รีวิว B&O Beoplay EQ หูฟังไร้สายที่แท้ทรูพร้อม ANC ตัวแรกของแบรนด์
Our score
8.7

B&O Beoplay EQ

จุดเด่น

  1. ให้เสียงละเมียดละไม กลมกล่อม ฟังเพลิน ฟังได้นาน
  2. เคสชาร์จมีขนาดเล็ก วัสดุเป็นอลูมิเนียมหรูหรา
  3. รองรับ aptX Adaptive ทำให้ใช้กับมือถือ Android รุ่นใหม่ๆ ได้ดี
  4. ใช้งานข้างเดียวได้ ใช้ข้างไหนก็ได้ สะดวกเวลาเอามาใช้คุยโทรศัพท์

จุดสังเกต

  1. เฟิร์มแวร์และแอปยังต้องปรับปรุงอีกเยอะ ทั้งถอดหูฟังเพลงไม่หยุดเอง, เปลี่ยนโหมดตัดเสียงจากในแอปไม่ได้, เปลี่ยนรูปแบบการสัมผัสควบคุมหูฟังไม่ได้
  2. เรียกใช้ Google Assistant หรือ Siri จากหูฟังไม่ได้
  3. การควบคุมแบบสัมผัส ลั่นง่ายเมื่อเอามือไปปรับการใส่หูฟัง แค่จับๆ หมุนๆ หูฟังในหูก็อาจจะสั่งงานได้
  4. ระบบตัดเสียงรบกวนมีความสามารถในระดับกลาง ไม่ได้เงียบลงมาก
  5. ราคาสูงกว่าหูฟัง TWS ตัวท็อปของค่ายอื่นๆ
  • คุณภาพเสียง

    9.0

  • คุณภาพวัสดุ

    9.5

  • ความคล่องตัวในการใช้

    10.0

  • ความสามารถในการคุยโทรศัพท์

    8.5

  • ความคุ้มค่า

    6.5

เมื่อ Bang & Olufsen แบรนด์เครื่องเสียงสุดหรูจากเดนมาร์ก ปล่อย B&O Beoplay EQ หูฟัง True Wireless รุ่นใหม่ที่มาพร้อมระบบตัดเสียงรบกวนหรือ ANC เป็นรุ่นแรกของแบรนด์ #beartai ก็ไม่พลาดจับมารีวิวพร้อมเทียบรุ่นอื่นๆ ในระดับใกล้เคียงกันให้ดูครับ

ดีไซน์ตัวหูฟัง

B&O EQ ถือเป็นหูฟังที่ดีไซน์เคสได้เล็กเหลือเชื่อครับ คือขนาดตัวหูฟังนั้นก็เป็นหูฟังขนาดกลางๆ ไม่ได้เล็กมากแบบ AirPods แต่สามารถทำเคสได้เล็กกว่าเพื่อนเลย เป็นเคสที่แทบจะกำมิดในมือเดียว ทำให้สามารถพกพาออกไปใช้นอกบ้านได้ง่ายมากๆ ซึ่งวัสดุของเคสก็เป็นโลหะ Anodised Aluminium ซึ่งแข็งแรงทนทาน และให้สัมผัสที่พรีเมียมกว่าหูฟังรุ่นอื่นๆ

B&O Beoplay EQ Black

หูฟังรุ่นนี้มีให้เลือก 2 สี คือ Sand ที่เรารีวิววันนี้ ก็เป็นสีของทรายแบบทองๆ ครีมๆ ที่สวยงามเลย ส่วนอีกสีคือ Black สีเทาดำเข้มครับ

ตัวหูฟังนั้นดีไซน์ไม่แตกต่างจากหูฟังแบบ TWS ทั่วไปมากนักครับ ตัวหูฟังเป็นพลาสติก ส่วนแป้นสัมผัสด้านนอกเป็นโลหะพร้อมโลโก้ B&O ก็จัดว่าให้การสวมใส่ที่สบายครับ ถ้าหูไม่เล็กเกินไปจนใบหูชนกับตัวหูฟังมากนักก็จะใส่ได้ยาวๆ หลายชั่วโมง เพียงแต่ว่าน้ำหนักถ่วงของหูฟังจะอยู่ที่ตัวก้อนใหญ่ๆ ทำให้ถ้าเราใส่จุกยางที่ไม่เหมาะสม หรือไม่เกาะหูเราก็อาจจะทำให้หูฟังเลื่อนหลุดออกมาได้เมื่อใช้งานไปสักพักครับ

อุปกรณ์ของ B&O EQ ที่มีมาให้ในกล่อง
อุปกรณ์ของ B&O EQ ที่มีมาให้ในกล่อง

โดย B&O EQ มีจุกหูฟัง 5 คู่มาให้ในกล่อง เป็นจุกซิลิโคนที่สีเข้าคู่กับตัวหูฟัง 4 คู่ในขนาด XS, S, M, L และจุกโฟมที่เรียกว่า Comply tips ขนาด M อีก 1 คู่ ซึ่งผู้ใช้แต่คนก็จะเหมาะกับจุกหูฟังที่แตกต่างกันไป อย่างผู้เขียนปกติหูฟังรุ่นอื่น ๆ จะใช้จุกซิลิโคนขนาด M แต่จุกซิลิโคนของ B&O ใส่แล้วลื่นเกินไปเมื่ออยู่ในหู เลยเปลี่ยนมาใช้จุกโฟมแทน ก็ให้การยึดเกาะกับหูที่ดีกว่าจุกซิลิโคน แถมจุกโฟมนี้นุ่มมากครับ ใส่แล้วไม่เจ็บหูเหมือนจุกโฟมหลายๆ ตัวที่เคยใส่มา แถมทิปสำหรับการใส่จุกโฟมนิดหนึ่ง คือการใส่ให้กระชับ เราต้องบีบจุกโฟมให้ขนาดเล็กลงก่อนใส่เข้าไปในหูนะครับ ให้มันไปคลายตัวในหู จุกโฟมจะเข้าลึกขึ้น และอยู่แน่นหนาในหูมากขึ้น

แต่จุกโฟม Comply นี้ใหญ่ไปสักหน่อยเวลาเก็บในเคสชาร์จครับ จุกโฟมจะไปดัน ๆ ขอบเคสจนเราต้องมองดี ๆ เวลาเก็บหูฟังว่าเข้าล็อกแม่เหล็กดีแล้วหรือยังครับ ซึ่งถ้าใช้จุกซิลิโคน ก็จะเก็บง่ายกว่า เข้าล็อกแม่เหล็กง่ายกว่า

การใช้งานหูฟัง

B&O EQ Box

การเชื่อมต่อ B&O Beoplay EQ นั้นจะต้องเอาหูฟังออกมาจากเคสก่อนนะครับ ถึงจะเริ่มเชื่อมต่อกับสมาร์ตโฟน ไม่ใช่ระบบแค่เปิดฝาเคสก็เริ่มเชื่อมต่อเหมือนหูฟังไร้สายบางรุ่น ซึ่งทำให้การเชื่อมต่อเกิดขึ้นช้านิดหนึ่ง แต่หูฟังรุ่นนี้สามารถใช้งานแค่ข้างเดียวได้ ข้างไหนก็ได้ ไม่ได้เป็นแบบ Master/Slave เหมือนหูฟังบางรุ่นที่จะต้องใช้หู Master เป็นหลักเท่านั้น เอาหูข้างที่เป็น Slave มาใช้ช้างเดียวไม่ได้

B&O EQ นั้นควบคุมด้วยระบบสัมผัสนะครับ โดยมีรูปแบบการควบคุมดังนี้

การสั่งงานใช้งานฟังเพลงใช้งานโทรศัพท์
แตะ 2 ครั้งที่หูขวาเล่นเพลง/หยุดเพลงรับสาย/วางสาย
แตะ 2 ครั้งแล้วค้างที่หูขวาเร่งเสียง
แตะ 2 ครั้งที่หูซ้ายเปลี่ยนโหมดตัดเสียงเปลี่ยนโหมด Own Voice
แตะ 2 ครั้งแล้วค้างที่หูซ้ายลดเสียง

