บรรดาพนักงานสอบสวนของสำนักงานตำรวจในเมืองวอร์เนอร์ ร็อบบินส์ รัฐจอร์เจีย ของสหรัฐอเมริกา เริ่มหันมาใช้ AI ในการไขคดียาก ๆ แล้ว

เครื่องมือ AI ที่ว่านี้มีชื่อว่า Cybercheck ซึ่งมีความสามารถในการค้นหาอินเทอร์เน็ต ‘ในทุก ๆ ชั้น’ เพื่อช่วยไขคดีอาชญากรรม โดยตัวซอฟต์แวร์นี้สามารถนำไปใช้ในการไขได้หลากหลายคดี แต่สำหรับในเมืองวอร์เนอร์ ร็อบบินส์ จะเน้นไปที่การไขคดีเก่า ๆ ที่ปิดไม่ลง

Cybercheck อ้างว่าประสบความสำเร็จแล้วในหลายรัฐ อย่าง ฟลอริดา นอร์ตแคโรไลนา และแคลิฟอร์เนีย โดยได้ช่วยไขคดีฆาตกรรม 209 คดี คดีฆาตกรรมหรือคดีคนหายที่ปิดไม่ลง 107 คดี สื่อลามกเด็ก 88 คดี และคดีค้ามนุษย์ 37 คดี

รูปแบบการทำงานก็คือ Cybercheck จะขอข้อมูลพิกัดทางภูมิศาสตร์ หรือชื่อ วันเกิด และเบอร์ติดต่อเพื่อเริ่มค้นหาบนโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นข้อมูลที่เจ้าหน้าที่ชี้ว่าไม่ต้องขอหมาย

Cybercheck จะช่วยในการค้นหาข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับผู้ต้องสงสัยหรือตัวเหยื่อ โดยจะช่วยในการรวบรวมและประกอบร่างตัวตนจากข้อมูลบนโลกออนไลน์ ด้วยการค้นหาความสัมพันธ์ ความเกี่ยงโยงกับองค์กรต่าง ๆ คอมเมนต์บนโลกโซเชียล วิดีโอ ภาพ ลิงก์ ที่อยู่ Bitcoin สถานที่ทำงาน และที่อยู่ IP

เจ้าหน้าที่ยังสามารถใช้ Cybercheck ในการระบุพิกัดสถานที่อยู่โดยใช้กล้อง WIFI เราเตอร์ หรือโทรศัพท์ของบุคคลต่าง ๆ ข้อมูลเหล่านี้จะกลายเป็นโปรไฟล์บนโลกไซเบอร์ ที่ Cybercheck เรียกว่า CyberDNA

บริษัทอ้างว่าเครื่องมือนี้ใช้อัลกอริทึม Machine Learning ที่ซับซ้อนในการวิเคราะห์ข้อมูลมหาศาล ที่รวมถึงคำให้การของพยาน หลักฐานนิติวิทยาศาสตร์ สัญญาณมือถือ และข้อมูลอื่น ๆ

เจ้าหน้าที่ของวอร์เนอร์ ร็อบบินส์ ชี้ว่า Cybercheck ใช้งานได้ง่ายมาก สิ่งที่ต้องทำก็เพียงแค่ป้อนข้อมูลคดีเข้าไป ตัวซอฟต์แวร์จะไปคำนวณเอง โดยอาจใช้เวลามากถึงหลักหลายเดือน โดยเจ้าหน้าที่ก็จะนำไปใช้เฉพาะกับคดีที่ถึงทางตันเท่านั้น