การส่งยานอวกาศไปลงจอดบนดวงจันทร์เป็นสิ่งที่ท้าทายและมีแค่ 5 ประเทศในโลกที่ทำได้สำเร็จ ได้แก่ สหภาพโซเวียต (ปัจจุบันคือรัสเซีย), สหรัฐฯ, จีน, อินเดีย และญี่ปุ่น ปัญหาเกิดจากไม่มีระบบนำทางช่วยระบุตำแหน่งที่แน่นอนอย่างเรียลไทม์เหมือนระบบ GPS บนโลก ซึ่งต้องส่งข้อมูลมาคำนวณและรับสัญญาณควบคุมจากโลก ดังนั้นการสื่อสารข้อมูลด้วยระยะทางที่ไกลและมีความหน่วง จึงส่งผลให้การลงจอดห่างจากเป้าหมายและตกกระแทกพื้น ด้วยเหตุนี้ล่าสุด GMV บริษัทเทคโนโลยีของสเปนได้เปิดตัวระบบนำทางบนดวงจันทร์ที่คล้ายกับ GPS บนโลก ซึ่งจะช่วยให้ยานสำรวจและนักบินอวกาศเดินทางไปดวงจันทร์ได้ดีขึ้น
GMV ได้นำเสนอระบบนำทางบนดวงจันทร์ที่คล้ายกับ GPS บนโลก และจะมาพร้อมด้วยแผนที่คล้าย Google Maps ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการวิจัยในโครงการ LUPIN (Enabling High-Performance PNT in the Lunar Environment) ที่ทำงานร่วมกับสำนักงานอวกาศยุโรป (ESA) โดยได้ทำการทดสอบภาคสนามบนเกาะฟูเอร์เตเบนตูราของสเปน ที่มีความคล้ายคลึงกับพื้นผิวบนดวงจันทร์ไปเมื่อ 27 เมษายน – 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีเป้าหมายสร้างระบบระบุตำแหน่ง การนำทาง และการกำหนดเวลา (PNT) ใหม่ เพื่อรองรับการสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การทำเหมือง การท่องเที่ยว และขยายไปสู่การสำรวจดาวอังคารในอนาคต
ยานอวกาศที่เดินทางกลับจากอวกาศเข้ามายังโลกผ่านชั้นบรรยากาศ จะใช้ร่มชูชีพช่วยชะลอความเร็ว จึงสามารถลงจอดได้อย่างนิ่มนวล แต่บนดวงจันทร์ไม่มีชั้นบรรยากาศจึงต้องใช้เครื่องยนต์จรวดช่วยขับดันเพื่อชะลอความเร็วในการลงจอด นอกจากนี้บนดวงจันทร์ไม่มีระบบนำทาง GPS จึงต้องใช้เซนเซอร์ที่อยู่บนตัวยานส่งข้อมูลพิกัดและภาพภูมิประเทศพื้นที่เป้าหมายกลับมายังโลก เพื่อประมวลผลเปรียบเทียบกับแผนที่บนดวงจันทร์ที่เคยจัดทำไว้ จากนั้นจึงส่งสัญญาณควบคุมการลงจอดกลับไปที่ยาน แต่ด้วยระยะทางที่ห่างไกลทำให้การสื่อสารมีความหน่วง รวมทั้งพื้นผิวบนดวงจันทร์มีหลุมอุกกาบาตใหม่ที่ไม่อัปเดต และมีฝุ่นที่อาจรบกวนเซนเซอร์
นอกจากนี้บนดวงจันทร์มีโซนพื้นที่ที่การสื่อสารจากโลกไม่สามารถเข้าถึง เช่น ขั้วใต้ที่มีหลุมลึก สัญญาณที่ส่งไปจากโลกหรือดาวเทียมอาจถูกบดบัง ดังนั้นยานที่จะลงจอดควรพึ่งพาการนำทางอัตโนมัติ ซึ่งระบบ LUPIN จะสร้างระบบนำทางคล้ายกับ GPS โดยใช้กลุ่มดาวเทียมที่โคจรรอบดวงจันทร์ รวมทั้งใช้ข้อมูลจากเซนเซอร์ที่ติดตั้งบนตัวยาน เช่น LIDAR และกล้อง ช่วยระบุตำแหน่งและตรวจจับสิ่งกีดขวาง จึงสามารถวางแผนเส้นทางได้เองโดยไม่ต้องติดต่อกับโลกหรือดาวเทียมตลอดเวลา