การสั่งงานด้วยระบบสัมผัสนี้ก็แม่นยำดีครับ เพราะพื้นที่สั่งงานที่ตัวหูฟังนั้นค่อนข้างใหญ่เลย แตะยังไงก็โดน เพียงแต่ว่าหูฟังจะไม่พูดว่าเปลี่ยนโหมดเป็นอะไรนะครับ จะมีเสียงสัญญาณบอกให้เราจำเอาว่าเสียงนี้คือโหมดอะไร และจะมีปัญหานิดหน่อยเวลาขยับหูฟังให้เข้าที่เข้าทางในหู มันก็มีโอกาสที่นิ้วจะเฉียดไปโดนแป้นโลหะจนเป็นการสั่งงานหูฟังไป คือพื้นที่สั่งงานมันใหญ่ไปจนแม้เราจะจับที่ขอบหูฟัง แต่ก็มีโอกาสที่นิ้วเราจะไปโดนแผ่นโลหะจนสั่งงานอยู่ดี ก็ต้องใช้ความคุ้นเคยนิดหนึ่งในจุดนี้ครับ นอกจากนี้การควบคุมเหล่านี้ยังปรับเปลี่ยนไม่ได้นะครับ ตัวแอปไม่มีตัวเลือกเปลี่ยนคำสั่งการแตะเป็นอื่นๆ และยังไม่มีปุ่มลัดสำหรับเรียกใช้งานผู้ช่วยอัจฉริยะอย่าง Siri หรือ Google Assistant ครับ

ในเฟิร์มแวร์ 5.2.7 ที่เราได้มาทดสอบนี้ตัว B&O EQ ยังไม่สามารถหยุดเพลงเองได้เมื่อถอดหูฟังออกจากหูนะครับ เพียงแค่หยุดส่งเสียงในหูฟังข้างที่ถอดออกจากหูเท่านั้น ก็ต้องรออัปเดตจากทาง B&O ต่อไปครับ

ส่วนการควบคุมในสมาร์ตโฟนผ่านแอป B&O เวอร์ชัน 3.16 ที่เราทดสอบนี้ รูปแบบการควบคุมหูฟังยังมีไม่เยอะนักครับ คือ

  • ดูแบตเตอรี่ของหูฟังทั้ง 2 ข้างและเคสได้
  • ปรับ EQ ได้ แต่ไม่ได้ปรับแบบ 5-band, 10-band นะครับ เลือกเอาตาม Preset หรือหมุนๆ ในวงกลมเอา
  • เปิด-ปิดการใช้งาน Adaptive ANC ซึ่งถ้าเปิดใช้โหมดนี้ แล้วหูฟังเราอยู่ในโหมดตัดเสียงรบกวน Active Noise Cancelling หูฟังจะตรวจจับเสียงรอบตัวแล้วปรับการทำงานของระบบตัดเสียงรบกวนให้อัตโนมัติ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราเปลี่ยนโหมดตัดเสียง ANC <-> Off <-> Transparency ได้จากแอปนะครับ ต้องกดเปลี่ยนโหมดจากหูฟังเท่านั้นในตอนนี้ครับ
  • เปิดโหมด Automatic Standby ได้
  • ใช้อัปเดตเฟิร์มแวร์ของหูฟัง

ซึ่งในอนาคตก็น่าจะมีการอัปเดตเฟิร์มแวร์และตัวแอปเพื่อเสริมฟังก์ชันการใช้งานให้ครอบคลุมมากขึ้นครับ

ส่วนการเชื่อมต่อหูฟังใหม่ (Pairing) ของ B&O EQ จะแปลกกว่ารุ่นอื่นๆ นิดหน่อย คือหลังจากเปิดเคสแล้วให้รอจนไฟที่เคสดับ แล้วแตะที่แป้นโลหะของหูฟัง 2 ข้างพร้อมกันจนเคสขึ้นไฟสีน้ำเงิน ถึงจะเริ่มเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ใหม่ได้ครับ ซึ่งหูฟังรุ่นนี้สามารถเชื่อมกับอุปกรณ์ได้แค่ครั้งละ 1 ตัวนะครับ ไม่มีความสามารถ Multipoint เชื่อม 2 อุปกรณ์ได้พร้อมกัน

คุณภาพเสียง

B&O EQ Earbuds

สเปกด้านเสียงของ B&O Beoplay EQ นั้นน่าสนใจครับ ทาง Bang & Olufsen ก็อัดเทคโนโลยีล่าสุดที่มีตอนนี้ลงไปในหูฟังไร้สายรุ่นนี้เลย

  • ไดรเวอร์แบบ Electro-dynamic ขนาด 6.8 mm
  • รองรับความถี่ 20 – 20,000 Hz
  • รองรับการเชื่อมต่อ Bluetooth 5.2
  • รองรับ Codec เสียง: SBC, AAC, aptX Adaptive

ไฮไลต์ของสเปกคือการรองรับ Codec เสียงตัวใหม่อย่าง aptX Adaptive พร้อมรองรับย้อนกลับไปที่ aptX รุ่นมาตรฐานด้วย ถ้าเราใช้กับสมาร์ตโฟน Android รุ่นใหม่ๆ ที่รองรับ aptX Adaptive ก็จะให้คุณภาพเสียงดีที่สุด และใช้อัตราการส่งข้อมูลน้อยลงด้วย ทำให้มีโอกาสเกิดเสียงกระตุกในย่านที่มีคลื่นไร้สายหนาแน่นอย่างในห้างสรรพสินค้าได้ ส่วน iPhone ก็ใช้ AAC ตามปกติครับ

ซึ่งลักษณะเสียงของ B&O Beoplay EQ จะกลมๆ มนๆ ละมุนละไม ไม่กระแทกกระทั้น ฟังได้นาน ๆ ไม่ล้าหู

  • เสียงเบส: ลูกกลาง ๆ ไม่หนา มีแรงกระแทกพอประมาณ แต่รายละเอียดในเบสดี
  • เสียงกลาง-แหลม: ให้รายละเอียดดี เสียงร้องหวาน แหลมสดใส แต่ไม่ถึงระดับเป็นประกาย ปลายเสียงทู่นิดหน่อย
  • Soundstage: โปร่งกว้าง ไม่อึดอัด

การจะรีวิวเสียงของ B&O EQ นั้นค่อนข้างยากนิดหนึ่งครับ คือเสียงในช่วงแรกหลังจากได้รับหูฟังมาจะค่อนข้างจืดเลย เป็นเสียง Flat ที่เรียบสนิท เมื่อใช้ไปสักพักให้หูฟังได้เบิร์นตัวเอง เสียงเบสก็เริ่มมามากขึ้น แม้ว่าจะไม่ใช่หูฟังที่เน้นด้านเบส แต่ในจังหวะที่เพลงต้องการเบส หูฟังรุ่นนี้ก็สามารถขับได้ในระดับที่เพลงกลมกล่อม อย่างเพลง Begin (feat. Wales) ของ shallou ที่ดำเนินไปด้วยเบส ก็สามารถบรรเลงได้อย่างมีอรรถรส หรือเพลง See you in Life ของ Valentina Ploy ก็ให้เสียงร้องได้หวานไพเราะ

ความสามารถในการตัดเสียงรบกวน

B&O EQ Box

B&O EQ เป็นหูฟัง True Wireless รุ่นแรกจาก Bang & Olufsen ที่มีความสามารถ ANC หรือการตัดเสียงรบกวนแบบ Active ซึ่งก็ตัดได้ดีในระดับหนึ่งครับ สามารถจัดการเสียงรบกวนต่ำ ๆ พวกเสียงลม เสียงหึ่ม เสียงฮัมต่าง ๆ ออกไปได้ แต่เสียงพูดนี่ตัดออกไปได้น้อยหน่อย ก็เป็นระดับที่แตกต่างจากเบอร์ต้นในตลาดอย่าง Sony WF-1000XM4 หรือ Devialet Gemini ที่ตัดเสียงภายนอกได้หมดจดกว่าครับ

ส่วนการดึงเสียงภายนอกหรือโหมด Transparency ก็ทำได้ใกล้เคียงกับเสียงที่ได้ยิน แยกทิศทางเสียงได้ เพียงแต่จะไม่ได้ใสเท่าเสียงที่ได้ยินผ่านหูจริง ๆ ครับ ซึ่งความใสนี้ยังสู้โหมด Transparency ของ Devialet Gemini ไม่ได้ครับ ที่แทบจะเหมือนไม่ใส่หูฟังเลย

ความแลคของเสียง

หูฟัง True Wireless สมัยใหม่เวลาดูวิดีโอจาก Netflix หรือ Youtube เสียงจะไม่มีแลคหรือดีเลย์แล้วนะครับ เพราะสามารถซิงก์บัฟเฟอร์จนเสียงพูดออกมาตรงกับปากทั้งหมด เพราะฉะนั้นเรื่องความแลคของเสียงเราจึงไปวัดกันที่เกมหรือแอปที่ให้เสียงแบบ Real-time ที่ไม่มีการบัฟเฟอร์ครับ ซึ่งเราทดสอบความแล็กด้วยแอป Earbuds Delay Test บน OPPO Reno6 Pro ที่เชื่อมต่อระบบเสียงด้วย aptX Adaptive ก็วัดความดีเลย์ของเสียงได้รา วๆ 300 ms ซึ่งก็้เป็นค่ามาตรฐานของหูฟังแบบ True Wireless ทั่วไปครับ คือถ้าเอาไปเล่นเกม จะรู้สึกว่าเสียงออกช้ากว่าภาพนิดหน่อยแบบพอรู้สึกตัวครับ

B&O EQ delay test

เสียงไมโครโฟน

B&O EQ นั้นมีไมโครโฟนข้างละ 3 ตัวรวมเป็น 6 ตัวนะครับ ซึ่งแต่ละข้างก็มีไมค์ Beamforming เพื่อรับเสียงพูดที่ปาก 1 อัน ส่วนอีก 2 อันใช้รับเสียงจากภายนอกมาหักล้างเพื่อตัดเสียงรบกวนทั้งเวลาฟังเพลงและเวลาพูดสายสนทนาครับ ซึ่งเวลาใช้ไมโครโฟนในห้องเงียบ ๆ เสียงไมค์ชัดเจนดีมากครับ ใช้งานไม่มีปัญหาเลย ส่วนถ้าใช้ในสถานที่ที่มีเสียงรบกวนเยอะ ๆ เป็นอย่างไร ลองฟังคลิปเสียงที่อัดจากมือถือกันครับ

เสียงบันทึกจาก B&O EQ ในสถานที่ที่มีเสียงรบกวน

ระหว่างที่คุยสาย เราสามารถแตะ 2 ครั้งที่หูฟังข้างซ้ายเพื่อเปลี่ยนโหมดตัดเสียงรบกวนได้นะครับ ซึ่งเราแนะนำให้ใช้โหมดดึงเสียงภายนอกหรือที่ B&O เรียกว่า Own Voice เพื่อให้การคุยเป็นธรรมชาติขึ้น ตัดเสียงรบกวนภายนอกได้ดีขึ้น เสียงพูดของเราที่ก้องในหัวจะน้อยลง (เป็นธรรมชาติของการใช้หูฟังแบบ In-ear คุยโทรศัพท์ครับ ที่เวลาพูดจะรู้สึกว่าเสียงก้อง) หรือจะใช้หูฟังแค่ข้างเดียวเพื่อคุยสายก็ได้ครับ เสียงก้องในหัวก็จะลดลง

อายุแบตเตอรี่

B&O EQ นั้นสามารถชาร์จได้ 2 วิธีครับ วิธีแรกเสียบชาร์จผ่านพอร์จ USB-C ด้านหลังเคส จะชาร์จเต็มใน 1 ชั่วโมง 40 นาที แต่ชาร์จเพียง 20 นาทีก็ใช้งานได้ 2 ชั่วโมงแล้ว ส่วนอีกวิธีหนึ่งคือชาร์จไร้สาย โดยด้านล่างของเคสจะเป็นพลาสติกเพื่อใช้ชาร์จไร้สายได้ ซึ่งใช้เวลาชาร์จจนเต็ม 1 ชั่วโมง 50 นาทีครับ

ส่วนอายุแบตเตอรี่ ถ้าเปิด ANC จะสามารถใช้งานต่อเนื่อง 6.5 ชั่วโมง ส่วนถ้าปิด ANC ก็จะใช้ได้ต่อเนื่อง 7.5 ชั่วโมง และเอาไปชาร์จผ่านเคสได้สูงสุดอีก 20 ชั่วโมงครับ

เทียบกับหูฟังรุ่นอื่นๆ

B&O EQ vs Devialet Gemini
  • เทียบกับ Devialet Gemini (ราคา 10,990 บาท)
    • เสียงต่างจาก B&O EQ แบบคนละโทน ในขณะที่เสียงของ EQ จะกลมๆ มนๆ ละมุนละไม แต่เสียงของ Gemini คือเบสหนักกว่า แรงปะทะมากกว่า แต่ยังมีรายละเอียดในเบส เสียงแหลมเป็นประกาย ปลายแหลมพุ่ง ซึ่งน่าจะแยกกลุ่มผู้ใช้จากลักษณะเสียงที่ต่างกันมากได้เลย
    • การตัดเสียงรบกวนและโหมดดึงเสียงภายนอก Gemini ทำได้ดีกว่า แอปเก่งกว่า
    • ตัวหูฟัง Gemini มีขนาดเล็กกว่า ใส่สบายกว่า แต่เคสใหญ่กว่า พกยากกว่า
    • ไมโครโฟน Gemini ดีกว่านิดหน่อย
  • เทียบกับ Sony WF-1000XM4 (8,990 บาท)
    • โทนเสียงใกล้เคียงกับ B&O EQ แต่ Sony WF-1000XM4 ให้เสียงที่หนากว่า โทนหนักกว่าเสียงของ B&O EQ ที่โปร่งกว่า
    • การตัดเสียงและดึงเสียงภายนอก Sony ทำได้ดีกว่า
    • แอปและระบบอัจฉริยะของ Sony คือดีที่สุดในตลาดแล้ว มีระบบปรับเสียงอัตโนมัติ ระบบเสียงรอบทิศทางในตัวหูฟัง
    • ตัวหูฟัง Sony มีขนาดใหญ่กว่า ทำให้ B&O EQ ใส่สบายกว่า ส่วนเคสของ Sony ใหญ่กว่านิดหน่อย
    • ไมโครโฟนพอๆ กับ B&O EQ
  • เทียบกับ Sennheiser Momentum True Wireless 2 (ราคา 11,990 บาท)
    • โทนเสียงใกล้เคียงกัน แต่ Sennheiser ให้เสียงโทนทึบ หนักแน่นกว่า B&O ที่ให้เสียงได้โปร่งสว่างกว่า
    • ระบบตัดเสียงภายนอกทำได้ดีพอๆ กัน แต่โหมดดึงเสียงภายนอก B&O ทำได้ดีกว่า
    • แอปของ Sennheiser เก่งกว่า ปรับแต่งได้เยอะกว่า
    • ตัวหูฟังมีขนาดพอๆ กัน ความรู้สึกในการสวมใส่ใกล้เคียงกัน ขนาดเคสใหญ่กว่านิดเดียว
    • ไมโครโฟนใกล้เคียงกับ B&O EQ

สรุป B&O Beoplay EQ คุ้มไหม

B&O EQ เปิดตัวด้วยราคา 15,900 บาท จึงจัดว่าเป็นหูฟังกลุ่มพรีเมี่ยมของตลาดเลยนะครับ ราคาสูงกว่าหูฟังจากแบรนด์เครื่องเสียงอย่าง Devialet หรือตัวท็อปของ Sony ไปหลายพัน ซึ่งถ้านับการออกแบบ คุณภาพวัสดุที่ดูดีกว่าคู่แข่ง รวมถึงคุณภาพเสียงที่ให้รายละเอียดได้ดี เป็นเสียงที่ฟังได้เพลิน ก็เหมาะสมกับตัวอยู่ครับ แต่จุดที่ยังต้องปรับปรุงอีกมาก ๆ คือเรื่องของเฟิร์มแวร์และแอปที่ความสามารถยังตามหลังคู่แข่งที่ราคาถูกกว่าอยู่เยอะ และเรื่องการตัดเสียงรบกวนภายนอกที่ยังไม่เด่นนัก ก็หวังว่าทาง B&O จะปรับปรุงผ่านการอัปเดตเฟิร์มแวร์ได้ต่อไปครับ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส