สำนักข่าวของจีนรายงานการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ครั้งใหม่ของนักวิทยาศาสตร์ ดร.หวัง กวางเฉียน หัวหน้าทีมวิจัยภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ด้านพลังงานน้ำจากมหาวิทยาลัยชิงหัวในกรุงปักกิ่ง ประสบความสำเร็จในการค้นพบวิถีสร้างฝนเทียมได้จากคลื่นความถี่ต่ำ หลังจากเขาทดลองเรื่องนี้มาตั้งแต่ปีที่แล้ว ในบริเวณเขตพื้นที่ราบสูงทิเบตที่มีความแห้งแล้งมาก ด้วยการปล่อยคลื่นเสียงความถี่ต่ำผ่านลำโพงขนาดใหญ่ หันขึ้นสู่ท้องฟ้า และก็พบว่าหลังจากที่ทดลองปล่อยคลื่นเสียงขึ้นสู่ท้องฟ้านั้น ได้เกิดฝนตกในพื้นที่เพิ่มขึ้นกว่าเดิมถึง 17%

ดร.หวัง อธิบายว่า คลื่นเสียงความถี่ต่ำทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของก้อนเมฆบนฟ้าได้ และจะทำให้มีโอกาสที่ฝนจะตกได้มากขึ้น โดยปฏิกิริยาของก้อนเมฆจะสัมพันธ์กับคลื่นความถี่ต่ำมากน้อยแค่ไหน เขายังต้องศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมต่อไป และการทดสอบนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น การใช้คลื่นความถี่ต่ำ “เรียกฝน” มีข้อดีหลายอย่าง ทั้งประหยัดค่าน้ำมันเครื่องบินที่ต้องบินไปสำรวจก้อนเมฆและฉีดสารเคมีบนอากาศและยังก่อให้มลภาวะจากน้ำมันเครื่องบิน เทียบกับใช้คลื่นเสียงที่จะไม่ทิ้งมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม แถมมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำมาก

แต่ขณะเดียวกันก็มีนักวิทยาศาสตร์ชี้ให้เห็นข้อมูลอีกด้านด้วยว่า มลภาวะทางเสียงก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน เพราะการทดสอบของ ดร.หวังนั้น แม้จะใช้คลื่นความถี่ระดับ 50 เฮิร์ตซ์ แต่ก็เป็นการใช้ด้วยความดังระดับ 160 เดซิเบล เพื่อส่งสัญญาณคลื่นขึ้นสู่ฟ้า ที่เทียบแล้วก็เป็นเสียงที่ดังพอ ๆ กับเครื่องบินเจท เลยทีเดียว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทั้งคนและสัตว์ที่อยู่ในบริเวณนั้น หากต้องได้ยินเสียงดังในระดับนี้ยาวนาน และผลลัพธ์ที่ได้ ก็ยังไม่อาจสรุปได้อย่างแน่ชัด 100% ว่าคลื่นเสียงจะมีผลต่อปริมาณน้ำฝนจริงจนกว่าจะทดสอบในหลาย ๆ พื้นที่และเก็บข้อมูลต่อไปก่อน

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส