รีวิว FiiO M11 Plus ESS เครื่องเล่นเพลง Android รุ่นกลาง ความสามารถครบๆ
Our score
8.7

FiiO M11 Plus

จุดเด่น

  1. คุณภาพเสียงดีเยี่ยม ให้เสียงที่แตกต่างจากการฟังเพลงด้วยสมาร์ตโฟนชัดเจน แรงขับดี สามารถขับหูฟังใหญ่ได้
  2. หน้าจอขนาดใหญ่ ใช้งานได้เต็มตา
  3. มีช่องต่อหูฟังครบถ้วนทั้งแบบ Balanced 4.4 mm และ 2.5 mm พร้อมช่องหูฟังมาตรฐาน 3.5 mm
  4. ประสิทธิภาพเครื่องดี ใช้งานได้ไม่หน่วง ใช้ Android 10 แล้ว ทำให้รูปแบบการใช้งานทันสมัย
  5. เป็นได้ทั้งเครื่องเล่นเพลง, DAC ต่อคอมพิวเตอร์, ตัวรับ AirPlay, ตัวรับสัญญาณ์ Bluetooth

จุดสังเกต

  1. ขนาดใหญ่เทอะทะ น้ำหนักมากกว่าสมาร์ตโฟนเป็นเท่าตัว
  2. ถ้าเป็นไปได้ ไม่ควรฟังเพลงพร้อมเสียบชาร์จ เพราะเมื่อเสียบชาร์จจะมีเสียงฮัมเกิดขึ้นในหูฟังในบางกรณี
  3. ลงแอปที่ต้องใช้ความปลอดภัยสูงอย่าง Netflix ไม่ได้
  • ดีไซน์

    9.0

  • ขนาด-น้ำหนัก

    7.5

  • คุณภาพเสียง

    9.0

  • ความสามารถพิเศษ

    9.5

  • ความคุ้มค่า

    8.5

ในยุคที่สมาร์ตโฟนทำได้ทุกอย่างแบบนี้ ตลาดเครื่องเล่นเพลงพกพาหรือ Digital Audio Player (DAP) ก็เป็นตลาดเฉพาะกลุ่มสำหรับคนรักเสียงดนตรีที่ต้องการเครื่องเล่นเพลงที่ให้รายละเอียดสูงกว่าสมาร์ตโฟนหรือคอมพิวเตอร์ทั่วไปจะให้ได้ ซึ่ง FiiO M11 Plus รุ่นใช้ชิป ESS ที่เราจะรีวิวในวันนี้ก็ถือว่าเป็นเครื่องเล่นเพลงในระบบ Android สารพัดประโยชน์ที่ลงแอปจาก Google Play เพื่อใช้งานอื่นๆ ได้ด้วย

ที่มาของ FiiO M11 Plus ESS

FiiO M11 Plus ESS
FiiO M11 Plus ESS

ที่เครื่องเล่นเพลงรุ่นนี้ต้องมีรหัส ESS ตามท้ายเพราะ FiiO M11 Plus มีออกมาก่อนหน้านี้แล้ว 1 รุ่นคือ FiiO M11 Plus LTD เครื่องรุ่นแรกที่ออกเมื่อปี 2021 โดยใช้ชิป DAC (Digital to Analog Converter) AK4497EN 2 ตัว ซึ่งเป็นของบริษัท Asahi Kasei Microsystem (AKM) แต่ชิปตัวนี้มีจำนวนจำกัดเพราะโรงงานผลิตชิปของ AKM ในญี่ปุ่นไฟไหม้ไปเมื่อเดือนตุลาคม 2020 ทำให้ผลิต M11 Plus ที่ออกแบบไว้แล้วได้จำนวนจำกัดตามชิปที่มี จึงลงท้ายรหัสว่า LTD คือเป็นรุ่น Limited นั้นเอง ซึ่งปัจจุบันน่าจะขายหมดไปแล้ว เหลือแต่เครื่องรุ่นพิเศษที่ใช้บอดี้เป็นสแตนเลสที่ยังมีขายอยู่

FiiO จึงเอา M11 Plus กลับมาออกแบบใหม่อีกรอบโดยเปลี่ยนชิป DAC เป็น ES9068AS 2 ตัวของบริษัท ESS Technology จากอเมริกาแทน และขายในชื่อ FiiO M11 Plus ครับ ส่วน ESS เราเขียนเพื่อให้เข้าใจว่าเป็นรุ่นใหม่ที่ใช้ชิป ESS นั้นเอง

ซึ่งรายละเอียดเชิงเทคนิคของ FiiO M11 Plus กับ FiiO M11 Plus LTD นั้นแตกต่างกันอยู่นิดหน่อย ดูละเอียดได้ตามตารางนี้ครับ ส่วนเราสรุปสั้น ๆ มาให้ดังนี้ครับ

FiiO M11 PlusFiiO M11 Plus LTD
ชิป DACES9068AS×2AK4497EQ×2
การตอบสนองความถี่ช่อง 3.5 mm โหมด Headphone20Hz~20kHz (-1dB)20Hz~80 kHz (-3dB)
SNR ของช่อง 3.5 mm≥122dB≥120dB
การตอบสนองความถี่ช่อง 2.5 mm และ 4.4 mm20Hz~80kHz (-1dB)20Hz~92kHz (-5dB)
SNR ของช่อง 2.5 mm และ 4.4 mm≥126dB≥120.5dB
อายุแบตเตอรี่14 ชั่วโมง11.5 ชั่วโมง
น้ำหนัก295 กรัม310 กรัม / 405 กรัมในรุ่นสแตนเลส

ดีไซน์ของ FiiO M11 Plus

ขนาด FiiO M11 Plus ที่ใส่เคสในมือ
ขนาด FiiO M11 Plus ที่ใส่เคสในมือ

ถ้ามองในมุมผู้ใช้สมาร์ตโฟนแล้ว FiiO M11 Plus ถือเป็นอุปกรณ์พกพาที่ใหญ่และหนักเลยนะครับ แม้ว่าขนาดเครื่องจะไม่ต่างจาก iPhone 13 เท่าไหร่ด้วยขนาด 136.6 x 75.7 mm (ส่วน iPhone 13 คือ 146.7 x 71.5 mm) แต่ด้วยความหนาถึง 17.6 mm หนากว่า iPhone 13 ถึง 1 cm แล้วน้ำหนัก 295 กรัม ก็หนักกว่า iPhone 13 ที่หนัก 174 กรัมอยู่พอสมควร ก็ทำให้คนที่ไม่คุ้นเคยกับ DAP มาก่อนก็อาจจะรู้สึกว่ามันดูเทอะทะจัง

แต่ถ้าเทียบกับเครื่องเล่นเพลงเกรดดีทั่วไปแล้ว M11 Plus จัดว่าไม่ใหญ่และไม่หนักเกินไปครับ ยังมีใหญ่และหนักกว่านี้อีก

จุดเด่นของดีไซน์ FiiO M11 Plus อยู่ที่หน้าจอ 5.5 นิ้ว สัดส่วน 18:9 ความละเอียด 720p ครับ ซึ่งปกติ DAP จะไม่มีจอที่ใหญ่เต็มหน้าเครื่องขนาดนี้ คงเพราะคนฟังเพลงก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับหน้าจอมากนัก ทำให้ความรู้สึกในการใช้ M11 Plus นั้นใกล้เคียงกับการใช้สมาร์ตโฟนทั่วไป ซึ่งหน้าจอนี้ก็ให้สีสันได้ดี แต่ไม่ได้สดใสแบบที่จอสมาร์ตโฟนทำได้ และไม่มีเซนเซอร์ปรับเพิ่ม-ลดแสงหน้าจออัตโนมัติครับ ต้องเลื่อนปรับเอาเอง นอกจากนี้จอนี้ยังติดกระจกกันรอยมาให้เรียบร้อยแล้วด้วย

ฝาหลังของเครื่องก็เป็นกระจกที่ทำลวดลายเป็นโพลีกอน สะท้อนแสงสวยงาม ส่วนด้านข้างเครื่องก็เต็มไปด้วยปุ่มสำหรับการฟังเพลง ซึ่งดีไซน์ปุ่มเป็น 6 เหลี่ยมแบบรังผึ้ง เรียงลำดับจากบนลงล่างดังนี้

ปุ่มด้านซ้ายของ FiiO M11 Plus
ปุ่มด้านซ้ายของ FiiO M11 Plus

ฝั่งซ้าย

  • ปุ่มเปิด-ปิด ล็อกจอ
  • ปุ่มปรับระดับเสียงดีไซน์คาร์บอนไฟเบอร์
  • ปุ่มฟังก์ชันพิเศษ

ฝั่งขวา

  • ปุ่มย้อนกลับ
  • ปุ่มเล่น-หยุดเพลง
  • ปุ่มถัดไป
  • สวิตซ์เลื่อนล็อกปุ่ม

ดีไซน์แปลกที่สุดคือปุ่มปรับระดับเสียงครับ เพราะเราสามารถกดเพิ่มลดเสียงตามปกติเหมือนมือถือทั่วไปก็ได้ หรือจะแตะค้างแล้วลากขึ้นลงเพื่อปรับระดับเสียงก็ได้ ซึ่งจะมีเสียงตึด ๆ เวลาลาก ให้อารมณ์เหมือน Click Wheel บน iPod สมัยก่อน ซึ่งถ้าใช้แล้วไม่ชอบ มันลั่นง่ายไป ก็สามารถปรับ Setting ให้ต้องแตะ 2 ครั้งก่อนถึงจะลากปรับระดับเสียงก็ได้ครับ

ซึ่ง FiiO M11 Plus สามารถใส่ MicroSD ได้ 1 ใบ เพิ่มได้สูงสุด 2 TB ซึ่งก็เป็นเรื่องจำเป็นของนักฟังเพลง ที่ไฟล์เพลง Hi-Res ใหญ่ ๆ หนัก ๆ กันทั้งนั้น

พอร์ตด้านล่างของ FiiO M11 Plus
พอร์ตด้านล่างของ FiiO M11 Plus

ด้านล่างประกอบด้วยช่องสัญญาณเสียงแบบ Balanced 4.4 mm ที่ต่อหูฟังและ Line-Out ได้และช่องหูฟัง 2.5 mm นอกจากนี้ก็มีมีช่องสัญญาณเสียง 3.5 mm Unbalanced ที่เป็นได้ทั้งช่องหูฟัง / Line-out / Coaxial Out ได้ด้วย

ส่วนช่อง USB-C ที่ท้ายเครื่อง ก็สามารถใช้โอนเพลงเข้าเครื่อง ต่อกับอุปกรณ์อื่นๆ เพื่อเปลี่ยน M11 Plus ให้กลายเป็น USB-DAC หรือชาร์จเครื่องได้ โดยรองรับมาตรฐานการชาร์จไว Quick Charge 2.0/3.0 และ Mediatek PE สูงสุด 27 Watt แต่ในกล่องไม่มีหัวชาร์จแถมมาให้นะครับ ต้องหาหัวชาร์จมือถือมาใช้เอง

นอกจากตัวเครื่ิองแล้ว ในกล่องของ FiiO M11 Plus ประกอบด้วยเคสหนัง สายชาร์จ USB-C และสายแปลง 3.5 mm เป็น Coaxial ครับ

ของในกล่อง FiiO M11 Plus
ของในกล่อง FiiO M11 Plus

สเปกเครื่อง

FiiO M11 Plus นั้นใช้ Qualcomm Snapdragon 660 พร้อม RAM 4 GB และพื้นที่ในเครื่อง 64 GB ก็ถือว่าเป็นสเปกที่จัดจ้านสำหรับ DAP เลย ทำให้การใช้งานลื่นไหลมากเมื่อเทียบกับ DAP รุ่นอื่น ๆ ที่มักจะมีสเปกต่ำกว่านี้ นอกจากนี้ยังใช้งาน Android 10 แล้วด้วย ทำให้มี Dark mode และสามารถปิดปุ่มควบคุม 3 ปุ่มด้านล่าง มาใช้การสั่งงานแบบลากจากขอบจอล่างขึ้นบนเพื่อกลับหน้าโฮม หรือปัดจากขอบจอซ้าย-ขวาเพื่อแทนปุ่ม Back ได้เหมือนมือถือยุคใหม่ครับ

ส่วนแบตเตอรี่จัดมาเต็มมากที่ 6,000 mAh คือเปิดเครื่อง Stand-by ทิ้งไว้ได้หลายวันเลย และฟังเพลงต่อเนื่องได้ราว ๆ 14 ชั่วโมงครับ

ส่วนสเปกด้านเสียงก็จัดมาอลังการสมเป็น DAP ระดับกลาง คือมีชิป DAC 2 ตัวคือ ES9068AS แล้วยังมีภาค AMP จาก THX รุ่น AAA-78 มาให้อีก 2 ชุด รวมๆ แล้วทำให้รองรับไฟล์เพลง DSD512 ได้ รองรับเสียง PCM ได้ถึงระดับ 768 kHz (ปกติเสียงจาก CD คือ 44.1 kHz) พร้อม NDK Femtosecond ชิปคุมสัญญาณนาฬิกาอีก 2 ตัว สำหรับความถี่การสุ่มสัญญาณกลุ่มความถี่ 44,100 Hz และความถี่ 48,000 Hz เพื่อไม่ให้การถอดรหัสเสียงผิดเพี้ยน

FiiO M11 Plus สามารถปรับ Gain ได้ 3 ระดับคือ Low-Mid-High ซึ่ง Low นี่คือต่ำจริง ๆ นะครับ สำหรับหูฟังแบบ In-Ear ตัวเล็ก ๆ ที่ไม่ต้องใช้แรงขับเยอะ ส่วนระดับ High ให้กำลังสูงสุดบนช่องต่อ 2.5 / 4.4 mm ที่ 400mW @16ohm / 660mW @32ohm / 90mW @300ohm ซึ่งก็มากพอจะขับหูฟังตัวใหญ่ ๆ ขับยาก ๆ ได้ส่วนใหญ่เลย

5 โหมดการทำงานของ FiiO M11 Plus

ใช้งาน FiiO M11 Plus ในโหมด AirPlay ร่วมกับ iPhone
ใช้งาน FiiO M11 Plus ในโหมด AirPlay ร่วมกับ iPhone

FiiO M11 Plus เป็นเครื่องฟังเพลงสารพัดประโยชน์ครับ สามารถใช้งานได้ 5 แบบดังนี้

  1. Android Mode โหมดนี้ใช้งานเหมือนมือถือเลยครับ ลงแอปได้ ใช้งานแอปฟังเพลงอย่าง Spotify, Tidal, Apple Music และอื่น ๆ ได้ ดู Youtube ได้ แต่ลง Netflix ไม่ได้นะครับ ใครอยากใช้จอใหญ่ ๆ ฟังคอนเสิร์ตใน Netflix ต้องเสียใจด้วย
  2. Pure Music Mode เป็นโหมดที่ตัดความสามารถแอปภายนอกออก เหลือใช้แค่แอปเล่นเพลงของ FiiO เองเท่านั้น ก็เหมาะสำหรับคนที่เน้นฟังเพลงที่เก็บในเครื่อง ไม่ได้ฟังเพลงออนไลน์ครับ
  3. AirPlay คือเปลี่ยน M11 Plus ให้เป็นตัวรับสัญญาณเพลงแบบ Lossless ผ่าน AirPlay ของอุปกรณ์แอปเปิ้ลเพื่อต่อออกหูฟังหรือลำโพงผ่านสาย ให้เสียงเทพกว่าฟังบน iPhone/iPad/Mac ตรงๆ ซึ่งการใช้ AirPlay จะให้คุณภาพเสียงดีกว่าส่งผ่าน Bluetooth แต่ต้องอยู่ในวง Wifi เดียวกัน แล้วก็ใช้ได้เมื่อตัวส่งเป็นอุปกรณ์แอปเปิ้ลเท่านั้น
  4. USB DAC Mode สำหรับการต่อ M11 Plus ผ่านสาย USB-C เข้ากับคอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟนหรืออุปกรณ์อื่นๆ เพื่อเปลี่ยน M11 Plus ให้กลายเป็นซาวน์การ์ดให้เสียงจากอุปกรณ์ของเราดีขึ้น
  5. Bluetooth Receiving Mode คล้ายๆ โหมด AirPlay แต่เปลี่ยนจากการทำงานบน Wifi มาใช้ Bluetooth แทน โดยรองรับ Codec เป็น SBC / AAC / LDAC ซึ่ง LDAC จะให้เสียงได้ใกล้เคียงกับ Lossless
    1. ส่วนถ้าเราใช้ M11 Plus เป็นตัวส่งสัญญาณ Bluetooth ไปที่หูฟังหรือลำโพง จะใช้ Codec ได้ 5 ตัวคือ SBC / AAC / APT-X / APT-X HD / LDAC

คุณภาพเสียง

ต่อสัญญาณเสียงจากคอมพิวเตอร์ผ่าน USB-C ในโหมด DAC ที่รองรับ MQA ด้วย
ต่อสัญญาณเสียงจากคอมพิวเตอร์ผ่าน USB-C ในโหมด DAC ที่รองรับ MQA ด้วย

มาถึงประเด็นสำคัญอย่างคุณภาพเสียงของ FiiO M11 Plus กันบ้างครับ เอาสั้น ๆ เลยคือเสียงดีตามที่จะคาดหวังได้จากเครื่องเล่นเพลงจริงจังที่ราคาระดับนี้ครับ โดยเราทดสอบการฟังทั้งหมดกับหูฟัง Sennheiser IE900 ด้วยสาย Balanced 4.4 mm นะครับ

เสียงของ FiiO M11 Plus นั้นเป็นระเบียบนะครับ เสียงแต่ละย่านไม่กวนกัน เสียงสูงให้รายละเอียดดีวิบวับ ถ้าฟังดี ๆ จะจับผิดรายละเอียดของเพลงที่บันทึกมาไม่ดี หรือคุณภาพไฟล์ไม่ดีได้เลย ส่วนเสียงกลางก็ได้ยินเสียงร้องที่ใสกระจ่าง แยกความแตกต่างของเสียงได้เป็นชั้นๆ ให้เสียงได้เป็นธรรมชาติ เสียงเบสก็หนักแน่น และคงรายละเอียดได้ ไม่นัวไม่มัว ฟังแล้วสนุกครับ

ซึ่งเราสามารถเปิดตัวเลข Sampling Rate ขึ้นที่ Status Bar ของเครื่องได้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าระบบรับรู้ว่ากำลังเล่นเพลงที่ความละเอียดเท่าไหร่ ซึ่งการใช้ Tidal แบบ Master ก็แสดงตัวเลขได้ถึง 96 kHz ตามที่ไฟล์ MQA ใน Tidal Master จะถอดรหัสขั้นพื้นฐานได้ ส่วนถ้าทดสอบกับ roon จะเห็น Signal Path มีการแปลงกลับลงมาที่ 48 kHz เพราะเป็นการเล่นเพลงผ่าน AAudio ระบบมิกซ์เสียงของ android ซึ่งก็ไม่ได้ให้สัญญาณในลักษณะ bit-perfect และ FiiO M11 Plus ก็ไม่ได้รับรอง roon ready มา

ในรูปด้านล่างจากซ้ายไปขวา

  1. การเล่นไฟล์ FLAC ปกติ แสดงความละเอียดเพลงบน Status Bar เป็น 44.1 kHz ปกติ
  2. การเล่นไฟล์ Master จาก Tidal ที่เป็น MQA ก็แสดงความละเอียดเพลงเป็น 96 kHz
  3. การเล่นเพลงผ่านแอป roon สัญญาณจะถูกดรอปลงมาที่ 48 kHz

นอกจากนี้ยังมีโหมดพิเศษ All to DSD เพื่อแปลงสัญญาณเสียงปกติแบบ PCM เป็น DSD ด้วย ซึ่ง FiiO บอกว่าจะทำให้คุณภาพเสียงดีขึ้นไปอีก แต่จะกินแบตเตอรี่เพิ่มอีกครับ ถ้าได้เครื่องไปก็ลองฟังดูได้ครับ ว่าควรเปิดไหมสำหรับหูของเรา

ส่วนความร้อนระหว่างการใช้งาน ก็เกิดขึ้นบ้างเล็กน้อย โดยเฉพาะเมื่อเล่นเพลงความละเอียดสูงครับ นอกจากนี้การเสียบสายชาร์จพร้อมการฟังเพลง อาจทำให้เกิดเสียงฮัมขึ้นมาที่หูฟังได้ แต่เสียงฮัมนี้จะหายไปเมื่อเริ่มเล่นเพลง หรือเสียบเข้ากับคอมพิวเตอร์แล้วเปิดโหมด DAC ก็เอาเป็นว่าถ้าเป็นไปได้ก็ไม่ควรเล่นเพลงพร้อมเสียบชาร์จ เพื่อให้สัญญาณออกมาสะอาดที่สุด

สรุปความคุ้มค่า

FiiO M11 Plus ESS
FiiO M11 Plus ESS

FiiO M11 Plus ESS ตั้งราคาขายในไทยไว้ที่ 22,900 บาท ซึ่งเป็นราคาระดับกลางของกลุ่มเครื่องเล่นเพลงโดยเฉพาะนะครับ ซึ่งราคานี้ได้เครื่องเล่นเพลงที่มีจอใหญ่ พร้อมการเชื่อมต่อหูฟังครบๆ ทั้ง 3 รูปแบบ แถมใช้เป็น DAC ต่อคอมพิวเตอร์ก็ได้ รับ AirPlay, Bluetooth ได้ ก็ถือว่าคุ้มครับ แต่จุดที่อาจจะต้องคิดหน่อยคือขนาดและน้ำหนักครับ ซึ่งถ้าเราพร้อมจะพกพาเครื่องเล่นเพลงไซส์ใหญ่กว่ามือถือ ก็รับรองได้ว่าจะได้ประสบการณ์ทางดนตรีที่เหนือกว่าสมาร์ตโฟนแน่นอนครับ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส