เปิดตัว TikTok Safety Day ที่ Creator House by TikTok เพื่อตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นในการเป็นแพลตฟอร์มที่มอบความสุขและส่งเสริมสภาพแวดล้อมเชิงบวก หวังให้ผู้ใช้แสดงออกทางความคิดสร้างสรรค์ในพื้นที่ปลอดภัยบนโลกดิจิทัล ได้รับเกียรติจาก ดร.เวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มาร่วมเป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยพันธมิตรจาก กรมสุขภาพจิต, มูลนิธิอินเตอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย(iNET), CoFact, และแอปพลิเคชัน Sati

TikTok ให้ความสำคัญด้านความปลอดภัย 3 ประการ ได้แก่

1. การต่อต้านข้อมูลที่บิดเบือนไม่เป็นความจริง (Anti-Misinformation)

เพื่อปกป้องและต่อต้านข้อมูลเท็จ เดิมที TikTok จะมีระบบอัตโนมัติในการตรวจจับอยู่แล้ว แต่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ล่าสุดได้มีการทุ่มเทใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยกว่า 40,000 คนทำงานร่วมกับระบบเดิมที่มี

พร้อมกันนี้ยังมีระบบ “Self Report” ผู้ใช้งานสามารถรายงานการหลอกลวงหรือกิจกรรมที่ต้องสงสัยว่าเป็นการฉ้อโกงโดยทันที โดยเลือกเป็น “การฉ้อโกงและการหลอกลวง” ช่วยให้ทีมรักษาความปลอดภัยของแพลตฟอร์มสามารถตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งรายงานแต่ละฉบับได้รับการตรวจสอบอย่างละเอียดและจะถูกดำเนินการตามความเหมาะสมตามข้อเท็จจริงที่ค้นพบ

โดยการจัดการจะแบ่งเป็น 3 ระดับ
  1. ระงับคอนเทนต์ไม่ให้ขึ้นหน้าฟีด
  2. หากตรวจพบว่าผิดจริงจะลบคอนเทนต์นั้น
  3. หากผิดซ้ำโดยตั้งใจจะแบนบัญชี

รวมทั้งได้ร่วมมือกับพันธมิตรระดับโลกมากกว่า 15 รายเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมถึง Agence France-Presse สำนักข่าวชื่อดังระดับโลก และ COFACT ในประเทศไทย เพื่อต่อต้านข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง

2. ความปลอดภัยของผู้เยาว์ (Minor Safety)

ในภาพใหญ่ TikTok จัดตั้ง Youth Consultation ในชื่อ TikTok Safety Advisory Councils (SAC) ภายใต้ความร่วมมือกับ iNet และสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยเพื่อรับฟังประสบการณ์ของผู้ใช้แพลตฟอร์มโดยตรง พร้อมดึงกลุ่มวัยรุ่นให้เข้ามามีส่วนร่วมและพัฒนาฟีเจอร์ต่าง ๆ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ตอบโจทย์ความปลอดภัยในวัยเดียวกันจริง ๆ

ในส่วนของการใช้งาน TikTok รับฟังความคิดเห็นของผู้ปกครองอย่างจริงจัง นำไปสู่การพัฒนาเครื่องมือบนแพลตฟอร์ม Family Pairing ซึ่งช่วยให้ผู้ปกครองปรับแต่งตัวกรองเนื้อหาสำหรับบุตรหลานของตนเองได้, Content Level ฟีเจอร์ที่ช่วยคัดกรองความเหมาะสมของเนื้อหาสำหรับเด็กอายุ 13 ถึง 17 ปีโดยเฉพาะ และ Refresh Your For You Feed ที่ช่วยให้คุณปรับแต่งฟีดเนื้อหาตามความสนใจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยไม่ต้องลบบัญชีเดิม แค่รีเฟรชมันใหม่

3. สุขภาวะดิจิทัลและการให้ความรู้ทางด้านดิจิทัล (Digital Wellbeing and Digital Literacy) 

TikTok มีสิ่งที่เรียกว่า  Digital Literacy Hub ทำหน้าที่เป็นแหล่งข้อมูลที่ครอบคลุมสำหรับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ ศูนย์ข้อมูลนี้จะให้ข้อมูลเชิงลึกที่รวมถึงกรณีศึกษาที่มุ่งเน้นด้านสุขภาพจิตและสุขภาพทางไซเบอร์ พร้อมคำแนะนำเชิงปฏิบัติเพื่อรับมือกับความกังวลในโลกออนไลน์และพฤติกรรมหลอกลวงต่าง ๆ ช่วยเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับความปลอดภัยและความฉลาดทางดิจิทัลผ่านโมดูลการเรียนรู้เชิงตอบโต้ คอลเล็กชันวิดีโอ และแบบทดสอบ

สิริประภา วีระไชยสิงห์ Outreach and Partnerships Lead, TikTok, Trust and Safety กล่าวว่า “เราทำงานบนพื้นฐานความเชื่อว่าความปลอดภัยและความถูกต้องไม่ได้เป็นเพียงฟีเจอร์หนึ่งในแพลตฟอร์ม แต่เป็นรากฐานสำคัญของการส่งมอบประสบการณ์การใช้ TikTok อย่างมีคุณภาพให้แก่ผู้ใช้ทุกคน ดังนั้นการใช้นโยบายความปลอดภัย การร่วมมือกับพันธมิตร และการริเริ่มกิจกรรมออนไลน์ต่างๆ ในแคมเปญ Trust จึงนับเป็นส่วนสำคัญในความพยายามอย่างต่อเนื่องของ TikTok ที่จะสร้างความปลอดภัยบนแพลตฟอร์มให้กับทุกคนในคอมมูนิตี้ และให้ผู้ใช้สามารถเพลิดเพลินกับ TikTok ได้อย่างมั่นใจ”

แต่สุดท้ายนี้ สังคมคือคนที่ประกอบรวมกัน ถ้าผู้ใช้งานเจอคอนเทนต์อะไรที่ไม่เหมาะสม กด Self Report ด้วยตัวเองได้เลยเพื่อช่วยให้ทีมตรวจสอบได้พบเจอคอนเทนต์อันตรายได้เร็วขึ้น!

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส