บทรงไม่ดีเท่ารุ่นพี่
  • Soundstage: กว้างระดับหนึ่ง แยกชิ้นเครื่องดนตรีชัดเจน แต่ไม่ได้โปร่งระดับ IE 900

สรุป Sennheiser IE 300 สู้ IE 900 ได้ไหม

Sennheiser IE 300

Sennheiser IE 300 เป็นรุ่นน้องของ IE 900 ที่ดี ได้เอกลักษณ์ความใส่ง่าย ใส่สบายเหมือนรุ่นพี่ เป็นหูฟังเสียงดีที่ไม่ทำตัวเวอร์วังแบบเดียวกับรุ่นพี่ที่ทำตัว Low Profile เวลาที่ใส่อยู่ในหู แต่ต้องยอมรับว่าค่าตัวที่ต่างกันหลายเท่าก็ทำให้เรื่องเสียงของ IE 300 จำกัดกว่า IE 900 แทบทุกด้าน ความละเอียด ความใส ความโปร่ง ความกระชับของเบสด้อยกว่าทั้งหมด จะมีเรื่องขนาดเบสและปลายแหลมที่เยอะกว่าเท่านั้นเอง

เสียงของ IE 300 เหมือนปรับ EQ เป็นตัว V มากกว่า IE 900 นิด ๆ ถ้าใครชอบเบสหนา ๆ แหลมพร่า ๆ หน่อย น่าจะชอบ

ส่วนถ้าถามว่า IE 300 ด้อยกว่า IE 900 เยอะมากไหม ก็ถือว่าไม่มากครับ ถือว่าสู้กับหูฟังอื่น ๆ ได้ในระดับราคา 10,990 บาทของมัน แต่ถ้าจับเทียบ IE 900 ตรง ๆ ใจอาจจะหวั่นไหวไปซื้อรุ่นพี่แทนได้

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส